เคยไหมที่หมดพลังไปมากมายกับเรื่องราวทั้งหลาย ที่เข้ามาให้เราตัดสินใจ ทั้งงาน ความสัมพันธ์ การใช้ชีวิตประจำวัน ขนาดเลือกว่าจะกินอะไร ที่ไหนดีในช่วงเที่ยง เราก็ใช้เวลาไปมากเพื่อเลือกบางสิ่งบางอย่างให้กับตัวเองและคนอื่นๆ แต่คิดดูดีๆ มันก็ไม่ได้ใช้แรงกายอะไรมากนี่นา แล้วอะไรที่ทำให้เราเป็นแบบนั้น


⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
ความเหนื่อยใจก็เหมือนความเหนื่อยกายนั่นแหละ เราจะรู้สึกเหนื่อยล้าเมื่อมีสิ่งที่เข้ามามาก ทำให้เราต้องตัดสินใจมากขึ้น ซึ่งหมายถึงเรากำลังเผชิญอยู่กับสภาวะ “Decision Fatigue” หรือ “ความเหนื่อยล้าจากการตัดสินใจ “ซึ่งเรามีโอกาสที่จะตัดสินใจผิดพลาดสูงมากขึ้น” กว่าเดิมเมื่ออยู่ในสภาวะนี้
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
“ยิ่งเรื่องที่ต้องตัดสินใจมีความซับซ้อนมาก พลังของเราก็จะหมดไวมากเช่นกัน” เมื่อเกิดสภาวะนี้ขึ้น เราจะรู้สึกเหนื่อย หัวสมองตื้อๆ และอาจรู้สึกแย่ไปทั้งวัน อยากให้แต่ละวันผ่านไปเร็วๆ อีกทั้งมีพฤติกรรมที่ตามมา เช่น ไม่มีการยับยั้งในการตัดสินใจซื้อของต่างๆ เพราะเมื่อตัดสินใจเรื่องอื่นๆ มากมายไปแล้ว เรามีแนวโน้มที่จะตัดสินใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบเร็วๆ การซื้อขนมที่ชั้นวางหน้าแคชเชียร์ การใจอ่อนกับของที่ลดราคา หรือในบางเรื่อง เราอาจจะไม่ตัดสินใจเลือก และเลือกหนีสิ่งนั้นแทนก็ได้
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
แล้วเราจะทำยังไง ในวันที่มีการตัดสินใจมากมายถาโถมเข้ามา
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
– ลองจัดลำดับความสำคัญ เลือกทำสิ่งที่สำคัญต่อตัวเรามากที่สุดก่อนตั้งแต่หัววัน เพื่อรักษาพลังของเราไว้เพื่อสิ่งเหล่านี้
– เลือกสนใจในสิ่งที่สำคัญ บางทีการที่คอยมองโทรศัพท์หรือข้อความตลอดเวลาจะทำให้เราวอกแวกและใช้เวลากังวลไปค่อนข้างมากกับสิ่งนั้น ทำให้เรายิ่งเหนื่อย
– ลองเปลี่ยนพฤติกรรมง่ายๆในชีวิตประจำวันดู ตัวอย่างที่คนมักนำมาใช้คือ การเลือกเสื้อผ้าที่จะใส่ อดีตประธานาธิบดี Barack Obama เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมมักจะใส่สูทสีเทาหรือน้ำเงินเท่านั้น เพื่อลดจำนวนเรื่องที่จะต้องตัดสินใจ ไม่อยากต้องมานั่งคิดว่าจะกินอะไร จะใส่เสื้อผ้าอะไร เพราะผมมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องตัดสินใจมากพอแล้ว”
– อีกวิธีง่ายๆ คือ เมื่อรู้สึกว่าเราเหนื่อยและเริ่มตัดสินใจได้ไม่ดี “ลองพักสักนิดเพื่อชาร์จแบตตัวเอง” ให้สมองและร่างกายได้พักผ่อนบ้างนะ
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
การตัดสินใจเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้าเราเริ่มตัดสินใจยาก หรือเกิดการหนีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น จนกระทบชีวิตประจำวัน อูก้าอยากชวนเพื่อนๆ ให้เข้ามาพูดคุยปรึกษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านแอปพลิเคชัน ooca ได้เลย อูก้าจะยินดีดูแลจิตใจและรับฟังเสมอนะ