เมื่อไม่ตัดสินทุกคนก็ Win-Win แบบพึ่งพาอาศัย
“อย่าทำตัวมีปัญหาให้มากเลยนะ, รู้จักทำตัวให้เหมือนคนธรรมดาเขาบ้างสิ, แกมันแย่, อย่าหวังว่าจะมีใครคบเลยนะเป็นคนแบบนี้” คำพูดพวกนี้มันฟังดูทิ่มแทงใจยิ่งกว่าอะไร เพราะไม่ว่าเราจะเป็นคนที่มีความคิดเป็นของตัวเอง เป็นคนที่มั่นใจในตัวเองแค่ไหน สุดท้ายก็คงรับไม่ได้ที่จะมีใครมาตราหน้าหรือนินทาลับหลังว่าเรามัน ‘นิสัยไม่ดี’ อย่างแน่นอน
เราคงเคยได้ยินมาตลอดว่า “Don’t judge a book by its cover” อย่าไปตัดสินใครท่ีเพิ่งจะได้พบเจอหากยังไม่ได้ทำความรู้จักมักจี่ให้ดีพอ แต่วลีที่ดูแสนจะเลี่ยนนี้แหละ ยังคงสามารถอธิบายปรากฏการณ์หลายๆ อย่างได้ดีและในบทความนี้เราจะมาพูดคุยกันในเรื่องของการทำความรู้จักอาการยอดฮิตอย่าง ซึมเศร้า…

ต้องบอกก่อนบทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อเอาใจใครที่กำลังต่อสู้อยู่กับภาวะหรือโรคซึมเศร้าแล้วให้คนทั้งโลกเขามาเห็นใจในการกระทำบางอย่างที่ไม่ค่อยเข้าท่า หรือ พรรณาเรื่องราวของความไม่ปกติธรรมดาที่เป็นข้ออ้างว่า ‘ป่วย’ แล้วจะทำอะไรให้ใครเดือดร้อนก็ได้ พราะเราอยากให้ใครก็ตามที่ได้อ่านข้อความนี้ ‘มองเพื่อนร่วมสังคมด้วยทัศนคติที่ดีอย่างเปิดใจ’
ก่อนอื่นอูก้าขอทำความเข้าใจกันสักหน่อยเกี่ยวกับคำว่า ‘ซึมเศร้า’ ที่เราเคยได้ยินมากันว่า มันเป็นอย่างไรกันแน่ เพราะคำว่า ‘ซึมเศร้า’ เราแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับใหญ่ๆ ตั้งแต่
ความเศร้าปกติ (Normal Sadness) : สภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เมื่อเผชิญกับการสูญเสีย ผิดหวัง หรือความรู้สึกอึดอัดทรมาน

ภาวะซึมเศร้า (Depression) : อาการตีโพยตีพายเมื่อได้เจอกับความผิดหวัง สูญเสีย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขั้นนี้หนักหน่วงสักหน่อยที่แม้จะได้รับกำลังใจหรืออธิบายด้วยเหตุผล ก็ยังมักจะรู้สึกด้อยค่า รู้สึกผิด และอยากตาย จนมีผลกระทบต่อหน้าที่การงาน กิจวัตรประจำวัน ไปจนถึง

โรคซึมเศร้า (Depressive Disoder) : ไม่ใช่แค่เพียงภาวะที่หายเองได้เหมือนสองอาการด้านบน แต่คือโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งท่ีเกิดขึ้นจากปัญหาของสารเคมีในสมองเพราะความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน ซึ่งมีจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ เพราะนอกจากจะต้องบำบัดอย่างถูกวิธีแล้ว ยังอาจจะต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย

