“ผมว่าบรรยากาศของห้องเรียนเนี่ยมันบอกอะไรเราเยอะ เกี่ยวกับบรรยากาศของวัฒนธรรมของประเทศภาพรวม”

– คุณไอติม พริษฐ์

หลายๆ คนอาจจะได้ดู #MindTalk ในตอนของ คุณไอติม พริษฐ์ กันไปบ้างแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าวงการการศึกษานั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาประเทศของเราได้ หากเกิดปัญหาขึ้น แน่นอนว่าต้องกระทบทั้งตัวนักเรียน ผู้ปกครอง โรงเรียน ครู รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นักเรียนคือผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะถือว่าเป็นวัยเริ่มต้นของการเรียนรู้ ได้ออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงครั้งแรก คือ ที่โรงเรียน ถ้าระบบการศึกษาดี เด็กๆ ก็จะสามารถโตไปอย่างมีคุณภาพได้

วัฒนธรรมในห้องเรียนที่คุณไอติมพูดถึง คือ อยากให้ทุกคนได้แสดงความเห็นอย่างมีเสรีภาพเหมือนอย่างต่างประเทศ หากนักเรียนไม่เข้าใจหรือสงสัยตรงไหน ก็สามารถยกมือถามคุณครูได้เลย แน่นอนว่าขัดกับวัฒนธรรม ค่านิยมของคนไทยที่มีมาตั้งแต่อดีต ว่าห้ามนักเรียนถาม ห้ามท้าทาย ห้ามสงสัย ต้องฟังครู เชื่อครูตลอดการสอน ไม่งั้นอาจถูกลงโทษได้ แม้ในปัจจุบันสิ่งนี้จะไม่ได้เข้มข้นมากเท่าเมื่อก่อน แต่ถ้าจะบอกว่าในปัจจุบันไม่มีแล้วก็คงไม่ได้ รวมถึงการแสดงความคิดเห็นนอกห้องเรียนเช่นกัน

หลายๆคนในตอนนี้ก็น่าจะเชื่อว่า โรงเรียนไม่ควรมากำหนดว่านักเรียนในโรงเรียนห้ามแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ ประเด็นทางสังคมต่างๆ เสรีภาพนั้นเป็นของทุกคน การบังคับยิ่งจะทำให้เกิดการต่อต้าน ผู้ใหญ่หลายคนพูดว่า เด็กมันยังคิดไม่เป็นหรอก แต่ในสมัยนี้ ด้วยการพัฒนาในหลายๆ เรื่อง เชื่อว่าเด็กหลายคนสามารถคิดและมีความเห็นเป็นของตนเองได้

แล้วสุขภาพจิตกับการศึกษา มันจะมาเกี่ยวกันได้อย่างไร ?

สิ่งที่ทุกคนอาจจะรู้แต่มองข้ามไป คือ นักเรียนในไทยแบกรับความเครียดเกินจำเป็น มีทั้งเรื่องกฎระเบียบของโรงเรียน ต้องมีทรงผมที่ถูกต้อง แต่งกายชุดนักเรียนถูกระเบียบ ห้ามใส่แบบนั้น แบบนี้ หลายๆ ครั้งที่ทำผิดก็มักจะโดนลงโทษทั้งทางกาย และคำพูดที่ทำร้ายจิตใจ มีการบูลลี่กันในโรงเรียนทั้งกับเพื่อนด้วยกันเอง และครูที่ชอบแซว หรือพูดจาติดตลกเพื่อให้ดูขำ แต่จริงๆ คนฟังอาจจะไม่ตลกก็ได้ การแข่งขันที่สูง การเป็นลำดับต้นๆ ของชั้นเรียนมักจะได้รับความเอ็นดูจากครูเป็นพิเศษ เหมือนมีสิทธิพิเศษเหนือคนอื่น รวมถึงการแข่งขันที่สูงนอกห้องเรียน การสอบโอเน็ต หรือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ตนเองใฝ่ฝัน การแข่งขันนั้นอยู่ทุกที่จริงๆ จึงทำให้เกิดการเรียนที่อาจมากเกินความจำเป็น ชั่วโมงเรียนในโรงเรียนอัดแน่น 7-8 วิชาต่อวัน และยังไม่รวมเด็กๆ ที่ต้องไปเรียนพิเศษนอกโรงเรียน ทั้งวันธรรมดาตอนเย็น หรือเสาร์อาทิตย์ก็ตาม

คุณไอติมได้แบ่งความเครียดออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 คือ ความเครียดจากการเรียน ทั้งการแข่งขันที่สูงขึ้นทุกๆ ปี ความกดดันจากการสอบที่มีมากครั้ง ทำให้เด็กต้องพยายามเรียนให้มากขึ้น อ่านหนังสือให้หนักขึ้น

กลุ่มที่ 2 คือ ความเครียดที่ไม่ได้เกิดจากการเรียนรู้ ทั้งกฎระเบียบต่างๆ ในโรงเรียน อำนาจของโรงเรียนและครูที่บางครั้งก็ทำเกินหน้าที่ การถูกบังคับและลงโทษที่ไม่สมเหตุสมผล

