เป็นที่ทราบกันดีว่าในวัยเด็กนั้นเด็กหลายคนอาจจะมีปมจากการถูกกลั่นแกล้ง​ รวมทั้งการถูกทารุณ​กรรมทางร่างกายและจิตใจ​ ไม่ว่าเหตุจะเป็นจากรูปร่างหน้าตาที่แตกต่าง เช่น​ น้ำหนัก​ สีผิว​ ความสูง​ หน้าตา หรือมีปัญหาทางพัฒนาการ​ ปัญหาการเรียน​ เช่นซนสมาธิสั้น​ ปัญหาการเรียนรู้ช้าในบางวิชา

การกลั่นแกล้งรังแก (Bully) ​มาในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นทางการกระทำการทำร้ายร่างกายการล้อเลียนดูถูกเหยียดหยามหรือแบนออกจากกลุ่ม​ การทารุณกรรม (Abuse)​ ก็มาได้ในหลายรูปแบบทั้งการทำร้ายร่างกาย​ การทำร้ายทางวาจา​ และการทำร้ายจิตใจ
.
วันนี้หมอจะมาคุยถึงบาดแผลหรือความทรงจำเลวร้ายภายในจิตใจในเด็กวัยเรียน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีปัญหาในการเรียน​ หรือปัญหาพัฒนาการซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้รู้สึกว่าตัวเองเรียนไม่เก่ง​ ไร้คุณค่าที่อาจเป็นผลต่อไปในอนาคต และส่งผลกระทบต่ออนาคตของเด็กหลายๆคน​
.
ยกตัวอย่างบางคนพูดช้าพูดไม่ชัดก็อาจจะโดนเพื่อนล้อว่าไอ้เด็กพูดไม่ชัด​ บางคนเป็นออทิสติก อาจจะพูดหรือสนใจซ้ำในเรื่องเดียว​ พูดจากับเพื่อนไม่เข้าใจ​ อาจจะโดนล้อว่าไอ้เอ๋อ​ ไอ้เด็กปัญญาอ่อน​ บางคนเรียนไม่เก่งเพราะอาจมีปัญหาการเรียนในบางวิชาอาจจะโดนล้อว่าไอ้โง่ บางคนมีปัญหาด้านซนสมาธิสั้น อาจจะซนจนมีฉายาโดนเรียกว่าไอ้ลูกลิง
.
บางครั้งที่โรงเรียนหากคุณครูไม่เข้าใจก็อาจจะเป็นคุณครูเองที่เผลอทำร้ายจิตใจเด็กโดยที่ขาดความรู้หรือไม่เจตนาก็ได้​ หมอพบบ่อยๆว่าเด็กที่มีปัญหาการเรียน เช่นปัญหาการเรียนช้าในบางวิชา หรือเด็ก LD (Learning Disorder) ในปัญหาการอ่านการเขียนการคำนวณรวมทั้งเด็กสมาธิสั้น มาจะถูกครูดุตำหนิและทำโทษโดยวิธีต่างๆนานาโดยกล่าวหาว่า ไม่ตั้งใจเรียน​ ขาดความรับผิดชอบ​ ไม่เอาไหน​ จงใจดื้อต่อต้าน
.
จนในที่สุดครูบางคนอาจคุมอารมณ์ไม่ไหวอาจจะทำร้ายเด็ก ด้วยการใช้อารมณ์รุนแรงหรือใช้วาจาที่หยาบคาย หรือทำร้ายร่างกายเด็ก โดยการตีแรงๆ เมื่อเพื่อนเห็นครูกระทำต่อเด็กกลุ่มนี้และเห็นจุดอ่อนของเด็กกลุ่มนี้เพื่อนๆก็อาจจะมองว่าเป็นเหยื่อ มองว่าสนุกในการที่จะเข้าไปกลั่นแกล้ง​ ล้อเลียนต่างๆนานา
.
ในมุมของเด็กที่ถูก Bully​ และทารุณ​กรรมทางร่างกายหรือจิตใจ​ ถูกดูตำหนิดุด่าและทำโทษและถูกเพื่อนล้อ เด็กๆจะมองตนเองว่ามีปมด้อย​ #โทษตัวเองว่าตนเองไม่เก่ง​ ความภาคภูมิใจในตนเองลดลง​ รู้สึก​ไม่มีความสุขในการไปโรงเรียน​ รู้สึกแปลกแยกจากกลุ่มเพื่อน​ จนนำไปสู่ปัญหาต่างๆได้ในอนาคตได้มากกว่าเด็กที่ไม่มีบาดแผลในใจหลายเท่า​ เช่น
.
1.ถูกกีดกันไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อนจนต้องไปคบกับเด็กที่มีปัญหาเหมือนกัน
2.พบว่าเด็กพวกนี้เรียนไม่จบต้องออกกลางคันไม่ประสบความสำเร็จทางการเรียนเท่าศักยภาพของเด็กที่มี
3.รู้สึกคุณค่าในตนเองต่ำลง​ รู้สึกว่าตัวเองไร้ความสามารถจนอาจนำไปสู่ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล​ พฤติกรรม​ต่อต้านก้าวร้าวเกเร​ รวมทั้งมีโอกาสติดสารเสพติด​ ติดการพนัน​ ติดเกมมากกว่าเด็กปกติหลายเท่า
4.มีปัญหามีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรตามมาด้วยการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมและมีลูกในวัยที่ยังไม่พร้อม
5.มีปัญหาในระยะยาวทั้งอนาคตหน้าที่การงานความประสบความสำเร็จในชีวิตที่ด้อยกว่าคนทั่วไปจนซึมเศร้ารุนแรงและนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
.
ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องตระหนัก ให้ความสำคัญและหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มเหล่านี้ เพื่อไม่ให้ถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจหรือถูกกลั่นแกล้งจนเป็นปมหรือบาดแผลในใจ ทั้งผู้ปกครองและครูควรมีความรู้ในการดูแลเด็กเหล่านี้​ โรงเรียนควรมีนโยบายไม่ยอมรับการทำร้ายร่างกายทำร้ายจิตใจหรือกลั่นแกล้ง ไม่ว่าจะจากครูหรือจากเด็กนักเรียนด้วยกัน
.
หากทุกฝ่ายร่วมกันตระหนักและป้องกันปัญหานี้แล้วเชื่อได้ว่าเด็กๆจะได้รับการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง​ จะมีความสุขในการเรียน​ รู้สึกตนเองมีคุณค่าและไม่ต้องออกจากระบบการเรียนกลางคัน​ รวมทั้งยังสามารถป้องกันปมหรือบาดแผลในใจเกิดแล้วอาจจะไม่สามารถเยียวยาได้