“ฉันเห็นเธออารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ นะวันนี้ เมื่อเช้ายังหน้าตาสดใส ยิ้มแป้นอยู่เลย ตกบ่ายมาทำไมดูหงอยๆ ซึมๆ เธอเป็นไบโพลาร์หรือเปล่าเนี่ย” เชื่อว่าหลายๆ คนเคยได้ยินประโยคนี้จากคนรอบข้าง หรืออย่างน้อยๆ ก็จากละครกันมาบ้าง ทำให้หลายๆ คนที่ได้ยิน มีความเชื่อว่าโรคไบโพลาร์นั้นจะมีอาการเหมือนกับในละคร และพูดกันติดปาก
.
แน่นอนว่าไบโพลาร์ไม่ใช่การที่อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ชีวิตดีไม่กี่ชั่วโมงก็พลิกมาเป็นซึมเหงาๆ หรือว่าร้ายเหวี่ยงวีน แต่ในความจริงแล้ว ไบโพลาร์มันมีระยะเวลาที่เป็นแต่ละช่วงที่นานกว่านั้น และอาการก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสียทีเดียวด้วย

ไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์อย่างหนึ่ง โดยจะมีภาวะอาการต่างๆ สลับกันระหว่าง Manic episode หรือ Hypomanic episode คือจะอารมณ์ดีมากกว่าปกติ คึกคัก พูดเร็ว พูดมาก สลับกับ Depressive episode ซึ่งเป็นอาการช่วงซึมเศร้า
.
ทุกคนอาจจะยังงงๆ กันอยู่ใช่มั้ยว่าเจ้าภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละโรคมันคืออะไร เป็นยังไงกันแน่ จะเหมือนในละครที่ฉายอยู่หรือเปล่า ตอนนี้อูก้าจึงอยากให้ทุกคนมาทำความเข้าใจกับ 3 ภาวะที่สำคัญต่อโรค Bipolar กัน
.
- Manic episode คือ ภาวะที่บุคคลจะมีความสนุกสนานร่าเริงมากเกินกว่าปกติ มีเรี่ยวแรงจะทำสิ่งต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม มั่นใจในตัวเองสูงมาก มีความคิดที่แล่นเร็ว ใช้จ่ายเงินเกินตัว ซึ่งตัวบุคคลเองอาจไม่ได้สังเกตเห็นว่าตัวเองมีความปกติก็ได้ แต่คนรอบข้างจะสามารถสังเกตเห็นสิ่งนี้ได้ อาการนี้จะแสดงออกจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทั้งด้านการงาน กิจกรรมทางสังคม รวมถึงสัมพันธภาพต่อผู้อื่น จนอาจต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
. - Hypomanic episode คือ ภาวะที่มีอาการคล้าย Manic episode แต่ว่าความรุนแรงจะน้อยกว่า ไม่มีอาการโรคจิตเภท ไม่ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
. - Depressive episode คือ ภาวะที่บุคคลจะซึมเศร้า ความสนใจในกิจกรรมต่างๆ น้อยลงอย่างมาก มีอาการเบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากกว่าปกติ นอนไม่ค่อยหลับ รู้สึกตัวเองไร้ค่า สิ้นหวัง อ่อนไหวง่าย ใจลอย ความจำแย่ลง รู้สึกว่าตัวเองไม่รู้จะอยู่ไปทำไม
.
ภาวะต่างๆ เหล่านี้ สามารถเกิดขึ้นได้ในโรคกลุ่มไบโพลาร์ ซึ่งหลายๆ คนอาจจะคิดว่า ไบโพลาร์มันก็น่าจะมีแค่โรคนี้โรคเดียวหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้ว ยังมีอีกหลายโรคที่อยู่ในกลุ่มนี้โดย The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders หรือ DSM-5 ได้กำหนดว่าโรคในกลุ่มอาการนี้มีทั้งหมด 7 โรค ได้แก่
- Bipolar I disorder
- Bipolar II disorder
- Cyclothymic disorder
- Substance / Medication- induced bipolar and related disorders
- Bipolar and related disorder due to another medical condition
- Other specified bipolar and related disorders
- Unspecified bipolar and related disorders
.
สำหรับโรคที่สำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ Bipolar I disorder, Bipolar II disorder และ Cyclothymic disorder
อูก้าจึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักทั้ง 3 โรคคร่าวๆ นี้กัน
.
