ในสถานการณ์ Covid-19 ที่กำลังเป็นที่น่ากังวลในตอนนี้ นอกจากเราต้องระวังเรื่องสุขภาพกายกันแล้ว สุขภาพใจก็เป็นเรื่องสำคัญ ความวิตกกังวลหากไม่ระวังให้ดีอาจจะร้ายแรงกว่า Covid-19 ก็ได้
.
วันนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าเราจะรับมือกับความวิตกกังวลกันได้ยังไงบ้าง

#Self – talk ลองพูดคุยกับตัวเอง
.
เราลองทำ Self -Talk หรือเริ่มพูดคุยกับตัวเองว่าอารมณ์และความวิตกกังวลของตัวเราอยู่ในระดับไหน โดยสังเกตว่าเราสามารถปรับตัวและดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติหรือเปล่า
.
จากนั้นเราก็ดูว่าเรา #รู้จักความเสี่ยงของเรามากแค่ไหน พื้นที่ที่เราอยู่มีความเสี่ยงหรือเปล่า การทำแบบนี้จะทำให้เรากลับมาอยู่ในปัจจุบันมากขึ้น และเริ่มเข้าสู่การคิดแก้ปัญหาเพื่อรับมือ ลองพูดคุยกับตัวเองและแยกประเด็นความวิตกกังวลของเราออกมา เราจะพบว่าทุกปัญหามีวิธีรับมือและตัวเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่ออยู่ร่วมกับมันได้

#เสพข่าวแต่น้อยเน้นที่คุณภาพ
.
การเสพข่าวถือเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เราเริ่มวิตกกังวล เมื่อเราได้รับข่าวสารมาสิ่งแรกที่เราควรทำคือ แยกประเภทข่าวว่าเป็น “ข้อเท็จจริง” หรือ “ความคิดเห็น” เพราะหากเป็นการเล่าปากต่อปากจากคนรู้จัก ไม่ได้มีการกรองว่าจริงเท็จแค่ไหน คนพูดต่อกันด้วยความกลัวข้อความอาจจะผิดเพี้ยนไปได้
.
ดังนั้นให้เลือกเสพข่าวแต่น้อย ไม่ต้องดูจนเครียดหรือกังวลไปล่วงหน้า เน้นที่คุณภาพข่าว โดยเลือกอ่านจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือสามารถตรวจสอบได้อย่างน้อยถ้าเรากังวลจะได้กังวลได้ถูกประเด็น

#คิดด้านบวกและเรียนรู้จากสถานการณ์
.
มองหาเรื่องดีๆ ที่อยู่ในสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญ หากเราได้รับข่าวว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ เราก็จะได้รู้แล้วว่าที่ไหนเป็นพื้นที่เสี่ยงที่เราควรหลีกเลี่ยง หรือมองเห็นโอกาสจากการเลี่ยงไม่ออกไปพบปะผู้อื่น เราจะได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น มีเวลาตามหาความสนใจ หางานอดิเรกทำเพื่อให้ใจเราสงบไม่ฟุ่งซ่าน ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่โดยไม่มีใครชวนเราออกไปไหน
.
การมองในแง่บวกจะเพิ่มเหตุผลในการคิดของเรามากขึ้น และลดความรู้สึกด้านอารมณ์ลง ยังไงชีวิตก็เหมือนการพนันที่มีคือความเสี่ยงอยู่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการลงทุนในเชิงประสบการณ์ ว่าสิ่งเลวร้ายครั้งนี้ได้ให้บทเรียนอะไรกับเราในชีวิต

#พูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา
.
การพูดคุยหรือระบายความกังวลให้จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาฟัง ถือเป็นการรับมือกับสถานการณ์อย่างนึง เพราะคนเรามีระดับความวิตกกังวลที่แตกต่างกัน บางคนไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้และเริ่มกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน
.
การยอมรับปัญหาเป็นขั้นแรกสำหรับการแก้ไขเสมอ ในปัจจุบันมีการเข้าถึงจิตแพทย์และนักจิตวิทยาได้ง่าย ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเหมือนแต่ก่อนแล้ว เราสามารถพูดคุยผ่านทางออนไลน์ หรือแอปพลิเคชันได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องรอให้เครียดมาก แค่เรารู้สึกกังวลหรือมีเรื่องไม่สบายใจก็สามารถพูดคุยได้เลย

ขอบคุณบทความดีๆจาก : ดร. รพีพงค์ ยังวราสวัสดิ์ (นักจิตวิทยาจากแอปพลิเคชัน ooca)