#เด็กที่มีปัญหาการเรียน #คุณช่วยได้ถ้าเข้าใจ
“คุณครูจ๋า พ่อแม่จ๋า หนูไม่ได้โง่ ไม่ใช่เด็กไม่รับผิดชอบ หนูไม่ได้จงใจดื้อที่ทำการบ้านไม่ได้ หนูพยายามแล้ว หนูอยากเก่งขึ้น อย่าดุด่าหนู ช่วยเข้าใจหนูที”
.
…ปัญหาการเรียนเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยมากในปัจจุบันซึ่งอาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบได้บ่อยคือ “ภาวะเรียนรู้ช้า” ในบางวิชาโดยที่ IQ ปกติ หรือที่เรียกว่า (LD: Specific Learning Disorder ชื่อเดิม Learning Disorder) อาจพบได้ถึงประมาณ10% หรือจากเหตุอื่นๆ โดยที่เด็กเหล่านี้มักมี IQ คือระดับสติปัญญา และความฉลาดเป็นปกติ (เด็กที่มีปัญหาการเรียน มีจำนวนไม่มากนักที่มีปัญหา IQ ต่ำ)
.
มีเด็กจำนวนมากที่ถูกดุ ว่า “ไม่ฉลาด ไม่ตั้งใจเรียน ไม่รับผิดชอบ ไม่เชื่อฟัง” แต่ในมุมของเด็ก คุณรู้หรือไม่ว่า “เขาพยายามเต็มที่เท่าที่เขาทำได้แล้ว” เขาก็อยากเก่งกว่านี้ และเขาจะดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ถ้าคุณเริ่มจากการที่มีความรู้และความเข้าใจ
.
บ่อยครั้งที่พบเด็กที่ IQ ปกติ หรือฉลาด แต่มีภาวะเรียนรู้ช้าในบางวิชา เช่น อ่าน เขียน คำนวณ จะสังเกตได้ว่าเด็กเหล่านี้มักอ่านผิด ช้า ตะกุกตะกัก อ่านไปสะกดไป จับใจความไม่ได้ หรือ การเขียนก็มักสะกดไม่ถูก สลับ ไม้เอกไม้โท เขียนกลับหัว เช่น b-d ด-ค เรื่องเลขเด็กอาจไม่เข้าใจตัวเลข และสัญลักษณ์ทางคณิต บวกลบง่ายๆไม่ได้ เป็นต้น
.
ในขณะที่วิชาอื่นเขาทำได้ดี และมักฉลาดในเรื่องอื่น เช่น ความรู้รอบตัว การเล่นกับเพื่อน ฯ เด็กเหล่านี้อาจมี #ภาวะเรียนรู้ช้าบางวิชา แต่มักถูกเข้าใจผิดว่าไม่ฉลาด จงใจไม่ทำงานในวิชาที่เป็นปัญหา(จริงๆเด็กพยายามแล้ว แต่เขาทำไม่ได้) ซึ่งภาวะนี้เกิดจากพัฒนาการของสมองบางส่วนในการเรียนรู้วิชานั้นๆ มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน และที่สำคัญภาวะดังกล่าวสามารถช่วยเหลือให้ดีขึ้นได้ แต่ไม่ใช่เพราะเด็กไม่ฉลาด ไม่ใช่จงใจไม่ทำงาน หรือจงใจไม่ร่วมมือ
.
เด็กเหล่านี้มักจะถูกดุหรือตี จากการที่ครู หรือผู้ปกครองเป็นห่วงและอยากให้เด็กทำได้ดีขึ้น แต่หลายครั้งการดุ หรือตี จะทำให้เด็กเครียด เสียความมั่นใจ รู้สึกคุณค่าในตนเองลดลง และรู้สึกเป็นปมด้อย ท้อกับการเรียน รู้สึกว่าการเรียนเป็นเรื่องไม่สนุก จนอาจเกิดพฤติกรรมดื้อต่อต้านหรืออาจเกิดโรคซึมเศร้าขึ้นได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้คุณสามารถช่วยเหลือเด็กได้ โดยเริ่มจากความรู้และความเข้าใจ และถ้าคุณทำให้บรรยากาศการเรียนการสอน ให้เป็นอะไรที่อบอุ่น สนุก คุณจะช่วยเด็กเหล่านี้ให้เรียนดีขึ้นได้มาก
.
ในมุมของผู้ปกครอง และครู หมอพอเข้าใจที่อาจดุ ตี ด้วยความเป็นห่วงและไม่รู้จะช่วยเหลือยังไง
“แต่ในมุมของเด็ก ค่อนข้างเป็นห่วงที่เด็กมักรู้สึกแย่ โทษตัวเองว่าเป็นเด็กไม่ดี รู้สึกตัวเองมีปมด้อย บางรายถึงกับไม่อยากเรียนหรือเป็นโรคดื้อต่อต้าน หรือโรคซึมเศร้าได้” จิตแพทย์เด็กมักจะเจอเด็กภาวะนี้บ่อยๆ แต่เมื่อได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง เด็กจะมีความสุขและเรียนได้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก
.
การช่วยเด็กที่มีปัญหาดังกล่าว ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจจากทั้งผู้ปกครอง คุณครู แพทย์ ครูการศึกษาพิเศษ และทุกคนที่เกี่ยวข้องการเริ่มต้นจากความเข้าใจ แล้วพยายามอุดจุดอ่อนที่เด็กเป็น ทำบรรยากาศการเรียนให้เอื้อกับเด็ก ให้เด็กมีตัวช่วย ให้รู้สึกสนุกไม่เครียด ไม่กดดันจนเกินไป เช่น เด็กที่มีปัญหาการอ่านหรือการเขียน เวลาทำข้อสอบ อาจจะให้คุณครูอ่านโจทย์ให้ฟัง แล้วให้เด็กเลือกคำตอบ หรืออธิบายให้ฟัง เป็นต้น หรือถ้ามีปัญหามากกว่านั้น อาจจะต้องพึ่งครูการศึกษาพิเศษซึ่งเรียนมาเพื่อช่วยเด็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะ
หมอเคยพบเด็กที่มีปัญหาการเรียนช้าบางวิชา บางคนที่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง อย่างเด็กเคยอ่อนด้านการเขียนสะกดคำ แต่พ่อแม่และครูเข้าใจ และช่วยเหลือด้วยการให้ใช้เครื่องมือทดแทน เช่น คอมพิวเตอร์ ให้เด็กใช้การพิมพ์แทนการเขียนส่งงานและสอบ ให้สามารถเรียนผ่านไปได้ เป็นการอุดจุดอ่อน แล้วค้นหาจุดแข็ง โดยส่งเสริมให้เด็กได้เรียนในสาขาวิชาที่เด็กชอบและถนัด หมอพบว่าเด็กบางคนสามารถเรียนได้เต็มศักยภาพจนจบปริญญาโท และประสบความสำเร็จในชีวิตในสายอาชีพที่เด็กถนัด เช่น เดียวกับเด็กทั่วๆไป ได้เลยทีเดียว
.
หากอ่านแล้วยังมีข้อที่สงสัย สามารถมาพูดคุยพิ่มเติมได้กับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นได้ทางแอปพลิเคชัน ooca
สุดท้ายไม่ว่าท่านจะเจอปัญหาอะไร หมอขอเป็นกำลังใจให้ครับ “ปัญหามี ทางออกก็มี”
Recent Comments