หากถามถึงวิธีแก้ไข คุณไอติมกล่าวว่า อย่างกลุ่มที่ 1 ให้ลองตั้งคำถามว่า การเรียนในปัจจุบัน วิชาเรียนมันเยอะเกินไปไหม จำนวนชั่วโมงเรียนที่อัดแน่น มีสอบบ่อยครั้งในวิชาเดียว ถึงแม้ครูบางท่านจะบอกว่าการสอบหลายครั้งจะช่วยลดความเครียดและจะได้ไม่กดดันตัวเอง แต่ยังไงก็มีคนที่เครียดเพราะต้องอ่านหนังสือสอบมากครั้งอยู่ดี ส่วนเกณฑ์การเข้ามหาวิทยาลัยอาจมีความไม่ชัดเจนและไม่เกี่ยวข้องกับคณะที่จะเข้า เช่น อยากเรียนจิตวิทยาแต่ต้องใช้คะแนนภาษาที่สามยื่น แต่พอเข้ามาเรียนแล้ว กลับไม่ได้ใช้เลย ทำให้เด็กนักเรียนต้องอ่านหนังสืออย่างหนึ่ง เพื่อเข้าไปเรียนอีกอย่างหนึ่ง มันดูไม่สมเหตุสมผล

ส่วนกลุ่มที่ 2 การใช้อำนาจเกินขอบเขตของโรงเรียน เพื่อบังคับนักเรียนให้ทำบางสิ่งบางอย่าง เช่น การตัดผมนักเรียนที่โรงเรียนโดยนักเรียนไม่ได้สมัครใจที่จะให้ตัด ทำให้นักเรียนคนนั้นอาจสูญเสียความมั่นใจ และไม่กล้าออกมาเจอหน้าเพื่อนๆ ที่โรงเรียน เพราะอาย หรือเรื่องชุดนักเรียน ที่ต่างประเทศให้นักเรียนแต่งกายชุดไปรเวทมาเรียนได้ หรือมหาวิทยาลัยบางแห่งในไทยที่อนุญาตให้แต่งกายแบบไหนมาเรียนก็ได้แต่ต้องสุภาพ ซึ่งความจริงแล้ว ถึงโรงเรียนในไทยจะบอกว่า การแต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบทำให้ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ แต่อุปกรณ์อื่นๆ ทั้งเครื่องเขียน แว่นตา ก็สามารถบ่งบอกว่าเด็กคนไหนที่บ้านมีฐานะได้ ดังนั้นการแต่งกายด้วยชุดไปรเวทตามความสมัครใจของนักเรียนน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม เนื่องจากการที่เราได้ใส่ชุดที่ตนเองรู้สึกมั่นใจ มันจะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เป็นกังวลน้อยลง เมื่อเรื่องนี้กังวลน้อยลง นักเรียนก็สามารถทุ่มแรงกายแรงใจไปที่การศึกษาได้มากกว่ามาเครียดว่า จะถูกคุณครูตัดผมไหม หรือวันนี้เราแต่งกายไม่ถูกระเบียบหรือเปล่า

หากกล่าวว่า บ้านไม่ใช่เซฟโซนของทุกคน โรงเรียนก็อาจจะไม่ใช่เซฟโซนของหลายๆ คนเหมือนกัน นักเรียนหลายคนไม่อยากมาโรงเรียนด้วยเหตุผลต่างๆ นานาที่ได้กล่าวไปข้างต้น แทนที่โรงเรียนจะทำให้เด็กมีความสุข รู้สึกสบายใจที่ได้มาเรียน ได้เจอเพื่อนๆ แต่กลับทำให้เด็กรู้สึกว่าต้องต่อต้านกับความไม่ยุติธรรม ความไม่สมเหตุสมผลที่โรงเรียนมอบให้ สุขภาพจิตของนักเรียนก็ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ปัจจุบันจึงเห็นข่าวว่าเด็กนักเรียนเป็นโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นจนน่าใจหาย ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้เกิด ถ้าไม่ใช่เพราะครอบครัว ก็คงเป็นเพราะเรื่องราวที่โรงเรียน

สิ่งที่ทำได้คงต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน โรงเรียนควรจัดหานักจิตวิทยาและจิตแพทย์มาประจำที่โรงเรียน เพื่ออย่างน้อยที่สุด นักเรียนจะได้มีที่พึ่งพา คนที่สามารถให้ความช่วยเหลือเรื่องจิตใจกับเขาได้ เพื่อนๆ นักเรียนทุกคนก็มีความสำคัญ การซัพพอร์ตจากเพื่อนทำให้เรารู้สึกอุ่นใจ เพราะเพื่อนคือคนสำคัญของเด็กและวัยรุ่น หลายครั้งเวลามีเรื่องอะไร เราไม่กล้าบอกพ่อแม่ เราก็บอกเพื่อนแทน โรงเรียนและครูก็ควรที่จะให้ความช่วยเหลือและดูแลนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช้กฎที่ไม่สมเหตุสมผล สร้างกิจกรรมหรือแคมเปญบางอย่างขึ้นมา เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ถึงปัญหาทางใจที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงแนะแนวหนทางช่วยเหลือ เพื่อให้ทุกคนกลับมามีใจที่แข็งแรง

หากเพื่อนๆ รู้สึกท้อและเหนื่อย ไม่มีใครมารับฟังปัญหาที่เราอยากจะพูด ไม่มีใครเข้าใจเราเลยสักคน อยากให้ลองมารับคำปรึกษาจากพี่ๆ จิตแพทย์และนักจิตวิทยาของอูก้าดู เพราะว่าเรื่องของใจให้เรารับฟัง อูก้าพร้อมช่วยเหลือและดูแลทุกคนเสมอนะ 😊และสำหรับน้องๆ นักศึกษาปริญญาตรี ที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยภาครัฐ น้องๆ สามารถลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ปรึกษาจิตแพทย์ฟรีผ่านโครงการ Wall of Sharing www.wallofsharing.com ได้เลยนะ