- Bipolar I disorder จะมีความโดดเด่นตรงที่ manic episode จะมีอาการนานอย่างน้อย 1 สัปดาห์และจะสลับกับ depressive episode นานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ซึ่งอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นต่อกันทันที หรือ อาจเกิด depressive episode ก่อนก็ได้ หลายๆ ครั้งผู้ป่วยโรคซึมเศร้า รักษามาเป็นปีๆ จึงค่อยมีอาการของ manic episode ตามมา จึงถูกวินิจฉันว่าเป็นไบโพลาร์ ทั้งนี้ bipolar I disorder อาจมีอาการช่วง hypomanic ร่วมด้วยก็ได้
. - Bipolar II disorder มีอาการรุนแรงน้อยกว่า bipolar I disorder และมีความต่างสำคัญตรงที่จะไม่มีช่วง manic แต่จะเป็น hypomanic episode สลับกับ depressive episode แทน โดยจะมีอาการแต่ละช่วงอย่างน้อย 1 ครั้ง ไม่มีอาการของโรคจิตเภท และโรคสามารถกระทบต่อชีวิตประจำวันทั้งด้านสัมพันธภาพและการงานได้
. - Cyclothymic disorder มีอาการของโรคที่น้อยกว่าไบโพลาร์ทั้งสองลักษณะข้างต้น แต่จะเป็นบ่อยๆ และมีความเรื้อรังมากกว่า โดยมีอาการ Hypomanic episode และ Depressive episode แต่ไม่ครบเกณฑ์วินิจฉัย ช่วงละหลายๆ ครั้ง และไม่รุนแรง เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี
.
สำหรับอาการและข้อมูลของโรคนั้น อูก้านำมาให้ทุกคนอ่านกันเพียงคร่าวๆ เท่านั้น ฉบับเต็มสามารถหาอ่านได้จาก DSM-5 ซึ่งเป็นแนวทางมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช
.
แล้วถ้าเราเจอคนที่มีอารมณ์แปรปรวนบ่อยๆ บางทีก็เศร้า เหนื่อย ท้อแท้ บางทีก็มีความสุข มีพลังงานมากมายมาจากไหนก็ไม่รู้ เป็นแบบนี้สลับกันในวันเดียว เขาจะเป็นไบโพลาร์หรือเปล่า ?
โดยปกติแล้ว บุคคลทุกคนจะมีอารมณ์แปรผันไปตามสถานการณ์ที่ต้องเผชิญความเครียด ความตื่นเต้น การสูญเสีย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามปกติอยู่แล้ว หรือแม้แต่ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงก็สามารถส่งผลต่ออารมณ์เราได้
ดังนั้นไม่ต้องกังวลมากจนเกินไป หากบุคคลนั้นสามารถควบคุมและรับมือกับมันได้ก็อาจจะไม่ได้เป็นโรค แต่ถ้าเราสังเกตได้ว่าเขามีอาการที่เหมือน Depressive episode เป็นระยะเวลานานเหมือนที่เกณฑ์ได้กล่าวไว้ หรือมีอาการในภาวะ Manic episode จนคนรอบตัวหลายๆ คนเริ่มสังเกตถึงความผิดปกติได้ บุคคลนั้นก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคไบโพลาร์ ควรเข้ารับการตรวจเพื่อรักษาต่อไป
.

สรุปง่ายๆ ไบโพลาร์ไม่ใช่โรคที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ภายในวันเดียว แบบนั้นเรียกว่าอารมณ์แปรปรวน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ วิธีแก้ไขง่ายๆ คือหลีกเลี่ยงจากความเครียด ฝึกการทำจิตใจให้สงบ พักผ่อนให้เพียงพอ หรือระบายปัญหาที่มีกับคนที่ไว้ใจได้
.
อาจจะเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือนักจิตวิทยาก็ได้ แต่ถ้าหากอารมณ์แปรปรวนที่เป็นอยู่ เริ่มเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน โดยแต่ละช่วงมีความยาวนานมากจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของตนเอง และคนรอบข้างสังเกตได้ มันอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่า คุณควรจะพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาแล้ว
.
ทั้งนี้หากคุณกำลังสงสัยว่า ตัวเราเป็นไบโพลาร์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีอารมณ์ที่แปรปรวนมากกว่าปกติจนคนรอบข้างสังเกตได้และกระทบต่อชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาจิตแพทย์และเข้าทำการรักษา ดีกว่าปล่อยให้สิ่งนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคุณ
.
อูก้าอยากชวนให้เข้ามาพูดคุยปรึกษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านแอปพลิเคชัน ooca ได้เลย อูก้าจะยินดีดูแลจิตใจและรับฟังเสมอนะ ❤️
ที่มา
http://medinfo2.psu.ac.th/psychiatry/elearning/document/undergrade/Document year 4/depressive .pdf
https://medicaidmentalhealth.fmhi.usf.edu/_assets/file/Guidelines/2017-2018 Treatment of Adult Bipolar Disorder.pdf
Recent Comments