“ศิลปะช่วยให้เราได้สะท้อนความรู้สึก และค้นหา ทดลอง สร้างความตระหนักรู้ให้กับตัวบุคคลนั้นๆ”
สำหรับคำว่า “ศิลปะ” หลายๆ คนน่าจะนึกถึงวิชาเรียนสมัยเด็กๆ การลงสี วาดภาพ งานรูปแบบต่างๆ ที่มีความสวยงาม และคนที่จะประสบความสำเร็จหรือก้าวหน้าในทางนี้ น่าจะต้องทำผลงานออกมาได้ดี สวย แปลก ใหม่ กว่าคนอื่นๆ แต่จริงๆ แล้ว “ศิลปะ” ยังเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ และสามารถดำเนินควบคู่ไปกับชีวิตของเราได้อย่างสอดคล้องและกลมกลืนอีกด้วย
ในวันที่เหนื่อยล้าและท้อใจ บางทีเราก็อยากหาพื้นที่เล็กๆ สำหรับเรา ไว้ปลดปล่อย ได้แสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ โดยพื้นที่ที่ปลอดภัยนี้จะปราศจากอคติหรือเสียงวิจารณ์จากคนอื่นๆ วันนี้อูก้ามีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณปัท ปรัชญพร วรนันท์ เจ้าของ Studio Persona สตูดิโอศิลปะที่พร้อมจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคนที่ได้มาเยือน เราจึงอยากชวนทุกคนมารู้จักศิลปะบำบัดที่สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคนได้กัน

ศิลปะบำบัด เป็นกระบวนการที่มีศิลปะเป็นสื่อกลาง ที่เป็นพื้นที่ให้บุคคลได้ถ่ายทอดความรู้สึก ความต้องการ หรือความท้าทายของเขาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน บางครั้งอาจไม่ได้มาในรูปแบบของเรื่องราว หรือความรู้สึกเท่านั้น แต่จะมาในรูปแบบของท่าทาง ภาษากาย หรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเราก็ได้เช่นกัน ร่างกายเป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถสื่อสารกับเราได้ตลอดเวลา บางครั้งเราปวดหัว ปวดท้องอย่างไม่มีสาเหตุ ร่างกายอาจสื่อว่าให้เราขอความช่วยเหลือ การพักผ่อน ทานอาการ หรือไปหาหมอก็เป็นสิ่งที่ทำได้ สิ่งที่คุณปัทโฟกัสอาจมากกว่าแค่ศิลปะบำบัด แต่รวมไปถึงสิ่งที่ร่างกาย ความรู้สึก ความคิด มอบให้กับเราผ่านศิลปะ เพราะศิลปะเป็นพื้นที่ที่ให้เราสามารถสื่อสารสิ่งเหล่านี้ออกมาได้
ไม่ใช่ว่าทุกคนบนโลกนี้จะเก่งเรื่องการพูด บางครั้งเราไปหาหมอ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอยากจะพูดหรือสื่อสารอะไรออกไป คุณหมอจะประเมินตามสิ่งที่เราบอกเล่าว่าช่วงนี้เป็นอย่างไร รู้สึกยังไง ซึ่งการที่เหมือนรู้สึกอะไรบางอย่าง แต่พูดออกไปไม่ถูก ไม่รู้จะสื่อสารยังไง ซึ่งขั้นนี้เราเรียกว่า freeze ซึ่งเป็นการกลั้น การลืมหายใจ การเก็บไว้ การเงียบ ชัตดาวน์อะไรบางอย่างในตัวเรา (อีกสองขั้นคือ fight หรือการสู้กลับ และ flight หรือการหลีกหนี) ซึ่ง freeze อาจเกิดได้จากประสบการณ์อันเลวร้าย การสูญเสีย ความเครียดสะสม ศิลปะจึงเข้ามาช่วยเพื่อให้บุคคลออกมาจาก freeze ได้ ทั้งนี้การทำศิลปะบำบัด เราควรสร้างเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับตัวบุคคลนั้นเสียก่อน และทุกอย่างต้องมีการตกลงกัน การสื่อสารซึ่งกันและกันระหว่างผู้เข้ารับบริการและนักบำบัด รวมถึงการเก็บรักษาข้อมูลที่ร่วมแลกเปลี่ยนเป็นความลับ (confidential)

