หลายคนเชื่อว่า ‘การทำแท้ง’ นั้นเป็นบาป โดยเฉพาะสังคมไทยที่นับถือศาสนาพุทธ แต่ฉันไม่พร้อมจะเป็นแม่คน ฉันอาจจะต้องรู้สึกผิดไปตลอดชีวิตถ้าเลือกที่จะทำแท้ง แล้วใครจะช่วยฉันทางออกเรื่องนี้ได้บ้าง เพราะไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ดูเลวร้ายไปซะหมด อย่าถกเถียงถึงความถูกผิดกับอีกเลย มาช่วยกันเยียวยาและให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่คนที่กำลังเผชิญปัญหาเหล่านี้เถอะนะ เพราะพวกเขาต้องการกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปมากๆ

เมื่อวันก่อนครม.มีมติเห็นชอบให้แก้กฎหมายเรื่อง “การทำแท้ง” โดยระบุว่าหากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์สามารถทำแท้งได้ ซึ่งคำนึงถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และ 28 ที่กล่าวถึงเรื่องความเสมอภาค การได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และได้แก้ไขโทษสำหรับผู้ที่ทำแท้งให้เบาลง นอกจากนี้ยังแก้ไขให้ครอบคลุมกรณีจำเป็นที่สมควรอนุญาตให้ทำแท้งได้ เช่น การตั้งครรภ์นั้นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของผู้ตั้งครรภ์ กรณีที่ทารกมีความเสี่ยงที่จะผิดปกติหรือพิการ หรือการตั้งครรภ์เกิดจากการล่วงละเมิด เป็นต้น

หลายคนมองว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้หญิงจะสามารถปกป้องสิทธิในร่างกายของตัวเองได้ อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาในสังคมที่จะตามมาจากการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อมได้อีกมาก เช่น การเลี้ยงดู การศึกษา การเงิน คุณภาพชีวิต ฯลฯ แม้จะมีผู้ที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้จำนวนมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำแท้งในสังคมไทยนั้น ถูกตีตรามาอย่างยาวนานว่าเป็นการทำ “บาป” ร้ายแรง

จริงอยู่ที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเกิดมา ดังนั้นการพรากชีวิตที่บริสุทธิ์ไปจึงถูกมองว่าไร้มนุษยธรรม บางคนถึงขั้นด่าทอและขอให้ผู้ที่ทำได้รับกฎแห่งกรรมเข้าสักวัน แต่คนที่ลำบากใจที่สุดก็คือคนที่ต้องตัดสินใจเลือกว่าจะทำแท้งหรือไม่ รวมถึงต้องดีลกับความรู้สึกผิดที่ติดค้างในใจและพยายามใช้ชีวิตต่อไปให้ได้

เรามีคำแนะนำสำหรับคนที่กำลังสับสนว่าการทำแท้งนั้นบาปหรือไม่และจะเข้าใจคนที่ตัดสินใจทำแท้งได้อย่างไร

#คำตอบจากนักจิตวิทยา

หากเจตนาของการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย เป็นเพราะต้องการช่วยคนที่มีความทุกข์ ถ้าแพทย์ไม่ทำแท้งให้เขาอาจจะไปให้หมอเถื่อนซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต อีกประเด็นคือถ้าการตั้งครรภ์นั้นเกิดจากเหตุอะไรบางอย่าง ทำให้ผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมจะเลี้ยงดูให้เติบโตอย่างมีคุณภาพจริงๆ จะส่งผลดีหรือผลเสียต่อชีวิตเด็กที่เกิดมา? เป็นการทำบุญหรือบาปกับเด็กที่เกิดมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่พร้อม?

ในเรื่องบุญบาปนั้น ท่านพุทธทาสเคยกล่าวว่า “เป็นทัศนคติความเชื่อส่วนบุคคล จะให้คิดเหมือนกันหมดคงไม่ได้ แม้แต่ท่านพุทธทาสภิกขุยังบอกว่า ถ้าทำแท้งเพื่อช่วยให้พ้นทุกข์ไม่นับเป็นบาป มันอยู่ที่ ‘เจตนา’ ดังนั้นอยากให้สังคมเปิดใจและไม่ตัดสินผู้ที่ประสบปัญหาด้วยมุมมองเพียงด้านเดียว เพราะเราเป็นคนที่มองจากข้างนอกและไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนพ่อแม่และครอบครัวของคนที่ประสบเรื่องนี้โดยตรง

#คำตอบจากทีมงานอูก้า

หากเลือกได้คงไม่มีใครอยากท้องในขณะที่ตัวเองก็ไม่มั่นใจว่าจะเลี้ยงดูอีกหนึ่งชีวิตให้มีคุณภาพได้ หรืออยากทำเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอย่างการทำแท้ง แม้หลายคนจะบอกว่าการทำแท้งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่เมื่อปัญหาได้เกิดขึ้นแล้วก็ควรจะมีทางเลือกหรือทางแก้ไขที่เหมาะสมให้ผู้ที่ประสบปัญหาด้วย ส่วนการรณรงค์เรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อมเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันเพื่อลดปัญหาเหล่านี้ ซึ่งทุกคนที่เกี่ยวข้องย่อมได้รับผลกระทบทางใจอย่างแน่นอน

ความเครียด ความกังวลและความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ต้องเยียวยาและช่วยเหลือ ที่สำคัญคือการให้โอกาสคนที่เจอปัญหาได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติในสังคมเป็นหน้าที่ของทุกคน การตีตราหรือตัดสินคนอื่นจากทัศนคติหรือค่านิยมส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ โดยเฉพาะประเด็นที่อ่อนไหวเช่นนี้ ลองเปิดใจมองในมุมอื่นๆ เราอาจจะเข้าใจปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ว่ามันหนักหนาแค่ไหน แล้วเราจะช่วยโอบกอดพวกเขาแทนการซ้ำเติมได้หรือไม่

ไม่มีใครอยากทำผิดพลาดหรืออยู่ในจุดที่ต้องเลือกระหว่างความเป็นความตาย ขอเพียงช่วยรับฟังโดยไม่ตัดสิน แล้วให้โอกาสพวกเขาได้มีความสุขกับเส้นทางชีวิตที่เขาเลือกดีกว่า

อูก้ายินดีรับฟังทุกปัญหาและช่วยคุณหาคำตอบให้ชีวิต สามารถพูดคุยกับนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ของเราได้เสมอ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรเราพร้อมจะอยู่เคียงข้างและรับฟังคุณ

อ้างอิงจาก

https://twitter.com/rsathaiorg/status/1233270925497257984

https://www.lovecarestation.com/การทำแท้ง-ท่านพุทธทาส/