ลองสังเกตง่ายๆ ว่าถ้าเรารู้สึกถูกคุกคาม อึดอัด เจ็บปวดกับสิ่งที่คนอื่นพูดหรือทำกับเรา นั่นอาจแสดงว่าเรากำลังถูกบูลลี่อยู่ แม้เขาจะพูดเพื่อหยอกล้อหรือทำเพราะหวังดี แต่หากเราไม่สบายใจและต้องการให้เขาหยุด ไม่ต้องรู้สึกผิดที่จะพาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้น เพราะเรามีสิทธิ์ที่จะปกป้องตัวเองเสมอ
สำหรับบางคนการกลั่นแกล้งหรือที่เราเรียกว่า “บูลลี่” เป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ที่ไม่ต้องเก็บมาใส่ใจ แต่กับบางคนมันสร้างความเจ็บปวดและบาดแผลที่ไม่มีทางลืม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจหรือไม่ การทำให้คนอื่นรู้สึกไร้ค่านับว่าเป็นการบูลลี่ทั้งนั้น
การสื่อสารที่ดีคือทั้งสองฝ่ายต้องเห็นพ้องในสิ่งเดียวกัน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกอึดอัดลำบากใจ ให้ระวังว่าคำพูดหรือการกระทำดังกล่าวอาจละเมิดสิทธิของคนอื่นในเรื่องของค่านิยม ความหลากหลายและการแสดงออก
ไม่มีใครสนุกที่ได้เป็นตัวตลกหรอก ถ้าเราเผลอทำร้ายใครสักคนและเรารู้แล้วว่าการกระทำนั้นสร้างความเจ็บปวดให้เขา เราจะหยุดมันไหม แล้วถ้าเราถูกกระทำเราจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์นี้หรือไม่ แล้วรู้ไหมว่าการบูลลี่นั้นมีทั้งหมดกี่ประเภท

การบูลลี่มี 4 ประเภท
1. ทางร่างกาย (Physical) เช่น การผลัก ตบตี เตะต่อย ไปจนถึงการทารุณทางร่างกาย ทำให้เกิดบาดแผลและความเจ็บปวดต่อร่างกาย
2. ทางสังคมและอารมณ์ (Social and emotional) เป็นการกดดันทางสังคมที่ส่งผลต่อจิตใจ เช่น การยั่วยุ การกีดกันให้ออกจากกลุ่ม ทำให้รู้สึกแปลกประหลาดและสูญเสียความมั่นใจ
3. ทางวาจา (Verbal) เช่น การล้อเลียน ตั้งฉายา การเหยียดหยาม ดูถูก การด่าทอ การนินทา รวมถึงใส่ร้ายป้ายสีให้เสียชื่อเสียง
4. ทางไซเบอร์ (Cyberbullying) เป็นการบูลลี่ที่ทำกันมาในปัจจุบัน โดยบูลลี่กันผ่านโลกออนไลน์ เช่น การเผยแพร่ข่าวลือ การโพสต์ข้อความโจมตี การหลอกลวง การส่งข้อความคุกคาม ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ทำให้รู้สึกอับอายและรู้สึกเจ็บปวด
โดยการบูลลี่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง คนเราสามารถถูกบูลลี่ได้จากรูปร่างหน้าตา สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา ฐานะ การศึกษา รสนิยม เพศ ฯลฯ จึงยากที่จะนิยามว่าแบบใดนับเป็นการบูลลี่

แล้วเราเป็นใครในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ?
คนที่ทำ (Bullies) เราอาจเริ่มรังแกคนอื่นเพื่อให้ได้รับการยอมรับหรือสถานะบางอย่างในสังคม เมื่อการบูลลี่ได้รับความสนใจและมีคนอื่นเข้าร่วม คนที่ทำจะยิ่งรู้สึกเหมือนได้รับการสนับสนุนให้ทำต่อไป
คนที่ถูกบูลลี่ (Targets/Victims) เป้าหมายมักจะเป็นคนที่ขาดความมั่นใจ เพื่อนน้อยหรือมีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างจากคนอื่น
คนที่เห็นเหตุการณ์ (Bystanders) นับว่าเป็นคนที่สำคัญที่สุดในเหตุการณ์นี้เพราะเป็นตัวกำหนดว่าการบูลลี่จะหยุดลงหรือรุนแรงขึ้น
หาก Bystanders ไม่เข้ามามีส่วนร่วมหรือยืนดูอยู่ห่างๆ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะได้ไม่เก่ียวข้องกับเรื่องนี้ เพราะการเมินเฉยต่อความรุนแรงก็ไม่ต่างจาก “พลังเงียบ” ซึ่งสามารถสนับสนุนการบูลลี่ได้เช่นกัน
สำคัญที่สุด ถ้าเราพบเห็นหรือรับรู้ว่ามีการบูลลี่เกิดขึ้น เราจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือหรือหยุดยั้งวงจรเลวร้ายไหม หรือเราจะปล่อยให้มันเป็นไปเพียงเพราะวันนี้เราไม่ใช่คนที่ถูก “บูลลี่”
อูก้าเป็นกำลังใจให้ทุกคนเคยผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับการบูลลี่และหวังว่าปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข หากใครรู้สึกเป็นกังวล เครียดหรือได้รับผลกระทบจากการบูลลี่ ลองทักมาปรึกษานักจิตวิทยาและจิตแพทย์ของอูก้าได้เลยนะคะ
อ้างอิงจาก
Recent Comments