ในแคมเปญนี้ Ooca ได้มีโอกาสร่วมงานกับ Brandthink ซึ่งหัวใจหลักของงานครั้งนี้ เราได้พูดคุยถึงช่วง Quater Life Crisis ที่หลายๆคนต่างประสบกับความผิดหวัง สับสน หลงทาง แล้วรู้สึกว่าตัวเองช่างเปราะบางเหลือเกิน จึงเกิดคำถามว่า “ในช่วงวัยหนุ่มสาวคุณเจอกับความกดดันรูปแบบไหนมากที่สุด” โดยคำตอบที่ผู้เข้าร่วมงานได้เลือกมากที่สุดคือ รู้สึกว่า “ตัวเองเก่งไม่จริง / ตัวเองเป็นเป็ด” และรองลงมาคือ “รู้สึกหมดไฟ อยู่ไปวันๆ” ทางอูก้าจึงได้นำสองประเด็นนี้มาขอคำแนะนำจากนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ของอูก้า เพื่อแบ่งปันกับทุกๆคน

คุณกอบุญ เกล้าตะกาญจน์ นักจิตวิทยาของอูก้าแนะนำว่าเรื่อง “ตัวเองเก่งไม่จริงและตัวเองเป็นเป็ด” นั้น เกี่ยวข้องกับความรู้สึกที่เรามองตัวเองและรู้สึกว่าตนเองไม่เก่งอะไรสักอย่าง ตามทฤษฎีจิตสังคมของอิริคสัน (Erikson’s Psychosocial Theory) บุคลิกภาพของบุคคลสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกๆ ช่วงของชีวิต (ตั้งแต่เกิดจนตาย) ขึ้นอยู่กับสังคมที่เราเกี่ยวข้องด้วย ในแต่ละขั้นของพัฒนาการทางบุคลิกภาพอาจจะมีช่วงวิกฤติอยู่ สําหรับการที่เราจะพัฒนาในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะ
“ตัวเองเก่งไม่จริง” เกิดขึ้นจากอะไร?
ในช่วงระยะวัยเรียน (อายุ 6-11 ปี) เด็กเจอกับสังคมในโรงเรียน เริ่มต้นเรียนรู้สิ่งที่จําเป็นสําหรับการเป็นสมาชิกของสังคม เด็กอาจจะได้รับการสั่งสอนทักษะชีวิตด้านต่างๆ เช่น การมีมารยาท การดูแลตนเอง การซ่อมแซมเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น รวมไปถึงการศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างๆ อีกด้วย ถ้าเด็กเรียนรู้ได้อย่างดีก็จะมีความรู้สึกภูมิใจและหมั่นเพียรมากขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเด็กรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถพอที่จะเรื่องพื้นฐานในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคม แต่บุคคลรอบตัวหรือเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันสามารถทําได้ เด็กจะรู้สึกด้อยกว่า ตัวเองเก่งไม่จริงได้
ความคิดว่า “ตัวเองเป็นเป็ด” เกิดจากอะไร?
ในแต่ละขั้นของพัฒนาการทางบุคลิกภาพจะมีความสัมพันธ์กับขั้นถัดไปและส่งผลต่อเนื่องกันไป ถ้าวัยเรียน เราพัฒนาความรู้สึกว่า “ตัวเองเก่งไม่จริง” ย่อมมีผลต่อช่วงวัยต่อมาคือ อาจทำให้เป็นวัยรุ่นที่สับสนและไม่รู้จักตนเองได้ อิริคสันเรียกการเปลี่ยนแปลงในช่วงวิกฤตินี้ว่า “ช่วงวิกฤติของการแสวงหาเอกลักษณ์ (Identity)” ระยะที่เป็นวัยรุ่น (อายุ 12 -17 ปี) ถ้าสามารถรู้จักตนเองหรือแสวงหาเอกลักษณ์ของตนเองได้ ปัญหาช่วงวิกฤติในระยะวัยรุ่นก็จะหมดไป การเข้าใจว่า “ฉันคือใคร” และ “อะไรบ้างที่ตนสามารถจะทําได้หรือทําไม่ได้” จะทำให้เรามีพัฒนาการของความไว้วางใจ (trust) ความเป็นตัวของตัวเอง ความคิดริเริ่มและความขยันหมั่นเพียร วัยรุ่นที่สามารถพัฒนาเอกลักษณ์ของตนเองได้ก็จะมีปัญหาบุคลิกภาพหรือมีความสับสนเกี่ยวกับตนเองน้อยลง ลดการพัฒนาความรู้สึกที่ว่า “ตัวเองเก่งไม่จริง” และ “ตัวเองเป็นเป็ด”
