แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าคนที่เราเทใจให้ไป…เขารักเราจริงๆ ?
.
รักมันมีมากมายหลายแบบ…เจ็บทั้งแสบทั้งคัน ใช่แล้วเพื่อนๆ ความรักของมนุษย์มันมีหลายรูปแบบจริงๆ ทั้งความรักแบบเพื่อนกับเพื่อน พ่อแม่กับลูก ลูกกับพ่อแม่ น้องรักพี่ พี่รักน้อง ญาติผู้ใหญ่รักหลานๆ หัวหน้างานรักลูกน้อง รักแบบแฟนหรือคู่รัก รักหมา รักแมว รักสิ่งของ และอีกมากมายนับไม่ถ้วน
หลายครั้งที่เราพยายามหา ‘นิยามรัก’ ว่ามันเป็นแบบไหน ก็ให้คำตอบยากเหลือเกิน แต่ถ้าให้อธิบายมันทางความสัมพันธ์อาจจะบอกได้ง่ายๆ ว่ามันคือการที่เราเอาตัวเข้าไป ‘ผูกพันและให้คุณค่า’ กับสิ่งนั้นๆ (ไม่ว่าจะคน สัตว์ สิ่งของ) โดยมีการแปลความหมาย ยกตัวอย่างเช่น เรารักรถคันนี้มาก เพราะรถคันนี้เป็นรถคันแรกที่พ่อซื้อให้เป็นของขวัญตอนเรียนจบ หรือ ผู้หญิงคนหนึ่งรักแหวนวงนี้ของเขามากเพราะแหวนวงนี้เป็นแหวนที่แฟนหาเงินมาด้วยความยากลำบากเพื่อนำมาสู่ขอเขาในวันแต่งงาน หรือแม้แต่ความรักที่เรามีต่อสัตว์เลี้ยง หรือต้นไม้ เช่น หญิงสาวคนหนึ่งเล่าว่าสุนัขตัวนี้แม่เก็บเอามาเลี้ยงก่อนเสียชีวิต และพ่อแม่เสียไปหญิงสาวก็จะรักสุนัขตัวนี้และดูแลต่อเหมือนตอนที่แม่อยู่เพราะมันเป็นตัวแทนที่สื่อความรักระหว่างหญิงสาวกับแม่ที่เสียชีวิตไป นี่แหละคือสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจว่าอะไรคือ ‘ความรัก’

.
มนุษย์เรานั้นมีภาษาที่ใช้สื่อสารกันแบบสากลโลก อยู่ 2 ภาษา นั่นคือ ภาษาพูด (verbal) และ ภาษากาย (non-verbal) แต่เพื่อนๆ รู้ไหมว่า ความรักของมนุษย์มีภาษาเช่นกัน! ซึ่งภาษารักของมนุษย์ตามแนวคิดในการทำจิตบำบัดของ Satir หรือ Satir’s model therapy มีทั้งหมด 5 แบบ ในการแสดงออก ดังนี้
.
1.การพูด (verbal) : การบอกรัก หรือพูดคำว่า “รัก” ให้คนที่เราต้องการบอกได้ฟัง
2.การทำให้ (service) : หรือการให้บริการ เช่น การช่วยถือของ การทำกับข้าวให้กิน ล้างรถให้ การทำงานบ้านหรือทำงานแทนให้ เป็นต้น
3.การให้สิ่งของเป็นของขวัญ (gift) : ที่ผู้รับต้องการ หรือสิ่งของแทนใจที่อีกฝ่ายต้องการ เช่น การให้แก้วแหวน เงินทอง สิ่งของมีค่า หรือเป็นสิ่งของที่ไม่ได้มีมูลค่าสูงแต่เป็นสิ่งของที่มีความหมายแทนใจที่ผู้รับอยากได้และต้องการ
4.การสัมผัส (touch) : เช่น การโอบกอด การจับมือ การสัมผัส การโอบไหล่ การลูบแขนหรือแตะไหล่ปลอบใจ เป็นต้น
5.การใช้เวลาอยู่ด้วยกัน (quality time) : เช่น การได้ใช้เวลาในวันหยุด วันที่พักผ่อนด้วยกัน ได้เที่ยวด้วยกัน การนั่งสมาธิด้วยกัน นั่งดูหนังด้วยกันใกล้ๆ หรือได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ปาร์ตี้ร่วมกัน เป็นต้น
.
โดยฝ่ายที่เป็นผู้รับต้องรู้ว่าเราต้องการให้คนอื่นทำกับเราแบบไหน ในขณะเดียวกันคนที่เป็นผู้ให้ก็ต้องรู้ด้วยว่า คนที่เราจะให้เขา เขาต้องการ ภาษารักแบบไหนจากเรา เมื่อเราให้เขาไปแล้วถึงจะถูกใจและตรงความต้องการเขามากที่สุด ซึ่งทั้ง 5 แบบนั้นล้วนเป็นภาษารักที่คนสองคนพึงทำต่อกัน
.
แบบนี้เราลองมาตั้งคำถามกับตัวเรากันดีกว่าว่า เราเป็นผู้ให้ความรักหรือใช้ภาษารักแบบใด ใน 5 แบบข้างต้น และคู่ของเราเขาต้องการความรักอะไร เรื่องนี้มีเคสง่ายๆ มาให้เพื่อนๆ เห็นภาพกัน…

