“We are human after all”

#สุดท้ายแล้วพนักงานก็คือคนเหมือนกัน

เคยสงสัยไหมว่า ทั้งถูกโค้ชงาน ทั้งตั้ง KPI กับหัวหน้าก็แล้ว แต่ทำไมเรายังทำงานได้ไม่เต็มศักยภาพสักที ทำงานก็ไม่มีความสุข บอกให้ว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่ ‘ที่ทำงาน’ แน่ๆ



ก็เพราะในความเป็นจริง ชีวิตเราไม่ได้มีแต่การทำงาน แต่ยังมีเรื่องส่วนตัวที่ต้องพิชิตและมีจิตใจที่ต้องดูแล ซึ่งสมการของความสุขนี้ง่ายๆ ก็คือการที่เราได้ใช้ชีวิตในการทำงาน และดูแลชีวิตส่วนตัวนอกที่ทำงานได้อย่างสมดุล นั่นคือ ‘Work life balance’ นั่นเอง

จริงไหมเราไม่ได้ทำงานเพียงเพื่อให้ได้เงินเลี้ยงชีพเท่านั้น แต่มีปัจจัยภายในตนเองที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งความต้องการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายได้ทำสิ่งที่รักและถนัด สมหวังในการใช้ชีวิตแล้วมีประโยชน์ต่อคนรอบข้างและสังคมด้วย เรียกได้ว่า ดำเนินชีวิตส่วนตัวได้อย่างราบรื่นและภายในไม่รู้สึกว่างเปล่า

แต่จะว่าไปในความโชคร้ายก็ยังมีเรื่องดีๆ เพราะเมื่อโลกเราต้องมาเผชิญวิกฤติไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชากรโลกหันมาให้ความสนใจเรียนรู้วิชาจิตวิทยา และคุยปรึกษาเพื่อดูแลสุขภาพใจตนเองและคนรอบข้างกันเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและมุ่งสู่วิถีชีวิตใหม่ด้านการดูแลสุขภาพใจ (new normal) เพราะจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าเกือบครึ่งหนึ่ง ของพนักงานยอมรับว่า ‘ปัญหาที่ไม่ใช่การทำงาน (non-work)’ ปัญหาส่วนบุคคลของพวกเขา บางครั้งมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพและผลการทำงาน แล้วแต่อาจส่งผลเสียต่อสมาชิกในทีม และในที่สุดปัญหาส่วนบุคคลที่ไม่ได้รับการดูแล จะลุกลามกลายเป็นปัญหาของทีมทั้งหมด

เรากำลังพูดถึงเรื่อง ’ความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานโดยส่วนรวม (The total life space)’ แล้วการเรียนรู้เรื่องนี้ จะทำให้ชีวิตคนทำงานอย่างเราๆ ดีขึ้นได้อย่างไร เรามาดูไปพร้อมๆ กัน…

The total life space คือ การทำงานที่ได้รับมอบหมายโดยไม่รู้สึกกดดันจนเกินไป มีชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม ไม่คร่ำเคร่งกับงานจนไม่มีเวลาพักผ่อน หรือได้ใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างเพียงพอ ทำงานได้อย่างสบายใจโดยไม่กังวลกับปัญหาส่วนตัวที่รบกวนใจมากเกินไป

เรื่องนี้สอดคล้องกับการทำการบ้านจากบริษัทชั้นนำ 10 อันดับแรกของประเทศไทยที่คนอยากเข้าทำงานมากที่สุด เพราะบริษัทเหล่านั้นไม่ได้มีเพียงปัจจัยสำคัญในเรื่องโอกาสความก้าวหน้า ผลตอบแทน และความมั่นคงเท่านั้น แต่มีเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีส่วนตัวและการทำงานและสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ที่สำคัญที่ไม่แพ้กันเลยสักนิด ดังนั้น การที่หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานที่ใส่ใจเรื่องราวจิตใจของเพื่อนร่วมงาน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาส่วนบุคคลของพนักงาน และการเรียนรู้จะอยู่กับวิกฤตที่เข้ามา จึงจำเป็นไม่แพ้เรื่องไหนๆ ในการทำงาน



