ในสังคมปัจจุบันการแข่งขันที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนเราต้องพยายามทำให้ตนเองพัฒนาและเอาชนะคนอื่นอยู่เสมอ สิ่งนี้เองทำให้หลายคนกดดันตัวเองและอยากทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ รู้สึกว่าตัวเองจะล้มเหลวไม่ได้ ทุกอย่างต้องเพอร์เฟค เมื่อเราคาดหวังกับความสมบูรณ์แบบ แต่สิ่งที่ได้กลับมามันไม่ใช่ เราจะเริ่มกังวล รู้สึกว่าตัวเองทำได้ไม่ดีพอ คอยโทษตัวเอง เราเรียกอาการนี้ว่า Atelophobia (โรคกลัวตัวเองดีไม่พอ) หรืออาการกลัวความไม่สมบูรณ์แบบ


.

Atelophobia เป็นโรคกังวลว่าจะทำผิดพลาด กลัวความไม่สมบูรณ์แบบ หรือการทำได้ไม่ดีพอ เพราะตนเองมีมาตรฐานที่สูง และความกลัวนี้เองส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต หากคุณกำลังสงสัยว่าตนเองอาจจะเป็น Atelophobia หรือเปล่า อูก้ามี 3 สัญญาณเตือนที่อยากให้เพื่อนๆ ลองเช็คกันดู

1. คุณกลัวข้อบกพร่อง
คุณจะเกิดการตอบสนองอย่างรุนแรงต่อความไม่สมบูรณ์หรือความผิดพลาดที่คุณได้ทำ นั่นทำให้คุณกลัวที่จะทำมัน
2. คุณหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่คุณจะทำผิดพลาด
คุณหลีกหนีการกระทำสิ่งนั้นเพราะคุณกลัวผลลัพธ์ที่จะตามมา คุณไม่อยากทำผิดพลาด ไม่ใช่ว่าคุณกลัวการตัดสินจากคนอื่น แต่เป็นเพราะตัวคุณเองมากกว่า
3. มาตรฐานของคุณสูงเกินไป
การมีมาตรฐานที่สูง ทำให้คุณพยายามหาข้อบกพร่องในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ แล้วแก้ไขมันไปเรื่อยๆ ทั้งที่จริงมันอาจจะดีแล้วก็ได้
.

Atelophobia อาจเกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ฝังใจ หรือการถูกทำร้ายทางร่างกาย การเลี้ยงดูก็มีผลเช่นเดียวกัน นอกจากนี้เมื่อโตขึ้นมา สภาพแวดล้อมการทำงานที่มีการแข่งขันสูงและกดดันให้เราต้องเก่งอยู่เสมอสามารถเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดได้
.

หลายๆ คนอาจเริ่มสงสัยว่า Atelophobia กับ Perfectionism มันเหมือนกันมั้ย จริงๆ แล้วทั้งสองอย่างนี้มีความคล้ายคลึงกันมากๆ มีเพียงข้อแตกต่างเดียวที่เด่นชัด นั่นคือ Perfectionists ตั้งมาตรฐานตัวเองไว้สูง แต่ก็พยายามที่จะไปถึงตรงนั้นให้ได้ ทำทุกอย่างให้ดีขึ้นเพื่อพัฒนาตนเอง แต่คนที่มีอาการของ Atelophobia จะหลีกหนี ไม่ยอมทำอะไรเลยเพื่อให้ไปถึงตรงนั้น เพราะกลัวความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น
.

ส่วน Atelophobia กับ Imposter Syndrome นั้น มีความแตกต่างกันในหลายแง่มุม Imposter Syndrome เป็นอาการที่จะเกิดความสงสัยในตัวเอง ว่าเราด้อยประสิทธิภาพ สิ่งที่ประสบความสำเร็จนั้นก็น่าจะมาจากโชคช่วยหรือปัจจัยภายนอก เรามันคนขี้เกียจ ไม่ฉลาด คงไม่คู่ควรกับความสำเร็จนั้น และยังกลัวอีกว่าสักวันหนึ่งความจริงอาจเปิดเผยว่าเราไม่เก่งจริงๆ ด้วย บางคนจึงจะพยายามที่จะพัฒนาตนเองให้ดี มีแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ เพื่อไม่ให้ใครมากล่าวหาว่าพวกเขาหลอกลวง ทั้งนี้ Imposter Syndrome สามารถพบได้ในบุคคลที่เป็น Social Anxiety Disorder (SAD) ซึ่งมีความรู้สึกว่าตนเองไม่คู่ควรที่จะอยู่ในสถานการณ์นี้ หรือความสามารถนี้ แต่ก็ไม่ใช่ผู้ป่วย SAD ทุกคนจะมีอาการของ Imposter Syndrome

.
ในขณะที่ Atelophobia ซึ่งเป็นหนึ่งใน Anxiety Disorder จะเป็นโรคที่กลัวความไม่สมบูรณ์แบบ กลัวคำวิจารณ์ การล้มเหลว แม้ในบางครั้งจะเป็นการทำสิ่งที่ธรรมดาๆ ง่ายๆ ก็ยังก่อให้เกิดความกลัวและรู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่ได้มีแรงจูงใจที่จะทำสิ่งต่างๆ มองความจริงของชีวิตบิดเบือน นอกจากนี้ยังมีอาการทางกาย เช่น การนอนไม่หลับ ภาวะการหายใจเร็วมากเกินปกติ อาการย้ำคิดย้ำทำ เหงื่อออกง่าย เป็นต้น และอาจพบร่วมกับโรคซึมเศร้า ความคิดอยากทำร้ายตนเอง รวมถึงพบในผู้ป่วยโรค Anorexia Nervosa และ Bulemia Nervosa ซึ่งทั้งสองโรคเป็นกลุ่มโรคการกินผิดปกติ (Eating Disorders) ผู้ป่วยจะน้ำหนักน้อยผิดปกติ กลัวอ้วน และมีความคิดเกี่ยวกับน้ำหนักตัวและรูปร่างที่ผิดไปจากความเป็นจริง Anorexia จะกินน้อย ออกกำลังกายหนัก ส่วน Bulemia จะกินมากผิดปกติจนทำให้รู้สึกผิด แล้วจึงล้วงคอเพื่ออาเจียนออกมา

.
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาของคนที่เป็น Atelophobia คือจะวิตกกังวลอย่างมาก มีความกลัวและคิดว่าทุกอย่างอาจไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวังจนไม่สามารถทำอะไรได้ เมื่อมันมากระทบชีวิตประจำวัน บางทีคนที่เป็นอาจจะไม่ได้สังเกตความผิดปกตินั้น แต่คนรอบข้างต้องหมั่นช่วยกันดูแลและสังเกตอาการ หากมีมากเกินไป ควรเข้ารับการบำบัดรักษาโดยจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ซึ่งอูก้าก็มีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่สามารถให้พูดคุยและให้คำปรึกษาได้ โดยผ่านแอปพลิเคชัน ooca เพราะอูก้ายินดีดูแลจิตใจและรับฟังทุกคนเสมอ ❤️
.

#OOCAknowledge