“ฉันคือคนถูก และ เธอคือคนผิด” ความคิดลักษณะนี้เกิดจากการเอาบรรทัดฐานของตัวเองไปตัดสินคนอื่น เราจะวัดได้อย่างไรว่าใครดีกว่าใคร ความรู้สึกที่อยู่ข้างในสามารถวัดได้จริงๆ หรือไม่? การที่เราแสดงออกทางความคิดและการกระทำในแบบที่ต่างออกไป ไม่สมควรถูกตำหนิหรือล่าแม่มดเลย
“การล่าแม่มด” เกิดขึ้นในยุโรป เพื่อกำจัดคนที่คิดต่าง มีพฤติกรรมต่อต้าน มีอิทธิพลทางความคิดเกี่ยวกับเรื่องศาสนา ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ต่อมาการล่าแม่มดเริ่มลามไปถึงเรื่องผลประโยชน์ เศรษฐกิจและการเมือง เช่น หากเราขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน เราอาจรวมตัวคนที่คิดเหมือนเราแล้วใส่ร้ายว่าอีกฝ่ายเป็นแม่มดแล้วหาทางกำจัดออกไปโดยการทำร้ายร่างกายหรือเผาทั้งเป็น
เมื่อคนที่คิดเหมือนกันมาอยู่รวมกันก็พยายามที่จะสร้างบรรทัดฐานของกลุ่มขึ้นมา ใครที่ไม่เข้าพวกจะต้องถูก “ล่าแม่มด” และถ้าเราไม่อยากถูกล่าให้เริ่มล่าคนอื่นก่อน โดยการแสดงตัวว่า “ฉันนี่แหละถูก คนส่วนใหญ่ก็คิดเหมือนฉัน” จริงๆ มันอาจเริ่มมาจากอคติในใจเรา เช่น ลึกๆ เราไม่ชอบดาราคนนั้นเลยแต่เขาดังมาก คนเป็นคนธรรมดาที่ไม่สามารถทำอะไรเขาได้ แต่เมื่อเขาอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบ เราจึงใช้โอกาสนี้ไล่แม่มดออกไปโดยมีอีกหลายๆ คนที่เห็นด้วยกับเรา ดังนั้นไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดกับสิ่งที่ทำ
โดยเฉพาะตอนนี้ที่เรามีสื่ออยู่ในมือกันแทบทุกคน การกดไลค์ กดแชร์หรือคอมเมนต์ด้วยอารมณ์ บางครั้งเราไม่รู้ตัวหรอกว่ากำลังเสพติดความรู้สึกอิ่มใจหลังจากล่าแม่มดสำเร็จ แล้วเผลอคิดไปว่าตัวเองทำสิ่งที่ดีมากๆ ในการออกมาพูดหรือสร้างกระแสบางอย่างให้ไวรัล แต่ไม่รู้เลยว่าคนที่ถูกล่า “เขาทำผิดจริงๆ หรือเปล่า?”
“การล่าแม่มด” รุนแรงขึ้นทุกวัน ทำไมเรายังขาดความตระหนัก ?
1. ความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาและระดับความเห็นอกเห็นใจที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน จึงตีความได้ยากว่าการกระทำแบบไหนนับว่าเป็นการล่าแม่มด ไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจนว่าปัญหาต้องรุนแรงขนาดไหน ยกตัวอย่างเคสของ Mallory Grossman นักเรียนชั้นป.6 ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ที่ฆ่าตัวตายเพราะ Cyber-Bullying แม่ของเธอได้พูดคุยกับพ่อแม่ของนักเรียนที่บูลลี่ Mallory เพื่อบอกให้รู้ถึงปัญหา แต่พวกเขาคิดว่ามันเป็นแค่เรื่องหยอกล้อกันและไม่สนใจสิ่งที่เกิดขึ้น Mallory ต้องเจ็บปวดมากขึ้นเรื่อยๆ จากการถูกบูลลี่และยังได้รับข้อความหยาบคายจากเพื่อนร่วมชั้นนานกว่าครึ่งปีก่อนจะตัดสินใจฆ่าตัวตาย ซึ่งเห็นได้ชัดเลยว่าทุกคนไม่ยื่นมือเข้าไปพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่และไม่ใช่ปัญหาของตัวเอง
2. เรากำลังแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คนในสังคมพยายามลดความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่และพยายามจะช่วยให้คนที่ถูกแกล้งเอาชนะปัญหาเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไปให้ได้ แต่ทำไมถึงไม่เริ่มที่การป้องกันปัญหาตั้งแต่แรก เราควรให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ในเหตุการณ์ (Bystander) ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากๆ เพราะพวกเขาสามารถช่วยเหลือเหยื่อหรือเลือกสนับสนุนผู้ล่าด้วยมือที่มองไม่เห็น (invisible hand) การที่ไม่ทำอะไรเลยไม่ได้หมายความว่า Bystander จะไม่เกี่ยวข้องกับการบูลลี่เพราะสิ่งนี้อาจทำให้เกิดบาดแผลในใจของเหยื่อ
3. ประเทศไทยยังไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมายโดยเฉพาะในเรื่องของ Cyber-Bullying เป็นการยากที่จะลงโทษคนที่ทำผิดหรือปกป้องเหยื่อ กฎหมายหมิ่นประมาทและพรบ.คอมพิวเตอร์สามารถปรับใช้ได้แค่ในบางกรณี ทำให้ยังเกิดปัญหาการลักพาตัว ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจจากการล่าแม่มดและมีคนจำนวนมากซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังจากคีย์บอร์ดเพื่อทำร้ายคนอื่น
“everything goes online, always online” แม้เราอยากจะลบหรือลืมมัน แต่สิ่งที่เคยอยู่ในโลกออนไลน์จะยังคงอยู่เสมอ ในประเทศไทยมีผู้คนจำนวนมากถูกล่าแม่มดแล้วลงเอยด้วยอาการเจ็บป่วยทางใจ ในทางกลับกันเราไม่ได้ตระหนักมากพออย่างที่ควรจะเป็น
จากนี้เราควรใส่ใจกับปัญหานี้มากขึ้นหรือไม่? ไม่ว่าเราจะเป็นคนถูกล่าแม่มด เป็น Bystander หรือยืนอยู่ในจุดใดก็ตาม เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องไม่เป็นคนที่ทำความผิดหรือผลักใครเข้าไปในมุมมืด เราอยากให้ทุกคนพยายามยืนหยัดในความถูกต้อง ไม่เพิกเฉยต่อปัญหาการบูลลี่และช่วย raise awareness เพื่อหยุดยั้งพฤติกรรมเหล่านี้
อูก้าเป็นกำลังใจให้ทุกคนเคยผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับการบูลลี่และหวังว่าปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข หากใครรู้สึกเป็นกังวล เครียดหรือได้รับผลกระทบจากการบูลลี่ ลองทักมาปรึกษานักจิตวิทยาและจิตแพทย์ของอูก้าได้เลยนะคะ
อ้างอิงจาก
https://themomentum.co/momentum-feature-witch-hunt-anusorn-tipayanon/
Recent Comments