อย่างที่บอกว่าเพราะพนักงานก็คือคนเหมือนกัน ทุกคนมีเรื่องส่วนตัวที่ต้องใส่ใจดูแล การทำงานจึงไม่ได้มีเฉพาะแต่เรื่องงานอีกต่อไป และเพื่อช่วยให้งานได้ผล และซึ้งใจคน เราจึงมีพื้นฐานการดูแลใจเชิงจิตวิทยา ที่เพื่อนสามารถสนับสนุนกันและกันยามเพื่อนเผชิญปัญหา รับรองว่าทำตามได้ง่ายๆ และสบายใจ

1. #เป็นเพื่อนที่พูดภาษาเดียวกัน

ไม่จำเป็นที่ต้องเป็นคนบ้านเดียวกันเท่านั้น เพื่อนที่พูดภาษาเดียวกัน หมายถึง การเปิดใจยอมรับ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ มีเพื่อนสนิทไว้แบ่งปันความคิด ความสุข ความทุกข์ในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เป็นเพื่อนที่ช่วยทำให้เพื่อนอีกคนสบายใจที่ได้อยู่ด้วย เมื่อเราสามารถพัฒนาความรู้สึกสนิทสนมและผูกพันกับผู้อื่นได้ เราเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง มีกำลังใจมากขึ้นเมื่อเผชิญปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เพื่อนๆอย่าลืม ให้คำพูดดีๆ ที่เพื่อนของเราฟังแล้วรู้สึกดี (words of affirmation) บ่อยๆ



2. #เป็นเพื่อนที่มองเห็นคุณค่า

เพราะคนไม่ใช่วัตถุสิ่งของ แต่มีชีวิตจิตใจให้ดูแล ในหนังสือ ‘ทางเลือกที่3 ประสานพลังความคิดพิชิตปัญหาทุกรูปแบบ’ ของ แฟรงคลิน โควีย์ บอกว่า สำหรับฉันแล้ว เพื่อนไม่ใช่วัตถุสิ่งของ ไม่ใช่เครื่องมือที่ฉันนำมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายของตนเอง การตีความว่าผู้อื่น คือท่าน มีข้อดี มีคุณค่าและความสามารถพิเศษเฉพาะตัว ชวนให้เราเกิดท่าทียกย่อง นับถือ แสดงออกถึงความใกล้ชิด เปิดเผย และไว้ใจ ขณะที่การตีค่าผู้อื่นเป็นวัตถุ หรือเป็นแค่ทรัพยากรอย่างหนึ่ง แสดงออกถึงความรู้สึกห่างเหิน เมินเฉย และเกิดการเอาเปรียบ ดังนั้น หากเพื่อนพบปัญหา เราเป็นคนหนึ่งที่อาจช่วยกระตุ้นให้เขามองเห็นข้อดีและรับรู้ความสามารถแท้จริงในตนเองช่วยให้รับมือปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้นะ

3. #เป็นเพื่อนที่เคารพในคนอื่นและตนเอง

เป็นเพื่อนที่เคารพ ให้เกียรติ และทำตัวเสมอกัน เราคงอึดอัดใจไม่น้อย ถ้าเพื่อนบางคนคอยตำหนิวิจารณ์เราอยู่ร่ำไป อันนี้ก็ไม่ได้ อันนั้นก็ไม่ดี ไม่สนใจสิทธิของผู้อื่นบ้างเลย การเคารพในที่นี้ไม่ได้หมายถึง การไปมาลาไหว้ผู้ใหญ่เพื่อน แต่คือการเคารพในความเป็นส่วนตัว ในความเป็นตัวตนของเพื่อน ไม่วิจารณ์ล้อเลียนเพื่อนในสิ่งที่เพื่อนเป็น (bullying) ทางจิตวิทยาเรียกว่า การยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข ยอมรับในฐานะที่เขาเป็นคนๆ หนึ่งที่มีศักดิ์ศรี ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ไม่ประเมินหรือตัดสินเพื่อนว่าดีหรือไม่ดี เรายอมรับเพื่อนอย่างที่เป็นอยู่ อย่างไม่แปรเปลี่ยนไม่ว่าเพื่อนทำพฤติกรรมอย่างไร เราก็ยังเห็นคุณค่าของเขาตลอดเวลา