เห็นไหมล่ะ ที่เราเข้าใจกันมาตลอดก็อาจจะผิดทั้งหมดเพราะไม่ใช่ใครๆ ก็เป็นโรคซึมเศร้าได้ เขาหรือเธอคนนั้นอาจเจอเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจมามากมายจนหมดอะไรตายอยาก แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่ใครๆ จะเอามาหักลบกับพฤติกรรมที่กระทบกับความปกติสุขในสังคมขึ้นมาได้ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่หรือที่ภาษาบ้านๆ เหมารวมว่า ‘นิสัยไม่ดี’ เพราะการเผชิญกับสภาวะทางอารมณ์นั้นยังถือว่ามีสติสัมปะชัญญะอยู่ครบถ้วน
แล้วแบบนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นคนที่มีเพียงความหมองเศร้าในจิตใจธรรมดาๆ มีภาวะซึมเศร้า หรือเป็นโรคซึมเศร้ากันแน่?
หากพูดทางหลักการเชิงอาชญวิทยาในทางนิติศาสตร์แล้วจะมีหลักการที่ว่า “ให้สันนิษฐานว่าผู้กระทำความผิดยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการตัดสินจากศาล” แต่สำหรับการอธิบายหลักการทางจิตวิทยาที่พอจะเข้าใจง่ายๆ คือเราไม่ควรไปตราหน้าใครว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้าจนกว่าจะผ่านเกณฑ์ในการวินิจฉัย และที่ทางการแพทย์จะใช้อยู่ 2 ระบบ นั่นคือ
The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders 5th edition (DSM-V) และ ระบบมาตรฐานการจำแนกโรคระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก ฉบับที่ 10 (The international Classification of Diseases 10th revision ; ICD-10)
ครั้งหนึ่งเคยมีผู้ป่วยที่เป็น ‘โรคซึมเศร้า’ และพวกเขายังเป็นเพื่อนร่วมงานในทีมเดียวกันอีกด้วย (โชคดีที่พวกเขารักษาเกือบจะหายขาดแล้วจากการใช้ยาและพบแพทย์อยู่สม่ำเสมอ) แล้วพบว่าตลอดเวลาที่รู้จักกัน พวกเขาไม่เคยปริปากเลยสักครั้งว่าเขาได้รับการรักษามา จนกระทั่งได้เข้าไปพูดคุยเรื่องอาการซึมเศร้า และคนๆ นั้นตอบว่า “คนป่วยจริงๆ เค้าจะไม่พยายามบอกว่าตัวเองป่วยหรอกนะ” (ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกคนไม่ได้เป็นแบบนั้นซะทีเดียว เป็นเพียงความคิดและความเข้าใจจากบางคนที่เป็นซึมเศร้า) นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้ว่าผู้ป่วย Depressive Disorder ประเภทนี้ไม่ได้อยากเป็นคนไม่ดีเพราะเขาป่วย แต่มันคือพฤติกรรมส่วนตัวของเขาทั้งนั้นหากเขาจะมีปฏิกริยาที่ ‘ไม่น่ารัก’ กับเพื่อนร่วมโลก และเขาคงไม่อยากออกตัวว่า “ผมนิสัยไม่ดีเพราะผมป่วยเป็นโรคซึมเศร้า” ด้วยซ้ำไป แต่ต้องขอย้ำว่า ถึงแม้คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะพูดว่าตัวเองป่วยก็ไม่ใช่ความผิด และไม่ควรเป็นความผิดอะไรเช่นกัน ดีเสียด้วยซ้ำ เพราะเป็นการยอมรับตัวเอง และสิ่งที่ตัวเองรู้สึก แปลว่าจะพยายามหาทางออกให้ตัวเอง และเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองและคนรอบข้างหารับมือกับมันอย่างถูกต้อง

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘นิสัยไม่ดี’ เรามองว่าเป็นถ้อยคำที่จับต้องและตีความออกมาค่อนข้างลำบาก (Subjective) ซึ่งหากในบริบทของเรื่องจิตวิทยาแล้วอาจจะพอเทียบเคียงได้กับคำว่า ‘Toxic People’ ที่ไม่ว่าจะเข้าไปอยู่ใกล้ๆ กับใครก็ทำให้เขาต้องท้อแท้ เหนื่อยหน่ายกับความเยอะสิ่งแทบจะทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น ในการตอบคำถามว่า ‘ซึมเศร้าหรือนิสัยไม่ดี’ เราอาจใช้เรื่องการ ‘จำแนกแยกแยะ’ เสียมากกว่า เพราะอะไร? ลองนึกดูง่ายๆ ว่าปกติแล้วเวลาที่เราป่วยไข้ ไม่ว่าจะไอ จาม น้ำมูกไหล เวียนหัว หน้ามืด หรือ แขน ขาหัก สิ่งที่จะบ่งชี้ (Indicator) ว่าเรากำลังไม่สมประกอบ ก็คือ ‘อาการ’ และ ‘เครื่องมือรักษา’ เพื่อให้คนสาธารณะทั่วไปเข้าใจว่าคนๆ นี้กำลังป่วย และการปฏิบัติตัวด้วยก็จะเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย แต่สำหรับผู้ป่วย (หรือผู้ประสบภาวะ) ซึมเศร้าล่ะ พวกเขาก็มีการใช้ชีวิตในสังคมปกติธรรมดาๆ เราอาจจะเห็นพวกเขาปะปนกับเรามาในขบวน BTS ตอนเช้าตอนเย็นก็เป็นได้เพียงแต่การที่พวกเขาไม่ได้แสดงอาการนั้น ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนปกติอย่างเราๆ กัน
พูดมาแสนจะยาวเหยียด ผู้เขียนเพียงอยากจะสื่อสารให้เข้าใจว่า การใช้ชีวิตในสังคมนั้นเราไม่สามารถไปตีตราใครได้จากการเห็นพฤติกรรมครั้งแรก ซึ่งจริงอยู่ที่การแสดงออกคือเจตจำนงของความคิดภายใน แต่ถ้าหากจะกล่าวว่าคนๆ นี้ซึมเศร้าหรือนิสัยไม่ดี เราคงไม่สามารถ ‘ฟันธง’ ได้หากไม่ได้ทำความรู้จักหรือได้รับการยืนยันทางการแพทย์ที่ถูกต้อง และทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ที่กำลังประสบสภาวะทางอารมณ์ไปจนถึงขั้นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็คงจะต้องเห็นใจสังคมภายนอก ที่พวกเขาไม่มีวันรู้ได้เลยว่าคุณกำลังพบเจออะไรที่กระทบจิตใจ จนต้องแสดงพฤติกรรมที่ ‘ดูเหมือน’ จะเป็นปัญหาออกมา เว้นเสียแต่ว่าเจ้าอาการกลุ่มความซึมเศร้า สามารถมีตัวบ่งชี้ให้เราได้เหมือนความเจ็บป่วยทางร่างกายทั่วๆ ไปซึ่งก็รอจับตาดูกันต่อจากนี้ยาวๆ
Writer: Nanat Suchiva
Recent Comments