นักบำบัดแต่ละคนมีวิธีที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงความชำนาญที่ต่างกันออกไป ศิลปะบำบัดเป็นทางเลือกหนึ่งที่ใช้ประคับประคองในการรักษาสำหรับบุคคลที่ต้องได้รับการ support มีภาวะทางจิตเวชต่างๆ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล และเขากำลังมองหากิจกรรมบางอย่างที่สามารถช่วยให้เขาทำความเข้าใจความรู้สึกของเขาได้ ทั้งนี้คุณปัทแนะนำว่า หากสงสัยว่าตัวเองจะเป็นซึมเศร้าไหม ควรไปปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อเริ่มต้นการรักษา
ส่วนบุคคลทั่วไปที่อาจจะเครียดเรื่องงาน ไม่มีเวลาพักผ่อน เหนื่อย หรือสนใจในศิลปะ ก็สามารถมาทำศิลปะบำบัดได้เช่นกัน เพื่อให้รู้จักตัวเองมากขึ้น สร้างสมดุลให้กับชีวิต ดังนั้นในการทำกระบวนการศิลปะบำบัดในครั้งแรก จึงจะมีการทำ assesment หรือการประเมิน เพื่อทำความรู้จักกัน และเปลี่ยนมุมมอง ให้เข้าใจตรงกันรวมถึงข้อตกลงต่างๆ ตามแต่ละบุคคล คนส่วนใหญ่ที่พบ จะวาดภาพไม่เป็น คุณปัทก็จะเน้นให้เขาได้สร้างอะไรบางสิ่งเพื่อสร้าง self-esteem เพื่อสร้างความมั่นใจต่างๆ ให้
หลายๆ อย่างในโลกใบนี้มันควบคุมไม่ได้เลย ดังนั้นในพื้นที่ของการเยียวยาใจในรูปแบบศิลปะบำบัดจึงอยากให้ตรงนี้
บุคคลสามารถควบคุมการกระทำอะไรบางอย่างได้เอง รู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของสิ่งนี้
ขั้นแรกจะให้ผู้เข้ารับบริการได้ทำความรู้จักสื่อกลางต่างๆ ได้ลองหยิบจับทั้งวัสดุอุปกรณ์แบบแห้ง อย่างสีชอร์ค แท่งชาโคล หรือแบบเปียก อย่างสีน้ำ สีอะคลิลิค ได้ลองทำสิ่งต่างๆ ตามใจตนเอง บางคนมีธีม มีสิ่งที่อยากทำอยู่แล้ว เราก็จะทำตามที่เขาต้องการ ผ่านการสัมผัสของร่างกาย ของมือ โดยเฉพาะวัสดุอุปกรณ์แบบน้ำจะสร้างความท้าทาย เพราะบางครั้งมันควบคุมไม่ได้ หรืออาจไปทริกเกอร์ประสบการณ์บางอย่าง สิ่งที่เราต้องการคือการสร้างประสบการณ์ใหม่ในประสบการณ์เดิม (recreation experiences) ให้กับบุคคลในพื้นที่ที่ปลอดภัย ซึ่งจะทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้สึกว่าได้ซ่อมแซมหรือเติมเต็มภายในครั้งหรือสองครึ่งของการบำบัด ที่ Studio Persona จึงจัดให้มีการบำบัดอย่างน้อย 12 ครั้ง เพื่อให้ร่างกายได้เรียนรู้ที่จะเยียวยาผ่านการลองผิดลองถูกด้วยตนเอง บุคคลจึงจะเรียนรู้ว่าการประคับประคอง การปฏิเสธได้ ความรู้สึกปลอดภัยมันเป็นแบบนี้นี่เอง และมันสามารถเกิดขึ้นได้อีกด้วยการกระทำของเขาเอง

ศิลปะไม่มีผิดหรือถูก การทำศิลปะบำบัดไม่เกี่ยวกับทักษะ แต่จะเป็นการเชื่อมโยง ความรู้สึกปลอดภัย และสิ่งที่สื่อสารร่วมกันระหว่างนักบำบัดและผู้เข้ารับบริการ
ในวันพรุ่งนี้เราจะมาทำความรู้จักรูปแบบของศิลปะบำบัดกันมากขึ้น ฝากติดตามด้วยนะ
หากเพื่อนๆ คนไหนรู้สึกไม่สบายใจ หรือมีวันแย่ๆ ที่อยากจะผ่านมันไปให้ได้ อูก้าอยากชวนให้เข้ามาพูดคุยปรึกษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านแอปพลิเคชัน ooca ได้เลย อูก้าจะยินดีดูแลจิตใจและรับฟังเสมอนะ 💚💙💛
Recent Comments