1. ยับยั้งและเก็บอารมณ์ (Suppression)
    “ฉันไม่ได้โกรธเธอนะ” “ฉันไม่เสียใจเลยซักนิด” การปฏิเสธหรือเก็บซ่อนอารมณ์ตน เป็นวิธีแรกๆที่เราเลือก ทำไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อโกรธ เศร้า เสียใจจากเรื่องที่เข้ามา วิธีนี้อาจช่วยให้เรารู้สึกสบายใจขึ้นในขณะนั้นได้ แต่ระยะยาว หากมีเรื่องเดิมมากระทบอีก ก็อาจจะทำให้เกิดอารมณ์แบบเดิมขึ้นอีกได้
    แต่กระนั้น การรับมือกับอารมณ์ด้วยวิธีนี้ก็จำเป็นในบางเวลา เช่น เมื่อต่างฝ่ายต่างใช้อารมณ์ คงไม่มีใครหยุดฟังและปรับความเข้าใจกันแน่ วิธีนี้ช่วยให้มีเวลาคิดทบทวน ลองหยุดสักนิดและฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพยายามสื่อโดยไม่ให้อารมณ์มากวนใจ จะช่วยป้องกันปัญหาลุกลามได้

2. ปรับเปลี่ยนมุมมอง (Cognitive Reappraisal)
คนเรามักมีมุมมองต่อเหตุการณ์หรือเรื่องราวหนึ่งๆต่างกันไป ขึ้นกับประสบการณ์ที่แต่ละคนเรียนรู้มา มุมมองที่แตกต่างนี้นำไปสู่การตีความและการคาดเดาสถานการณ์ตรงหน้าที่ไม่เหมือนกัน ลองถามตัวเองเล่นๆดูสิว่า ถ้าเช้าวันหนึ่งคุณตื่นขึ้นมาและรู้ว่าลืมชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือคู่ใจ คุณจะรู้สึกอย่างไร?
วิธีการนี้ช่วยปรับมุมมองที่เราตีความกับเรื่องที่เกิดขึ้น ถ้าเราลองหยุด ตั้งสติสักพัก แล้วค่อยๆมองหาด้านบวก สิ่งใดที่เกิดขึ้น สิ่งนั้นมีดีเสมอ หากใช้โทรศัพท์มือถือไม่ได้ในวันนั้น อาจจะทำให้เราได้มีเวลาทำกิจกรรมอื่น เช่น พูดคุยกับผู้คนรอบข้างมากขึ้น หรือ ได้อ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม

3. เปิดใจยอมรับ (Acceptance)
เพราะเราไม่อาจควบคุมทุกสิ่งในชีวิต โดยมากแล้วเหตุการณ์ บุคคล สิ่งต่างๆรอบตัวที่เราพบเจอ ไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขมันได้ บางครั้งก็ทำเราเหนื่อยล้า เป็นทุกข์ ได้เช่นกัน สิ่งสำคัญที่สุดในการเข้าใจและรับมือ คือ ยอมรับว่า ณ ขณะนี้ เวลานี้ ตัวเรากำลังเกิดความรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ตรงหน้า เปิดใจยอมรับอารมณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบที่เกิดขึ้น โดยไม่พยายามตัดสินหรือเปลี่ยนแปลงมันให้เป็นไปในทางอื่น ข้อนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจตนเอง ช่วยให้เห็นมุมมองและแนวทางจัดการความรู้สึกเมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์ในอนาคตอีกด้วย