“คุณเคยมีความคิดว่า อยากหายไปจากโลกนี้บ้างมั้ย?
เราเคยนะ และยังมีอยู่เรื่อย ๆ ด้วย แต่ว่าไม่ได้คิดอยากจะจบชีวิตตัวเองนะ เพียงแต่หวังลึก ๆ ว่าวันนึง โชคชะตาจะฆ่าเราเอง”
เช่น เดิน ๆ อยู่แล้วฟ้าผ่าใส่ โดนรถชนตาย โดนลูกหลงเวลาที่เขายิงกัน
อาจจะซ้อนมอเตอร์ไซด์แล้วพลิกคว่ำเสียชีวิต
หรือถ้าให้ดีคือนอนไปแล้วไม่ตื่นมาอีกเลย
บางทีเราก็สงสัยว่าพวกอุบัติเหตุที่มันเกิดขึ้นตามข่าว ทำไมไม่เป็นเราแทนนะ ?
.
ถ้าช่วงไหนดาวน์ ๆ ก็จะออกไปยืนตรงระเบียงคอนโด มองลงไป แล้วสงสัยว่าถ้าเราโดดลงไปจะตกไปอยู่ตำแหน่งไหนนะ ถ้าตกใส่รถที่ขับผ่านมาพอดี นี่เค้าซวยเลยนะ หรือล้างมีดอยู่ ก็คิดว่าถ้าเราเอามีดมาจ้วงใส่ตัวเองมันจะเป็นไงนะ แต่ก็ไม่เคยทำเลย แล้วก็คิดว่าคงไม่มีวันทำด้วย
.
คำถามคือ:
1. สรุปแล้วเราเป็นอะไร?
2. ทำไมความคิดพวกนี้มันยังวนเวียนอยู่?
3. ความคิดพวกนี้มันอันตรายมั้ย?
4. แล้วเราควรจะต้องทำยังไงกับมัน?
5. คนรอบข้างทำอะไรได้บ้าง ?
.
1. จิตแพทย์เรียกอาการนี้ว่า Passive Death Wish
คือไม่ได้ทำตัวเสี่ยงตาย แต่ก็ไม่ได้แคร์ว่าตัวเองจะอยู่หรือจะไป ตายก็ดีไม่ตายก็…พออยู่ได้มั้ง แต่ตายได้ก็ดี *ขำแห้ง*
.
2. ที่ความคิดยังวนเวียนอยู่แบบนี้ เพราะมีความขัดแย้งอยู่ในตัวเอง ส่วนประกอบแรกคือ ทัศนคติที่มองไม่เห็นชีวิตด้านบวกของตัวเอง เกลียดตัวเอง คิดว่าตัวเองห่วย เกิดมาทำไม อยากทำโทษตัวเอง อยากหนี อยากหายไป อยากออกไปจากจุดนี้
.
ในขณะเดียวกัน ถึงเราจะร้องไห้ฟูมฟายตลอดเวลา บอกว่าเกลียดตัวเองแค่ไหน ในหัวเรายังมีเสียงเล็ก ๆ ที่คอยบอกว่า “อีกนิดนึงมึง” “ค่อย ๆ ก็ได้” “เอาวะ!” เพราะลึก ๆ แล้ว เราก็รู้สึกว่า เราก็สมควรที่จะมีความสุขบ้าง “ขอบ้างเหอะ” อยากเห็นว่าถ้าตัวเองไปต่อ จะไปได้อีกสักแค่ไหน
.
3. Passive Death Wish ความจริงก็อันตรายอยู่ แต่อาจจะยังไม่ด่วนเท่าการพยายามฆ่าตัวตาย (Actively Attempted Suicide) แต่มันก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ชี้ว่าเรามีอาการซึมเศร้าไปถึงระดับไหนแล้ว
.
4. สำหรับเราคือความคิดนี้มันหายขาดได้ แต่มันอาจจะยาก คือ มันกลับมาหาเราเรื่อย ๆ แหละ แต่เราก็เรียนรู้ที่จะจัดการมัน Manage ได้ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการพยายามบังคับตัวเองให้คิดบวก หรือ “เอ้า! วันนี้เราจะวิ่งออกไปรับ Positive Vibes!” แบบนั้นเป็นการกลบเกลื่อนความทุกข์ โดยไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ
.
แต่เราเลือกที่จะยอมรับว่า ตัวเราก็เป็นแบบนี้แหละ และเมื่อความซึมเศร้า ความกังวล ความกดดันต่าง ๆ มาเยือน ก็ต้องรู้ทันความคิดตัวเอง พร้อมทักทายมันแบบ Hello darkness, my old friend. ไม่ได้เจอกันนานเลยนะ แล้วก็หัวเราะใส่มัน
.
5. ในมุมของจิตแพทย์ คือ ถ้าคุณเป็นคนใกล้ตัวของคนเหล่านี้ คุณควรทำให้เขาเห็นถึงความสำคัญของการมีชีวิตอยู่ของเขา ชีวิตเขามีความหมาย มีประโยชน์ มีค่าในมุมอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะสำหรับคุณ
.
อาจจะไม่ต้องพูดอะไรมากก็ได้นะ แค่ฟังอย่างตั้งใจ บอกเขาว่า #อยากฟังเขา อยากให้เขาระบายออกมา ต่อให้เขาบอกว่า “ไม่อยากอยู่แล้ว” ก็บอกเขาว่า “แต่เราอยากให้เธออยู่นะ” บอกให้เขารู้ว่า เขาเป็นคนที่สำคัญมาก ๆ สำหรับคุณนะ
.
สิ่งที่เราอยากได้จากคนรอบข้างคือ ไม่อยากให้ตัดสินเราจากความคิดอันนี้ เรารู้สึกว่ามีคนที่รู้สึกแบบนี้อยู่มากแต่ไม่กล้าเปิดเผยออกไปเพราะกลัวว่าจะถูกมองไม่ดี ไม่อยากโดนตราหน้าว่าเป็นคนที่คิดจะฆ่าตัวตาย แต่บอกเลยว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นซึมเศร้าขั้นหนัก แค่คนปกติไม่สบายใจ ก็สามารถมีภาวะ Passive Death Wish นี้ได้
.
สุดท้ายนี้ คนที่มีความคิดนี้อยู่ อยากจะบอกว่า “สวัสดีค่ะ ยินดีที่ได้รู้จักนะ เราเป็นเหมือนกัน คุณไม่ได้อยู่คนเดียว :)” ถ้าไม่ไหวก็อยากให้ระบายออกมานะ คุณไม่ได้บ้า คุณไม่ได้คิดไปเอง ถ้ารู้สึก มันก็คือความจริง ไม่ต้องรอให้ถึงขั้นสุดถึงจะไปปรึกษาจิตแพทย์ แค่รู้สึกว่าไม่สบายใจอะไร ก็อยากให้คุยกับใครสักคน และวางใจให้เขารับฟังคุณ
Recent Comments