พ่อแม่เผลอรังแกฉัน
.

หมอเพิ่งเห็นข่าวจากเว็บไซต์หนึ่งว่ามีเด็กเลือกคณะที่จะเรียนต่อมหาวิทยาลัย จาก TCAS ปรากฏว่าถูกเปลี่ยนคณะโดยไม่ทันตั้งตัว​ โดยแม่เป็นคนเลือกคณะที่เด็กไม่ชอบให้ พอเห็นข่าวแล้วหมอรู้สึกสงสารเด็กจับใจ เพราะหมอมีประสบการณ์ตรงที่พบเพื่อน​ รุ่นน้อง​ นักศึกษา​ และคนไข้มากมายที่ต้องเรียนคณะที่ตนเองไม่ได้เลือกและไม่ได้ชอบ แล้วต้องฝืนเรียนจนจบ เพื่อตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ แต่ตนเองก็เกิดความเครียดจนเป็นโรคซึมเศร้า เสียโอกาสในชีวิตไปนานหลายปีในการค้นหาตัวเองเพื่อเลือกอาชีพใหม่

ในสังคมไทยทั้งคนไทยเชื้อชาติไทยและเชื้อชาติจีนมักจะรักลูกแบบตั้งความหวัง อยากให้ลูกเรียนสูงๆได้ทำอาชีพดีๆ แบบที่คาดหวัง จนบางครั้ง กลายเป็นการบังคับและกดดัน แต่ไม่เคยชื่นชมลูกรักลูกแบบที่ลูกเป็นเลย รวมถึงไม่เคยสอบถามความคิดเห็นลูกว่าลูกชอบอะไรอยาก โตไปทำอาชีพอะไร มีความสุขกับการทำอะไร
.

“วัยรุ่นเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อชีวิต เป็นวัยที่จะต้องผ่านพัฒนา​การ​ การค้นพบเอกลักษณ์และความเป็นตัวของตัวเอง เพื่อให้ใช้ชีวิตได้มีความสุขต่อไปในอนาคต” โดยที่พ่อแม่ควรให้อิสระให้วัยรุ่นได้ตัดสินใจเอง รวมถึงเป็นคนคอยสนับสนุนให้วัยรุ่นได้ทำสิ่งที่ชอบจนประสบความสำเร็จ “แต่หมอเห็นหลายครอบครัวที่เด็กและวัยรุ่น ถูกกดดันและคาดหวังจนเด็กตั้งข้อสงสัยกับตนเองว่าตกลงพ่อแม่รักเขาแบบที่เขาเป็นพ่อแม่รักตัวเองกันแน่”
ในมุมของพ่อแม่อาจจะเป็นห่วงอนาคตลูกมากเกินไป พร้อมกับเห็นว่าเด็กสามารถเรียนในคณะที่ตนเองคาดหวังได้ จึงตัดสินใจแทนให้หรือบางครั้งถึงกับบังคับ เมื่อลูกสามารถเรียนได้ ก็ไม่ได้เปิดโอกาสรับฟังลูกว่าลูกชอบหรือไม่ชอบ
.

หมอพบบ่อยมากว่าวัยรุ่นหลายคนถูกบังคับให้เรียนคณะที่ไม่ชอบจนจบ(บางคนก็ไม่จบ)​ เช่นเรียนแพทย์จนจบ 6 ปี ทั้งที่ไม่ชอบ สุดท้ายออกมาทำธุรกิจส่วนตัว, เรียนแพทย์ 6 ปีสุดท้ายออกมาเป็นนักบิน หรือเป็นผู้พิพากษา, เรียนเภสัชจบ 5 ปี ทั้งที่อยากเป็นหมอ แต่พ่อแม่กลัวลูกจะเข้าหมอไม่ติด สุดท้ายลูกก็ต้องมาเรียนต่อหมออีก 6 ปี, บางคนถูกบังคับให้เรียนนิติศาสตร์แต่อยากทำธุรกิจเรียนไปก็เครียดไป, บางคนถูกบังคับให้เรียนครูทั้งที่ไม่ชอบจนเป็นโรคซึมเศร้า แล้วก็เสียเวลาฟรีแถมตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าตนเองอยากทำอะไรเพราะพ่อแม่ไม่เคยเปิดโอกาสให้คิดและตัดสินใจเอง
.

วัยรุ่นเหล่านี้นอกจากจะเสียเวลาในการเรียน ในการออกมาทำงานสาขาที่ตนเองเรียน​ ในการตัดสินใจค้นหาตนเองและทำอาชีพที่ตนเองชอบ เป็นเวลาอย่างน้อย 4-10 ปี ยังเสียอะไรหลายอย่างภายในจิตใจ ซึ่งเงินทองเท่าไหร่ก็ชดเชยความสูญเสียนั้นไม่ได้​ หมอพบว่าว่าหลายคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรค bipolar โรควิตกกังวล หรือพบบุคลิกภาพแบบคาดหวังในตนเองสูงเกินจริง รวมทั้งยังแบกความคาดหวังจากพ่อแม่เต็มหัวจิตหัวใจ​ เป็นคนเครียดง่ายเพราะทำอะไรแล้วรู้สึกว่าไม่เคยได้รับความชื่นชม และไม่เคยทำอะไรสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่พ่อแม่คาดหวัง กลายเป็นคนเปราะบางง่ายและสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางจิตเวช​ คนไข้ของหมอบางคนพูดกับหมอว่ารู้ว่าพ่อแม่หวังดีแต่การถูกบังคับให้เรียนทั้งที่ไม่ชอบเหมือนถูกกระชากความสุขออกจากชีวิต
.

จะดีกว่าไหมถ้าคุณให้โอกาสลูกเลือกสิ่งที่ชอบและให้ลูกมีความสุขในการตัดสินใจเลือกอนาคตตนเอง​ หมอพบว่าบางครอบครัว ลูกไปเรียนในคณะที่เรียนแล้วเกิดความไม่ชอบภายใน 1-2 ปีพ่อแม่อนุญาตให้เปลี่ยนไปเรียนคณะที่ชอบ แล้วประสบความสำเร็จกับชีวิตเช่นรุ่นน้องของหมอเรียนแพทย์และไม่ชอบก็ลาออกตั้งแต่ปี 2 แล้วไปเรียนนิติศาสตร์จนกลายเป็นผู้พิพากษา, บางคนเรียนวิทยาศาสตร์ 1 ปีแล้วรู้ว่าตนเองอยากเป็นแพทย์ก็ลาออกไปเรียนแพทย์ จนได้เป็นแพทย์เฉพาะทางที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งได้กำไรทั้งได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ​ ไม่เสียเวลากับชีวิตมากมาย และไม่เสียความรู้สึก​
.

ขอขอบคุณบทความดีๆจาก

นายแพทย์ณัฐพล​ พิพัฒฐาดร​
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น