“แค่นี้เองแก”
“เห้ยอย่าคิดมากดิ”
“เราเคยเจอหนักกว่านี้อีก”
“คนอื่นลำบากกว่าแกตั้งเยอะ”
.
คาดว่าบางคนต้องเคยได้ยินคำเหล่านี้ผ่านๆบ้าง โดยเฉพาะเวลาระบายเรื่องที่กำลังเครียดหรือไม่สบายใจให้คนอื่นฟัง ซึ่งคนที่ตอบคำเหล่านี้ อาจจะตั้งใจให้กำลังใจเราจริงๆนะ เขาอาจจะหวังดีให้ลองมองในอีกมุมนึง ให้เราฮึบและสู้กับปัญหา แต่ทำไมนะ ทำไมสำหรับบางคนอาจจะฟังแล้วรู้สึกเศร้ากว่าเดิม เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่พอได้รับคำปลอบใจเหล่านี้แล้วเจ็บกว่าเดิม

แต่ก่อนอื่นเลย เราอยากจะขอขอบคุณคนเหล่านี้ที่พยายามให้กำลังใจเรา เรารับรู้ได้ถึงความหวังดี แต่ก็อยากให้เข้าใจเหมือนกันว่า บางคำสำหรับคนที่กำลังเป็นซึมเศร้า หรือมีอาการป่วยทางใจอื่นๆอยู่ พอได้ยินแล้วจะรู้สึกอย่างไรได้บ้าง
.
เพราะคนที่กำลังเศร้าอย่างเรา ที่ในเวลาปกติก็มองตัวเองในแง่ลบอยู่แล้ว การที่คนที่เราไว้ใจมาบอกว่า “แค่นี้เอง” ก็เหมือนกำลังบอกว่า #ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเราและสิ่งที่เรารู้สึกอยู่มันไม่มีจริง ไม่มีความสำคัญหรือความยิ่งใหญ่มากพอที่จะเอามาคิด ยิ่งตบท้ายด้วยคำว่า “เราเคยเจอหนักกว่านี้อีก” หรือ “คนอื่นลำบากกว่าแกตั้งเยอะ” ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า เรามันห่วยจังที่เรื่องแค่นี้ยังรับมือไม่ได้ (ซึ่งเราก็อาจจะห่วยจริงๆแหละ)
.
แต่สิ่งที่อยากจะให้เข้าใจก็คือ “แค่นี้” ของแต่ละคนมันไม่เท่ากันจริงๆนะ ด้วยประสบการณ์และพื้นฐานความแข็งแรงของจิตใจแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันแล้ว แปลว่าความจริงแล้วความเจ็บปวดไม่ได้มีมาตรฐานชี้วัดที่ชัดเจนหรือเปล่า ? เพราะเมื่อกำลังทุกข์อยู่ ความเจ็บปวดของแต่ละคนมันไม่น่าจะเทียบกันได้
.
ในขณะเดียวกัน เราเองก็ต้องเข้าใจผู้ที่รับฟังคำระบายจากเราด้วยว่า เขาไม่อาจเข้าใจเราได้ 100% หรอก และไม่ใช่ทุกคนที่จะนึกคำปลอบใจดีๆออกทันที การที่เขามารับฟังเราก็น่าจะเป็นการบ่งบอกได้นะว่าเขาก็อยากช่วยเราและเป็นห่วงเราจริงๆ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งคาดหวังให้ทุกคนรู้ว่าต้องพูดว่าอะไร
.
มาที่คำถามสำคัญคือ กำลังใจแบบไหนควรพูด หรือ กำลังใจแบบไหนที่เราอยากฟัง ?
.
ความจริงมันอาจจะไม่ได้มีคำที่ถูกต้องที่สุด เพราะมองว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น ตัวเนื้อเรื่องของปัญหา สถานการณ์ ความสนิทสนม หรือแม้กระทั่ง ตัวกลางของการสื่อสาร (เจอกันแบบตัวเป็นๆหรือคุยกันทางออนไลน์) #ซึ่งสำหรับเราแล้ว แค่การที่มีคนมานั่ง #รับฟังอย่างตั้งใจ (Deep Listening) และ #ไม่ตัดสินความรู้สึก ของเราก็รู้สึกสบายใจมากๆแล้ว
.
ยิ่งเวลาอีกฝ่ายมาบอกว่า “ถึงเราอาจจะไม่เข้าใจความรู้สึกแกทั้งหมด แต่เราอยากเข้าใจแกจริงๆ ถ้ามีอะไรที่เราพอช่วยได้เราก็จะทำนะ และเราจะเป็นกำลังใจให้แกเสมอในวันที่แกไม่โอเคนะ” ประมาณนี้เราก็รู้สึกเหมือนโดนโอบกอด อบอุ่นโรแมนติกมาก
.
แต่ก็มีตัวอย่างของคำพูดที่นักจิตวิทยาแนะนำให้ลองนำไปใช้ได้ อย่างเช่น
1. อีกไม่นานก็จะดีขึ้นและเธอจะผ่านมันไปได้
2. ฉันอาจจะไม่เข้าใจเธอ แต่ฉันจะอยู่ข้างๆ เธอนะ
3. เธอยังมีเวลาอีกมาก และฉันจะอยู่ข้างๆ เผื่อว่าจะช่วยอะไรเธอได้บ้าง
4. อดทนไว้นะ เธอยังมีฉันอยู่ข้างๆ นะ
5. เธอไม่ได้อยู่คนเดียวนะ
6. ไม่มีใครตั้งใจให้เรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นหรอก
7. ฉันเห็นแล้วว่าเธอกำลังพยายาม มีอะไรที่ฉันพอจะช่วยเธอได้บ้าง
ซึ่งในชีวิตจริงคงต้องมาปรับคำเพื่อให้เข้ากับบริบทของแต่ละคน
.
เพราะฉะนั้นถ้าใครอยู่ในความสัมพันธ์ที่คนใดคนหนึ่งกำลังไม่สบายใจ ก็อาจจะ #ต้องช่วยกันทั้งสองฝ่าย มีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น (Empathy) สื่อสารกันมากขึ้นว่าชอบอะไรไม่ชอบอะไร และหวังว่าถ้าปรับความเข้าใจกัน จะไม่มีคนใดคนหนึ่งต้องเจ็บอีกต่อไป
.
จาก ooca: เนื่องจากสัปดาห์นี้ (ในต่างประเทศ) เป็น Mental Health Awareness Week (18-24 May) ทางอูก้าจึงขอร่วมแชร์เรื่องราวและประสบการณ์จากคนๆนึงที่อยากเล่าความรู้สึกของตัวเองมาแบ่งปันให้เพื่อนๆได้อ่าน เพื่อให้เกิดการรับรู้ถึงเรื่องสุขภาพจิตและความเข้าใจที่มากขึ้น หวังว่าบทความ #OOCAstory นี้จะเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อนๆที่ตกอยู่ในความไม่สบายใจแบบนี้น้า ถ้าหากใครอยากแชร์เรื่องราวที่ตัวเองเจอ หรืออยากแชร์คำปลอบใจดีๆจากคนรอบข้าง ก็สามารถแชร์มาได้เช่นกัน 🙂