มีสามี-ภรรยาคู่หนึ่ง ผู้ชายเป็นนักธุรกิจ เขามักเดินทางไปต่างประเทศและท่องเที่ยวอยู่บ่อยครั้ง เขาเป็นคนที่ชอบซื้อของมาก และมักซื้อข้าวของติดไม้ติดมือมาฝากฝ่ายหญิงมากมาย ทั้งของมีค่าและของไม่มีค่า แต่ก็ไม่เคยถามฝ่ายหญิงเลยสักครั้งว่าต้องการหรือไม่ คิดเพียงแค่ว่าเขาจะซื้อมา Surprise แต่นั่นไม่เคยเป็นที่ต้องการของฝ่ายหญิงเลยด้วยซ้ำ เธอมีท่าทีเฉยเมย ไม่สนใจกับสิ่งของที่ได้รับ ทำให้นักธุรกิจหนุ่มคนนี้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่า เขามักจะมีน้ำใจ แต่ทำไมภรรยาไม่เคยเห็นความดีของเขาเลย (นี่คือเป็นภาษารักที่สามีพยายามให้ภรรยา)
.
ซึ่งเมื่อได้จับเข่าคุย ได้แยกให้คำปรึกษาแบบเดี่ยวกับฝ่ายหญิง เธอกลับรู้สึกว่า สามีของเธอนั้นบ้าวัตถุ (materialism) ซื้อของมากเกินความจำเป็น พร่ำเพรื่อ แต่เลือกที่จะไม่ทักท้วง ติติงมาก เพราะกลัวทะเลาะกัน แต่ในใจลึกๆ กลับรู้สึกว่า ถ้าสามีไม่ฟุ่มเฟือย ก็คงจะมีเงินเก็บมากกว่านี้ เพราะตัวฝ่ายหญิงเองนั้นเป็นคนประหยัด
.
เมื่อนักจิตวิทยาถามถึงภาษารักที่เธอต้องการจากสามีนั้นคืออะไรกันแน่ เธอกลับตอบว่า อยากให้สามีพาไปเที่ยวด้วยกันและมีเวลากินข้าวด้วยกันบ่อย ไม่อยากให้สามีบ้างานมากจนเกินไป และเธอเป็นห่วงสุขภาพของเขา และหากกลับมาได้พูดคุยหรือโอบกอดเธอบ้าง จะทำให้เธอรู้สึกว่าสามียังรักเธออยู่ เพราะปัจจุบันพอสามีกลับมาบ้าน เอาของมาให้แล้วก็ขึ้นไปนอนแต่ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะถามสารทุกข์สุกดิบกับเธอ
.
จะเห็นได้ว่า ภาษารักที่ให้และรับของสามี ภรรยาคู่นี้ไม่ตรงกัน
.
เพราะ ผู้ให้ (สามี) ใช้ภาษารักแบบที่ 3 คือการให้ของขวัญอย่างเดียวและคิดว่าตนทำดีที่สุดแล้ว ซื้อของให้ภรรยาทุกที่ในที่ที่ตนไป ในขณะที่ ผู้รับ (ภรรยา) ต้องการภาษารัก แบบที่ 3 คือการสัมผัส โอบกอด และแบบที่ 5 คือการใช้เวลาอยู่ด้วยกัน

.
เมื่อทั้งคู่ได้เรียนรู้ภาษารักของแต่ละฝ่าย และได้มีการปรับจูนการรับและการให้ที่ตรงตามความต้องการของทั้งสองฝ่าย ก็จะทำให้ทั้งคู่เกิดการเรียนรู้และเข้าใจภาษารักของกันและกัน และมีการให้และรับที่สอดคล้อง ทำให้ความสัมพันธ์ของคู่สมรสและครอบครัวราบรื่นขึ้น ดังนั้น หากเราเรียนรู้ที่จะให้และรับภาษารักให้ตรงกันตามความต้องการของผู้ให้และผู้รับ ก็จะทำให้เราเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจสังคม และ สร้างความผูกพันในครอบครัวและคนรอบตัวได้ดีมากขึ้น ทำให้เรามีความสุขในการที่จะดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ดั่งสุภาษิตที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบ 100 ครั้ง ชนะ 100 ครั้ง” แต่เป็นการชนะทางใจที่ win-win กันทั้งคู่
.
เพียงแค่คุณรู้จักภาษารักของตนเองและของคนที่คุณรัก คุณก็จะให้ และรับอย่างตรงกัน แล้วความรักของคุณจะมีคุณค่ามากขึ้น
เขียนโดย ดร.สุภาภรณ์ ทองนิ่ม (นักจิตวิทยาคลินิก)
Recent Comments