สัญญาณเตือนที่บอกว่าใจเราไม่ไหวแล้ว


“เราเหนื่อยแล้ว เราไม่อยากเป็นภาระของทุกคน ถ้าเราตายๆ ไปคงจะดีกว่า“
เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยผ่านเหตุการณ์ที่มีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดโพสต์หรือพูดประโยคที่สื่อความหมายคล้ายๆ กับประโยคข้างต้นมาไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า ประโยคดังกล่าวเป็น ’สัญญาณ’ ที่บ่งบอกว่าคนคนนั้นมีโอกาสที่จะคิดทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายได้ เนื่องในเดือนกันยายนนี้ เป็นเดือนแห่งการป้องกันการฆ่าตัวตายโลก อูก้าจึงมี Checklist สั้นๆ ที่จะช่วยให้เราสังเกตคนรอบข้าง รวมถึงสังเกตอาการของตนเอง ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ เพื่อจะได้ช่วยกันดูแลใจกันและกันต่อไปได้
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
#พูดหรือแสดงออกถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตาย
มีการโพสต์ข้อความ ภาพ หรือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้อกับความตาย หรือการฆ่าตัวตาย เช่น เชือก มีด สิ่งของต่างๆ ที่ใช้เป็นอาวุธได้ โดยจะพยายามสื่อสารให้คนรอบข้างเห็น หรือมีข้อความ เช่น มีดหรือเชือก ควรเลือกแบบไหนดี รวมไปถึงการเขียนจดหมายลาตาย การสั่งเสีย ขอโทษผู้คนรอบข้าง
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
#พฤติกรรมการทานอาหารผิดปกติ
รับประทานอาหารน้อยกว่าปกติ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง หรืออาจรับประทานอาหารมากกว่าปกติ อยากอาหาร จนทำให้น้ำหนักขึ้น
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
#ไม่สนุกกับกิจกรรมที่เคยชอบ
เบื่อหน่ายกับสิ่งที่เคยชอบทำ ไม่อยากทำอะไร เก็บตัวอยู่บ้าน ใครชวนไปไหนก็ไม่ไป หรือถ้าไปก็ไม่รู้สึกสนุกอย่างที่เคย

#มีความคิดอยากตาย #โลกใบนี้ไม่น่าอยู่
คิดอยู่ในหัวว่าไม่อยากอยู่แล้ว อยู่ไปก็ไม่ช่วยอะไรดีขึ้น คิดวนซ้ำๆ ‘ตลอดเวลา’ แตกต่างกับโรคซึมเศร้า ที่จะเศร้า รู้สึกไม่สนุก รู้สึกอยากตายบางช่วง
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
#มีความรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจ #คิดว่าไม่มีใครช่วยเหลือเราได้
เมื่อเศร้ามากๆ ก็จะคิดว่าไม่มีใครช่วยเขาได้แล้ว ไม่อยู่ดีกว่า อยู่ไปก็เป็นภาระคนอื่น ดังนั้นวิธีช่วยสำหรับคนรอบข้าง คือ ทำให้เขารู้ว่าเขายังมีที่พึ่งนะ เราจะยังอยู่ตรงนี้เสมอเพื่อเขา
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
#คิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า #ชีวิตมีแต่ความล้มเหลว
เขารู้สึกว่าปัญหาที่เกิด เป็นเพราะตัวเขา ทำยังไงก็แก้ปัญหาไม่ได้ ทำอะไรก็ล้มเหลว ผิดหวังไปหมด โทษตัวเองทุกๆ อย่าง ยอมรับความเสียใจที่เกิดขึ้นไม่ได้
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
#มีการวางแผน #กำหนดวิธี
มีการวางแผนขั้นตอนและกระบวนการในการฆ่าตัวตาย เริ่มคิดแล้วว่าไม่อยากอยู่ โดยจะเริ่มหาวิธีว่าจะตายแบบไหนดี แล้วค่อยหาว่าจะทำอย่างไร และสุดท้ายคือ ลงมือทำ
ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มักไม่นาน ใช้เวลาสั้นมาก อาจจะลงมือในวันนั้นเลยก็ได้ ดังนั้น คนรอบข้างต้องคอยเฝ้าระวังและสังเกตอย่างใกล้ชิดในข้อนี้

หากคุณหรือคนรอบข้างมีอาการอย่างน้อยสองถึงสามข้อ ควรจะเริ่มดูแลและหมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด แต่ถ้ามีข้อสุดท้ายเพียงข้อเดียว หรือมีข้อสุดท้ายอยู่ร่วมกับข้ออื่นๆ ยิ่งจะต้องเฝ้าระวังและดูแลอย่าให้คลาดสายตา เพราะจะมีความเสี่ยงมากกว่าข้ออื่นๆ
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
สุดท้ายนี้ โรคซึมเศร้านั้น เป็นอาการป่วย คนที่มีอาการของโรคสามารถสะสมจนเกิดความคิด การกระทำที่อยากจะฆ่าตัวตายได้ แต่สำหรับคนที่อยากฆ่าตัวตายนั้น ไม่จำเป็นต้องมีภาวะหรือโรคซึมเศร้าร่วมด้วยก็ได้ เช่น มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ เกิดการสูญเสีย ล้มละลาย เป็นต้น บุคคลเหล่านี้ก็สามารถฆ่าตัวตายได้เช่นกัน การหมั่นสังเกตอาการของคนรอบข้างจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ


ถ้าสิ่งที่ต้องเผชิญ มันหนักหนาเกินกว่าตัวเราจะรับไหว หรือเราสังเกตได้ว่าคนรอบข้างมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย
อูก้าอยากชวนให้เข้ามาพูดคุยปรึกษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านแอปพลิเคชัน ooca ได้เลย
อูก้าจะยินดีดูแลจิตใจและรับฟังเสมอนะ ❤️


⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
ขอบคุณข้อมูลจาก ดร. จุฑารัตน์ จีนจรรยา นักจิตวิทยาของ ooca