หลายๆ คนอาจมีความสงสัยกันว่า นักจิตวิทยาในประเทศไทย บางครั้งก็เรียกนักจิตวิทยาคลินิก บางทีก็เรียกนักจิตวิทยาการปรึกษา มันเหมือนกัน หรือว่าต่างกันอย่างไร วันนี้อูก้าจะมาช่วยไขข้อข้องใจนั้นให้เพื่อนๆ กัน
ในสมัยก่อน ข้อแตกต่างเริ่มแรกคือ นักจิตวิทยาคลินิก จะเน้นไปที่การดูแล บำบัดคนไข้ที่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีความเจ็บป่วยที่ทำให้เกิดความเว้าแหว่ง และต้องการถูกเติมเต็ม ส่วนนักจิตวิทยาการปรึกษา เริ่มต้นจากบุคคลที่การเปลี่ยนผ่านของชีวิตที่ทุกคนต้องพบเจออยู่แล้ว โดยเริ่มที่ setting โรงเรียน มหาวิทยาลัย ปัญหาที่พบ คือเรื่องที่คนทั่วไปพบเจอได้ ไม่ได้ร้ายแรงมากนัก เช่น ทำยังไงให้คนปรับตัว รับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น และจะเน้นให้เกิดความงอกงาม
ปัจจุบัน นักจิตวิทยาคลินิกจะทำหน้าที่ตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาผู้ที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ ความคิด อารมณ์ พฤติกรรม อาจเป็นผู้ป่วยจิตเวชหรือบุคคลทั่วไปก็ได้ รวมถึงการทำแบบประเมินทางจิตวิทยา มีเกณฑ์ที่ชัดเจน ซึ่งนักจิตวิทยาคลินิกจะทำงานร่วมกับจิตแพทย์ตามโรงพยาบาลหรือหน่วยงานทางการแพทย์ต่างๆ
ในส่วนของนักจิตวิทยาการปรึกษา จะมุ่งเน้นให้ผู้มีปัญหาได้ทำความเข้าใจกับปัญหาของตน และมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง โดยนักจิตวิทยาการปรึกษา มีหน้าที่เป็นผู้เอื้อให้ผู้มีปัญหาได้เข้าใจปัญหาของตนอย่างชัดเจนที่สุด นักจิตวิทยาการปรึกษาจะไม่เข้าไปบงการ แนะนำ หรือแทรกแซง ผู้รับบริการ แต่ละช่วยให้เขาสามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตัวเอง การทำงานสามารถเป็นนักจิตวิทยาได้ตามโรงเรียน สถาบันการศึกษา หน่วยงานทางสุขภาพจิตต่างๆ
นักจิตวิทยาคลินิก จะต้องเข้าเรียนตามคณะที่มีการสอนในสาขาจิตวิทยาคลินิก ระดับปริญญาตรีที่เปิดสอน เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น หากต้องการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาต (License) เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาจิตวิทยาคลินิก บัณฑิตจะต้องเข้าอบรมหลักสูตร “การฝึกปฏิบัติงานด้านจิตวิทยาคลินิก” และฝึกงานในสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการวิชาชีพสาขาจิตวิทยาคลินิก เพื่อพัฒนาทักษะและความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อวิชาชีพ นอกจากนี้หากสนใจในหลักสูตรปริญญาโทสาขาวิชาจิตวิทยาคลินิกของมหาวิทยาลัยมหิดลก็จะมีการฝึกงาน ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในวิชาบังคับระหว่างเรียนด้วย ซึ่งนี่จะเป็นข้อแตกต่างจากจิตวิทยาการปรึกษา
ความแตกต่างของนักจิตวิทยาคลินิก และนักจิตวิทยาการปรึกษา ไม่ได้เป็นขาวกับดำเสมอไป ในประเทศไทยทั้งสองอาชีพนี้มีความทับซ้อนกันอยู่ ทั้งวิธีการบำบัด เช่น CBT (Cognitive Behavioral Therapy) เป็นจิตบำบัดชนิดหนึ่งที่มีเป้าหมายเพื่อจัดการกับอารมณ์ในทางลบของมนุษย์ (เช่น เศร้า กังวล โกรธ ฯลฯ) ด้วยการปรับเปลี่ยนความคิด (Cognitive) และพฤติกรรม (Behavioral) นักจิตวิทยาการปรึกษาก็สามารถใช้วิธีนี้ในการบำบัดได้เช่นกัน
การพบกับนักจิตวิทยาเพื่อพูดคุยในไทย จะสามารถพบนักจิตวิทยาการปรึกษาได้ง่ายกว่า ทั้งตามสถานพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัยต่างๆ หรือของเอกชน เนื่องจากนักจิตวิทยาคลินิกนั้นที่ทำงานตามโรงพยาบาล งานจะค่อยข้างเยอะ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำเรื่องแบบประเมิน ไม่ค่อยได้มาคุย 1:1 กับตัวผู้ป่วยเหมือนกับการไปรับคำปรึกษา สิ่งที่นักจิตวิทยาคลินิกในไทยสามารถทำได้โดยส่วนใหญ่จึงเป็นการบำบัดแบบกลุ่ม
หากเพื่อนๆ มีเรื่องไม่สบายใจและต้องการพูดคุยกับใครสักคน อูก้าอยากชวนให้เข้ามาพูดคุยปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ผ่านแอปพลิเคชัน ooca ได้เลย อูก้าจะยินดีดูแลจิตใจและรับฟังเสมอนะ ❤️
ขอบคุณข้อมูลจาก ผศ.ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ อาจารย์ จากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Recent Comments