4. #เป็นเพื่อนที่พร้อมรับฟังและมีเวลาให้

เป็นเพื่อนที่คอยรับฟังเพื่อน ในเวลาที่เพื่อนมีความสุขหรือทุกข์ใจ มีเวลาให้กับเพื่อนในเวลาที่เพื่อนต้องการเท่าที่เราจะให้ได้ เพื่อนรู้สึกดีใจ เราก็ควรดีใจด้วย เพื่อนมีปัญหาก็รับฟังได้ แม้เราจะไม่ใช่นักจิตวิทยาให้การปรึกษาก็ตาม ซึ่งการรับฟังควรเป็นไปอย่างไม่ตัดสิน โดยเรารับฟังในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเพื่อน หรือต่อชีวิตของเขา พร้อมแสดงออกถึงความใส่ใจในสิ่งที่เพื่อนพูด ส่งผลให้เพื่อนรับรู้ถึงความจริงใจ เอาใส่ใจ เข้าใจ และไม่ตัดสิน เกิดภาวะที่ทางจิตวิทยาเรียกว่า Empathy คือ ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นและเข้าใจความยากลำบากของผู้อื่นนั่นเอง

5. #เป็นเพื่อนที่แนะนำบริการให้การปรึกษา

การเป็นเพื่อนที่สนับสนุนและแนะนำสิ่งดีๆ ให้กับเพื่อน ในเวลาที่ครอบครัวและเพื่อนอย่างเราๆ มีข้อจำกัดในการช่วยเพื่อนเผชิญวิกฤติเป็นสิ่งที่มีมิตรไมตรี

แต่หลายครั้ง การปรึกษาคนรอบข้างแล้วแทนที่จะได้คำตอบที่เวิร์ค ก็ทำให้เพื่อนเราสับสนและเครียดหนักกว่าเดิมได้ เพราะเรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องส่วนตัวและไม่อยากเปิดเผยให้คนใกล้ตัวรับรู้ การแนะนำให้เพื่อนมีโอกาสพบกับ ‘นักจิตวิทยาการให้การปรึกษา’ ที่สามารถพูดคุยปัญหาได้อย่างสะดวกใจและปลอดภัยเพราะเป็นความลับ และสามารถช่วยเขาสำรวจและประเมินทางเลือกต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผู้เชี่ยวชาญสามารถช่วยตอบคำถามยากๆ ไม่ว่าจะเป็น “ ฉันเศร้ามากหรือซึมเศร้าหรือไม่” หรือ“ ฉันจะควบคุมอารมณ์และหยุดตะโกนใส่คนอื่นอย่างไร” หรือ“ ฉันจะขจัดความกังวลใจและดูแลอาการทางกายที่เกิดขึ้นจากใจอย่างไร?” ซึ่งปัญหาเหล่านี้คนใกล้ตัวและเพื่อนอาจมีข้อจำกัดสำหรับคำแนะนำที่ดี

ดังนั้น ปัญหาของเพื่อนพนักงานสามารถส่งผลกระทบต่อทีมงานทั้งหมดได้ การได้ช่วยเหลือเพื่อนของคุณแก้ปัญหาในขอบเขตความสามารถที่ทำได้ทั้งเรื่องที่ทํางานและที่บ้าน และแนะนำส่งต่อผู้เชี่ยวชาญ เป็นการช่วยเพื่อนทํางานได้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เห็นไหมว่า ‘เพราะพนักงานก็คือคนเหมือนกัน ทุกคนมีเรื่องส่วนตัวที่ต้องใส่ใจ’

เพราะพนักงานควรได้รับการ “ดูแลใจ” ไม่ต่างกัน
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
🏙 ให้องค์กรของท่านมีบริการดูแลใจพนักงาน > https://www.ooca.co/corporate
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/OWPpersonallife

Writer: Nanat Suchiva