แนวทางพัฒนาตัวเองเพื่อลดความกดดันที่เกิดขึ้นคือ ให้ใช้โอกาสในแต่ละช่วงของชีวิต ทั้งวัยเรียน วัยรุ่น และวัยต่างๆ ค้นหาว่าตัวเองเก่งถนัดในเรื่องใดบ้าง โดยคนอื่นๆ สังเกตแนะนำ สำรวจความถนัดตัวเองและอาจลองทำแบบทดสอบความถนัดทางจิตวิทยา เพื่อทำให้รู้จักความถนัดของตัวเองและมุ่งพัฒนาในด้านนั้นจนเก่งขึ้น เกิดเป็นความสำเร็จและความเชี่ยวชาญ ช่วยลดความคิดว่า“ตัวเองเก่งไม่จริง” และ “ตัวเองเป็นเป็ด” ได้
อ้างอิงจาก
ทฤษฎีจิตสังคมของอิริคสัน (Erikson’s Psychosocial Theory)

ดร.รพีพงค์ ยังวราสวัสดิ์ แนะนำว่าเมื่อชีวิตเรารู้สึกว่ากำลังหมดไฟหรือนี่เรากำลังอยู่ไปวันๆ อาจเริ่มจากการ
1. ค้นหาสาเหตุ/ต้นตอที่ทำให้เราหมดไฟ อย่างในช่วง COVID-19 เคสที่เราพบมากคือความเครียด ความกดดันจากการทำงาน
2. เมื่อทราบปัญหาแล้ว เราก็หาทางแก้ไขสิ่งที่ทำให้เราหมดไฟ สมมติว่าสาเหตุอยู่ที่ความกดดันเรื่องงาน เราควรหาวิธีต่อรอง ขอความช่วยเหลือเพื่อให้ความเครียดลดลง
3. เราอาจเลือกทำในสิ่งที่ใกล้เคียงกับกำลังและความสามารถของเรา การทำในสิ่งที่ยากเกินกำลังความสามารถของเรามากจนเกินไปจะมีความเสี่ยงสูงที่ทำให้เราเหนื่อย ท้อและหมดไฟได้
4. ทำชีวิตประจำวันให้มีคุณภาพ ได้แก่ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำสิ่งที่สำคัญในชีวิตให้สมดุล อันไหนที่สำคัญน้อยเราต้องเลือกที่จะตัดทิ้ง การรับสิ่งต่างๆ เข้ามามากเกินไปอาจทำให้เราเครียดเรื้อรัง ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะหมดไฟ
5. ทำกิจกรรมที่บำบัดความเครียด เพราะกิจกรรมที่สนุกเพลิดเพลินทำให้เรา active บางกิจกรรมก็สร้างความสงบให้กับชีวิต ทำให้เราลืมเรื่องเครียดๆ รู้สึกผ่อนคลาย ออกจากอาการหมกมุ่นได้
6. การเห็นคุณค่าในตัวเองสำคัญมาก การทำตัวเองให้มีค่า รู้จักชื่นชม ให้กำลังใจและมองหาข้อดีของตัวเอง พัฒนาข้อเสียและพาตัวเราเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่สร้างคุณค่าให้กับเรา
7. รู้จักตั้งเป้าหมายเพราะการกำหนดเป้าหมายชัดเจนจะช่วยสร้างพลังใจ ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น
คนที่กำลังเจอภาวะแบบนี้อยู่ ที่สำคัญไม่ว่าตอนนี้คุณจะกำลังเรียน ทำงาน สับสนหรือหมดไฟ
อย่าลืม Save ใจของตัวเองด้วยนะ เพราะอูก้าเชื่อว่าทุกคนสมควรได้รับความสุขเสมอ
.
ไม่ว่าจะกำลังเผชิญปัญหาอะไรอยู่ หากอยากพูดคุยปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ สามารถนัดวันและเวลาเข้ามาได้เลย เรื่องของใจให้อูก้าช่วยรับฟังเสมอเลยนะ
สามารถติดตามไลฟ์สดย้อนหลังงาน SAVEMYSELFTALK ได้ที่: https://www.facebook.com/watch/?v=199179605067998
Recent Comments