ถ้าพูดถึงเรื่องเรื่องความรักแล้ว เมื่อใครคนหนึ่งอ่อนแรงลง ก็ย่อมจะต้องมีอีกคนที่มั่นคงกว่า มาประคองความรักนี้ไว้ เพื่อให้ความสัมพันธ์ไปต่อได้
.
นี่คือหนึ่งในรูปแบบความสัมพันธ์หนึ่งในทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “ความผูกพันแบบมั่นคง (Secure)” หรือ ความสัมพันธ์ที่ใครคนหนึ่งจะรู้สึกสบายใจเมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เห็นคุณค่าในตนเองและให้ความสำคัญกับการเป็นตัวของตัวเอง
.
แล้วแบบนี้ถ้าในทางกลับกันเราไม่สบายใจกับรักครั้งนี้ จะทำอย่างไรดี? เรื่องนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของความรู้สึกที่ไม่มั่นคง (Insecure) ในจิตใจ ซึ่งแน่นอนว่าเกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็ก หรือระหว่างการเติบโตมา เจอเรื่องราวที่กระทบกระเทือนจิตใจ
.
รูปแบบความสัมพันธ์ของคน Insecure คือต้องการความรักและอยากให้คนรักตอบแทนเราด้วยสิ่งเดียวกัน บุคคลจะมองหาพื้นที่ปลอดภัยจากคนรัก และกลัวการถูกทอดทิ้ง หลายๆ ครั้งจึงยอมทำตามใจคนรักตลอด เพื่อให้เขารักเราตอบ ไม่กล้าบอกความในใจเพราะกลัวเขาหนีเราไป หรือถ้ามีอะไรที่ผิดพลาด เราจะเริ่มต้นด้วยการโทษตัวเองก่อนเป็นอย่างแรก
.
ทั้งนี้ทั้งนั้น เรากลับมาดูเรื่อง “ความสัมพันธ์” กันก่อนดีกว่า
.

John Bowlby จิตแพทย์ชาวอังกฤษ เจ้าของทฤษฏี Attachment theory กล่าวว่า ในวัยเด็ก ความสัมพันธ์นั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เหมือนเป็นสิ่งปลอดภัยสิ่งเดียวที่จะทำให้ดำรงชีวิตต่อไปได้ การตอบสนองจากผู้เลี้ยงดูจะสร้างให้เด็กเกิดความคาดหวังในความสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดู และสุดท้ายจะกลายเป็นความคาดหวังต่อบุคคลที่ผูกพันด้วยอย่างคงทนไปตลอดชีวิต
.
และ Kim Bartholomew ก็ได้พัฒนารูปแบบความผูกพันออกมาได้ 4 แบบ ได้แก่
1. รูปแบบความผูกพันแบบมั่นคง (Secure) บุคคลจะรู้สึกสบายใจเมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เห็นคุณค่าในตนเองและให้ความสำคัญกับการเป็นตัวของตัวเอง
2. รูปแบบความผูกพันแบบหมกมุ่น (Preoccupied) บุคคลจะมีความรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า วิตกกังวลในความสัมพันธ์ และจะพยายามอย่างมากที่จะเข้าหารวมถึงการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้อื่น และอยากได้การยอมรับจากคนที่ใกล้ชิดด้วย ซึ่งรูปแบบความผูกพันแบบหมกมุ่นนี้แหละ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคง ที่เรากำลังพูดถึง
3. รูปแบบความผูกพันแบบหมางเมิน (Dismissing) บุคคลจะปฏิเสธและหลีกเลี่ยงที่จะใกล้ชิดกับผู้อื่น ให้คุณค่ากับความอิสระ และคิดว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดมันไม่จำเป็น
4. รูปแบบความผูกพันแบบหวาดกลัว (Fearful) บุคคลจะมีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ หวาดกลัวที่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเพราะกลัวจะถูกปฏิเสธ มีความวิตกกังวลในความสัมพันธ์อย่างมาก

.
อย่างที่เกริ่นไปในตอนต้นว่า เมื่อใครคนหนึ่งอ่อนแรงลงในความสัมพันธ์ ก็ย่อมจะต้องมีอีกคนที่มั่นคงกว่า มาประคองความรักเอาไว้ เพื่อให้เดินหน้าไปต่อได้ แต่ปัญหาที่เกิดคือ คนที่ Insecure อาจจะเผลอทำให้คน Secure เริ่มไม่มั่นคงได้ ไม่ได้การซะแล้วแบบนี้!
.
• สร้าง Self-esteem ให้กับตัวเอง เพราะงานวิจัยต่างๆ บอกว่า คนที่ Insecure มักจะมีการเห็นคุณค่าในตนเองที่ต่ำ วิธีเพิ่ม Self-esteem ง่ายๆ อูก้าเคยนำเสนอไปบ้างแล้ว ลองมาอ่านโพสต์นี้กันดูนะ (มาเพิ่ม Self-Esteem กันเถอะ)
.
• ดูแลตัวเองให้ดี ทำให้ตัวเองมีสุขภาพทั้งกายและใจที่ดี ดูแลและใส่ใจความต้องการของตนเอง ไม่ใช่ว่าเราจะดูแลแต่คนรักแล้วไม่สนใจตัวเอง ทำให้ตัวเองดึงดูดและน่าสนใจโดยการหากิจกรรมอื่นๆ ทำ นอกจากการตามติดคนรักไปตลอด ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง กับกิจกรรมที่อยากทำ
.
• เชื่อมั่นในตัวเอง ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์แบบ Secure จะต้องเชื่อมั่น เชื่อใจในตัวคนรัก แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือเชื่อในตัวเราเอง รู้ว่าลึกๆ ความต้องการของตัวเองคืออะไร ไม่ลืมว่าเราเป็นใคร เชื่อมั่นในความรู้สึกที่ตัวเองมี อย่าหนีหรือเก็บมันไว้
.
• ให้อิสระกับคนรักบ้าง เราไม่จำเป็นจะต้องตามคนรักไปทุกๆ ที่ ตัวติดกันเป็นปาท่องโก๋ แต่ละคนย่อมมีชีวิตและสังคมของตัวเอง เราเองก็เช่นกัน การที่เราปล่อยคนรักไปพบปะเพื่อนฝูง ไม่ได้แปลว่าเขาจะไปมีคนอื่นจนทำให้เราคิดมาก เขาไม่ได้ทำร้ายจิตใจเรา อย่าให้ความคิดลบๆ มาอยู่เหนือความจริงเลยนะ
.
• อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ถ้าเรารู้สึกว่าใช้เวลาในโซเชียลมีเดียมากเกินไปแล้ว พยายามตามส่องดูคนรักเก่าของแฟน หรือเพื่อนๆ ที่เขาไปสังสรรค์ด้วยมากเกินไป จะทำให้เราวิตกกังวลมากขึ้นจนกระทบจิตใจเรา คุณคือคนที่ดีในแบบของตัวคุณเอง ไม่ต้องไปเทียบกับคนเก่าๆ หรือเพื่อนๆ ของเขาหรอกนะ
.
หากใครยังมีความรู้สึกกังวลในความสัมพันธ์ เครียด วิตกกับสิ่งต่างๆ รอบตัวจนรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว เราอยากลองให้เข้ามาพูดคุยปรึกษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านแอปพลิเคชัน ooca นะ อูก้ายินดีที่จะรับฟังทุกคนเสมอ
Recent Comments