สำหรับบางคน การกัดเล็บ (Nail Biting) ถือเป็นนิสัยติดตัวมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กโดยที่ไม่รู้ว่าลักษณะพฤติกรรมดังกล่าวสามารถจัดอยู่ในอาการของจิตเวชได้อย่างหนึ่ง บางคนก็ไม่สามารถหยุดหรือควบคุมตัวเองได้ถึงแม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าการกัดเล็บอาจทำให้เกิดผลเสียต่อตัวเอง นอกจากจะส่งผลเสียต่อร่างกายและบุคลิกภาพแล้ว การกัดเล็บยังสะท้อนถึงปัญหาทางจิตใจของคนกลุ่มนี้ได้อีกด้วย

พฤติกรรมดังกล่าวจัดอยู่ในอาการทางจิตเวช เรียกว่า “โรคกัดเล็บ (Onychophagia)” ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดกับคนในวัยเด็กและวัยรุ่น ถึงแม้ว่าอาการเหล่านี้มักจะค่อย ๆ หายไปเมื่อเราโตขึ้น แต่บางคนก็ยังมีพฤติกรรมเหล่านี้จนถึงวัยทำงานได้เลย สาเหตุการกัดเล็บของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น ความเครียด ความกังวล ความรู้สึกไม่มั่นใจ หรือบางครั้งก็มาจากความรู้สึกเบื่อ คนเหล่านี้มักจะรู้สึกว่าอาการดังกล่าวสามารถบรรเทาลงได้เมื่อพวกเขาได้กัดเล็บ นั่นหมายความว่า หากเราเห็นผู้ที่กัดเล็บเป็นประจำหรือกำลังทำอยู่ในขณะนั้น อาจหมายความว่าเขากำลังแสดงออกถึงความวิตกกังวล ความเครียด หรือเบื่อหน่ายอยู่

ถึงแม้ว่าการกัดเล็บจะช่วยบรรเทาความรู้สึกภายในจิตใจได้ แต่นั่นก็คือบรรเทาปัญหาในจิตใจด้วยปัญหาอื่นที่อาจตามมาทีหลัง เพราะการกัดเล็บจัดว่าเป็นการแสดงพฤติกรรมของความรู้สึกในใจที่เป็นด้านลบ สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น มีขนาดเล็บที่เล็กจนมากเกินไป มีนิ้วมือที่ไม่สวย และสามารถติดเชื้อได้จากการเกิดบาดแผล นอกจากจะทำให้ร่างกายทรุดโทรมหรือเกิดบาดแผลแล้ว ยังสามารถส่งผลต่อปัญหาด้านจิตใจในระยะยาว เราอาจจะเคยชินกับการกัดเล็บจนเสียบุคลิกและถูกคนรอบข้างล้อเลียนจนกลายมาเป็นปมติดตัวได้ แต่ถึงอย่างนั้น การกัดเล็บเป็นเพียงแค่การแสดงอาการทางความรู้สึกเท่านั้น เรายังสามารถลดอาการเหล่านี้ให้หายไปได้ด้วยวิธีต่าง ๆ

#เข้าใจสาเหตุการกัดเล็บของตัวเอง

การทำความเข้าใจและเรียนรู้ถึงสาเหตุว่าทำไมเราจึงกัดเล็บ สามารถทำให้เราแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากการสังเกตตัวเองว่าเราเริ่มแสดงพฤติกรรมการกัดเล็บในเวลาที่เรารู้สึกอย่างไร เมื่อเรารู้ว่าเราจะมีพฤติกรรมกัดเล็บเมื่อไร เราก็จะสามารถหาวิธีแสดงออกด้วยวิธีอื่น รวมไปถึงหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจทำให้เราเกิดความรู้สึกเหล่านั้นได้

#ค่อยๆปรับเปลี่ยนลักษณะพฤติกรรม

เราจำเป็นจะต้องใช้ความพยายามในการอดทนต่อการกัดเล็บที่เป็นนิสัยติดตัว พยายามค่อยๆลดความเคยชินลง เพื่อให้พฤติกรรมเหล่านี้ลดน้อยลงจนหายไปในที่สุด และเปลี่ยนลักษณะนิสัยของตัวเองเพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีขึ้น

#หาสิ่งอื่นมาทำแทนการกัดเล็บ

หางานอดิเรกหรือสิ่งที่ชอบทำในเวลาว่างเพื่อให้เรารู้สึกเบื่อน้อยลง แต่ถ้าหากยังลดอาการกัดเล็บในบางครั้งเมื่อรู้สึกเบื่อไม่ได้ ก็ลองหาสิ่งอื่นมาระบายความเครียดของเรา เช่น บีบลูกบอลลดความเครียด หรือการเคี้ยวหมากฝรั่ง เป็นต้น

#ปรึกษากับจิตแพทย์

เมื่อการกัดเล็บเป็นการแสดงออกจากความรู้สึกในจิตใจ การปรึกษากับจิตแพทย์ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีที่สุด นอกจากจะได้รู้ถึงสาเหตุมากขึ้นและได้ระบายปัญหาในจิตใจแล้ว เรายังสามารถได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องหรือหาทางรักษาที่ดีและน่าเชื่อถืออีกด้วย

มีวิธีดี ๆ อีกมากเพื่อให้เราสามารถระบายความรู้สึกที่ไม่ดีในจิตใจของเราออกมาในแบบที่ดีขึ้น นอกจากจะส่งผลดีต่อกายภาพภายนอกแล้ว ภายในจิตใจของเราก็จะถูกเยียวยาไปพร้อมกัน เมื่อเราพยายามรักษาความรู้สึกของตัวเราเองให้ดี เราก็จะแสดงอาการที่ส่งผลเสียต่อตัวเราน้อยลง

หากใครมีเรื่องอะไรที่ไม่สบายใจ ก็สามารถทักมาปรึกษากับพี่ ๆ นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ของเราได้ทุกคนเลยนะ เพราะเรารับฟังทุกคนเสมอ

อ้างอิง

https://www.euston96.com/en/onychophagia/

https://www.psychologytoday.com/intl/conditions/onychophagia-nail-biting

https://www.aad.org/public/everyday-care/nail-care-secrets/basics/stop-biting-nails