ยิ่งเมื่อเหยื่อเลือกที่จะออกมาพูดหรือบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเอง ผลกระทบที่ตามมาทำให้เหยื่อรู้สึกว่าการเรียกร้องนั้น “ได้ไม่คุ้มเสีย” รวมถึงเรื่องที่ควรจะลืมก็กลับมาตามหลอกหลอนอีกครั้ง คำพูดกล่าวโทษเหมือนมีดที่กรีดซ้ำๆ ว่าเหยื่อมีส่วนผิดกับเรื่องราวที่มันเกิดขึ้น แล้วเขาจะมีทางเลือกอื่นไหมที่จะเรียกร้องเพื่อตัวเองบ้าง

บางครั้งเรามองภาพความรุนแรงของปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเล็กน้อยกว่าความเป็นจริงมากๆ ซึ่งอาจเกิดจากสื่อที่บิดเบือนข้อเรียกร้องของเหยื่อให้กลายเป็นแค่ความเข้าใจผิด อุบัติเหตุและเงียบหายไปราวกับไม่เคยเกิดขึ้น ในขณะที่กฎหมายบอกว่ามันคืออาชญากรรมแต่ในทางปฏิบัติเราได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้มากแค่ไหน แล้วรู้ไหมว่าผลกระทบจากการล่วงละเมิดนั้นหมายถึงชีวิตที่ไม่มีวันเหมือนเดิมสำหรับบางคน

มีใครนึกถึงบาดแผลทางใจที่เหยื่อได้รับบ้าง เขาจะต้องอยู่กับฝันร้ายนี้ไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนความเจ็บปวดก็ไม่เคยหายไป แต่บางส่วนกลับเห็นว่าเป็นความผิดของผู้ถูกกระทำที่เปิดโอกาสให้คนอื่นกระทำความผิดและซ้ำเติมเหยื่อโดยไม่รู้ตัว เช่นคำพูดที่เหยื่อมักจะได้ยินบ่อยๆ อย่าง

ทำไมอยู่สถานที่แบบนั้น เราเปิดโอกาสให้เขาหรือเปล่า ?

ทำไมแต่งตัวไม่ระวัง ให้ท่าหรือเปล่า ?

เป็นผู้หญิงทำไมดื่มเหล้าอีก ?

การกล่าวโทษเหยื่อ (Victim Blaming) ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ได้ อาจเป็นการสร้างบาดแผลและลดทอนคุณค่าของเหยื่อจากภัยที่เขาได้รับ กลายเป็นเหยื่อควรมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเพราะความเชื่อที่เรามีต่อปัญหานั้นๆ ทำให้บิดเบือนความจริงที่เกิดขึ้น

อย่างแรกที่มีผลต่อการกล่าวโทษคือ ปัญหาเกิดขึ้นเพราะอะไร? เรามักจะวิเคราะห์ก่อนว่าปัญหาเกิดเพราะบุคคลนั้นเลือกตัดสินใจและทำสิ่งนั้นด้วยตัวเองหรือเปล่าที่ทำให้เขาเจอกับเรื่องโชคร้ายอย่างการล่วงละเมิด หากรู้สึกว่าเหยื่อมีส่วนร่วมในความผิดพลาด คนรอบข้างก็มีแนวโน้มที่จะเข้าใจและเห็นใจเหยื่อน้อยลง

อาจเป็นเพราะสังคมเรามีค่านิยมว่าเป็นผู้หญิงต้องแต่งตัวอย่างไร การไปสถานที่ลับตาคนเป็นเรื่องไม่สมควร ซึ่งถ้าเราทำก็เหมือนเราฝ่าฝืนสิ่งที่ถูกพร่ำสอนมา โดยเฉพาะในสภาพสังคมที่ชายเป็นใหญ่ และกรอบความคิดที่เชื่อว่าคนที่เจอเหตุการณ์ไม่ดีเป็นเพราะผลกรรมที่เขาทำสิ่งที่ไม่ดีก่อน การจะเปลี่ยนแปลงความเชื่อลักษณะนี้อาจทำได้ค่อนข้างยาก ต้องใช้ทั้งความรู้ความเข้าใจ การยอมรับซึ่งกันและกันไปจนถึงเวลาที่จะเปลี่ยนแปลง

ในความเป็นจริงทุกคนมีสิทธิ์ที่จะปกป้องร่างกายของตัวเอง ไม่ว่าจะแต่งตัวอย่างไร หรืออยู่ในสถานที่ใด ไม่ควรมีเพศใดต้องถูกจำกัดหรือแบ่งแยกด้วยความเชื่อที่ว่ามา หรือต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวงตลอดเวลา อย่างที่เจสสิกา อีทตัน นักรณรงค์เพื่อผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เคยบอกไว้ว่า “เมื่อเกิดเหตุก่อการร้ายขึ้น รัฐบาลหรือตำรวจมักยืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันและจะทำทุกอย่างตามปกติ แต่กับเหตุข่มขืน รัฐบาลหรือตำรวจกลับบอกให้ผู้หญิงเปลี่ยนพฤติกรรม ทำไมผู้หญิงต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อคนร้าย”

ในฐานะคนนอก เราอย่ามองว่าพฤติกรรมบางอย่างเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการล่วงละเมิด แต่มันคือเสรีภาพในการใช้ชีวิตที่ไม่ควรถูกพรากไป ไม่ว่าใครก็ไม่สมควรถูกกระทำรุนแรงหรือล่วงละเมิดทั้งนั้น

เราไม่มีทางรู้ว่าสิ่งที่เขาเจอมามันหนักหนาแค่ไหนสำหรับความรู้สึกที่ต้องแบกไว้ อยากให้พยายามเข้าใจในจุดที่เขายืนอยู่ อย่างน้อยก็อย่าซ้ำเติมหรือกล่าวโทษเหยื่อเลย คนทำ “ผิด” ก็คือ “ผิด” สิ่งนั้นไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

อูก้าขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่มีประสบการณ์ไม่ดี ถูกกล่าวโทษอย่างไม่เป็นธรรม หวังว่าสังคมจะอ่อนโยนกับพวกเขาให้มากขึ้นและระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็น ถ้าไม่สบายใจให้อูก้าช่วยรับฟังได้นะ