เมื่อพูดถึงคุณหมออายุรกรรม คุณหมอหู ตา จมูก หรือคุณหมอผ่าตัด คงมีหลายคนที่เคยได้ยินและรู้จักกันอยู่บ้าง แต่เมื่อพูดถึงกลุ่มคนที่เน้นดูแลช่วยเหลือผู้คนทางด้านจิตใจก็อาจจะนึกไม่ออก อาจจะนึกออกแค่จิตแพทย์และนักจิตวิทยา วันนี้อูก้าจะมาแนะนำกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานกับหัวใจคนกันค่ะ ว่าพวกเขาเป็นใครและสามารถทำอะไรได้บ้าง ไปดูกันเลย

ทั้งสองอาชีพถูกฝึกมาให้สามารถทำจิตบำบัด หรือการพูดคุย ให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาจิตใจของผู้รับบริการได้ สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ

— จิตแพทย์ —
การศึกษา — จบแพทย์ 6 ปี ทำงานใช้ทุนอีก 1–3 ปี แล้วเรียนต่อเฉพาะทางด้านจิตเวช 3 ปีสำหรับจิตแพทย์ผู้ใหญ่ หรือ 4 ปีสำหรับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
ความเชี่ยวชาญ — สามารถวินิจฉัยโรคจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า ไบโพลาร์ จิตเภท เป็นต้น และยังสามารถให้ยาได้อีกด้วย

— นักจิตวิทยา —
การศึกษา — ปริญญาตรี/โท/เอก คณะจิตวิทยา สาขา เช่น จิตวิทยาการปรึกษา จิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาคลินิก จิตวิทยาสังคม จิตวิทยาอุตสาหกรรมฯ เป็นต้น จะเห็นได้ว่านักจิตวิทยามีความหลากหลาย ในแต่ละสาขาก็มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันออกไป
ความเชี่ยวชาญ — มุ่งเน้นการทำจิตบำบัดเป็นหลัก ขอบเขตการทำงานจะดูแลปัญหาสุขภาพจิตที่เบาลงมาจากโรคจิตเวช เช่น ปัญหาความเครียดเรื่องรัก เรื่องเรียน เรื่องในที่ทำงาน เรื่องครอบครัว เป็นต้น และสามารถประเมินผลแบบทดสอบทางจิตวิทยาได้ด้วย

1.1 จิตแพทย์ทั่วไป
จิตแพทย์ทั่วไป จะเน้นดูแล รักษาโรคทางจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก หรือพฤติกรรมที่ผิดปกติซึ่งมีผลมาจากจิตใจ รวมถึงให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจิตทั่วไปได้ สามารถวินิจฉัยโรคทางจิตใจ และจ่ายยารักษาได้ตามอาการที่เกิดขึ้น
1.2 จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จะเน้นดูแลเด็กจนถึงวัยรุ่น ที่มีปัญหาหรือความผิดปกติทางด้านพัฒนาการทางด้านจิตใจพฤติกรรม อารมณ์ การเรียนรู้ และการเลี้ยงดู เพื่อให้การบำบัดรักษา และการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

2.1 นักจิตวิทยาการปรึกษา
นักจิตวิทยาการปรึกษา ก็ตามชื่อเป้ะๆเลย นักจิตวิทยาการปรึกษาจะใช้การพูดคุย การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาเป็นหลัก เพื่อบรรเทาความเครียด ความทุกข์ใจ ความไม่สบายใจของผู้รับบริการ สถานที่ทำงานก็หลากหลาย บางคนเปิดศูนย์บริการการปรึกษาส่วนตัว บางคนทำงานในมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล โรงเรียน หรือในบริษัท (นักจิตวิทยาที่อยู่ในAppของเราส่วนใหญ่เป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาค่ะ)
2.2 นักจิตวิทยาพัฒนาการ
นักจิตวิทยาพัฒนาการ จะศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการในมนุษย์ในทุกช่วงวัยตั้งแต่วัยเด็กจนวัยชรา ดังนั้นการทำงานก็จะไปได้กว้าง สามารถประยุกต์ได้หลากหลาย โดยส่วนใหญ่จะเน้นทำงานกับเด็ก ไม่ว่าจะโรงพยาบาล คลินิก สถานศึกษา หรือศูนย์พัฒนาเด็ก เช่น การกระตุ้นพัฒนาการให้กับเด็ก การแนะนำผู้ปกครองในการเลี้ยงดูเด็กแต่ละวัยอย่างเหมาะสม เป็นต้น
2.3 นักจิตวิทยาคลินิก
นักจิตวิทยาคลินิก จะทำงานใกล้ชิดกับจิตแพทย์ที่สุด มุ่งเน้นการวินิจฉัยโรคผ่านพูดคุยและการทำแบบทดสอบว่าบุคคลนั้นมีความผิดปกติหรือไม่ สายงานนี้จะมีความเฉพาะเจาะจง ไม่ได้กว้างขวางเหมือนสายงานอื่น มีตำแหน่งงานรองรับชัดเจน ส่วนใหญ่ทำงานในโรงพยาบาล หรือคลินิก
2.4 นักจิตวิทยาสังคม
นักจิตวิทยาสังคม ศึกษาเรื่องพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ ศึกษาพฤติกรรมของบุคคลอื่นที่มีอิทธิพลต่อตัวเรา สามารถทำงานได้หลากหลายมาก เช่นทำวิจัย การตลาด โฆษณา หรือ นักจิตวิทยาประจำศาล ทำงานร่วมกับตำรวจ เป็นต้น
2.5 นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร
นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร จะศึกษาจิตวิทยา เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทของการทำงาน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของพนักงานในองค์กร ส่วนใหญ่ทำงานอยู่แผนกHRตามองค์กรต่างๆ ทำหน้าที่ในการบริหารงานทรัพยากรมนุษย์ จัดอบรม พัฒนาทักษะ และส่งเสริมให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน