ในชีวิตจริงเราคงไม่สามารถทำทุกอย่างในแบบที่จินตนาการได้ เราเลยรู้สึกว่ามุกตลก ภาพล้อเลียน สื่อต่างๆเรื่องเพศเป็นการเพิ่มสีสันให้ชีวิต แต่เราเคยคิดอย่างจริงจังไหมว่าขอบเขตของเนื้อหาแบบไหนที่เรียกว่าเกินไป อาจกลายเป็นการ harassment เพศตรงข้ามได้นะ

หรือที่เราไม่เข้าใจความรุนแรงของปัญหาเพราะไม่เคยรับรู้เผชิญการกดขี่ทางเพศโดยตรง?

เพราะเราอยู่ในสังคมที่ย้อนแย้งว่าหัวข้อทางเพศ เป็นเรื่องธรรมชาติหรือเป็นเรื่องที่ควรปกปิดและสงวนไว้เป็นพื้นที่ส่วนตัว สำหรับคนไทยเพศศึกษาทั้งน่ากลัวและเต็มไปด้วยอคติ การถูกปิดกั้นมากๆ ทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น และท้ายที่สุดอาจนำไปสู่ตลกร้ายในการสร้างคอนเทนต์เรื่องเพศแบบไร้ขอบเขต

แต่จริงๆแล้ว “เพศ” เป็นเรื่องธรรมชาติ ความรู้สึกและพฤติกรรมทางเพศไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจและ “sex” ก็เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ให้เราใกล้ชิดกับคนรัก แต่ในทางตรงกันข้ามเรื่องเพศสามารถบิดเบือนได้ หากมีการบีบบังคับและใช้ความรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพกายและใจ

สภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้คนพูดถึงเรื่องทาง “เพศ” ได้อย่างเปิดกว้าง การผลิตสื่อ การโพสต์และส่งต่อข้อความ ภาพถ่าย เสียงและวิดีโอ สามารถทำได้พร้อมๆ กันด้วยความเร็วและปริมาณที่ไม่จำกัด รวมถึงการเซ็นเซอร์หรือไตร่ตรองถึงความเหมาะสมของเนื้อหาก็ลดน้อยลงมากจุดนี้เองนำไปสู่การโต้เถียงเป็นวงกว้างในสังคม

คนส่วนหนึ่งที่มองว่ากลุ่ม Feminism หรือกลุ่ม Masculinity มีความก้าวร้าวหรือสุดโต่งเกินไป เพราะสูญเสียพื้นที่ Free Speech ที่จะถกเถียงเรื่องเพศ เช่น มุกตลกข่มขืน วิจารณ์รูปร่างหน้าตาเพศตรงข้าม การโพสต์ภาพหรือข้อความล่อแหลม ซึ่งอาจเป็นการจำกัดการแสดงออกทางความคิดและพฤติกรรมที่เคยทำมา

Norman Doidge of Columbia University บอกว่า “สื่อลามก (pornography) คือการนำเสนอศูนย์รวมของวัตถุทางเพศที่ไม่มีที่สิ้นสุดทำให้คนที่รับสื่อคึกคะนองมากเกินไปและเปลี่ยนการรับรู้ทางระบบประสาทและการใช้ชีวิตของคนเราได้ด้วย” ซึ่งสื่อลามกตามกฎหมายไทย ได้แก่ เอกสาร ภาพพิมพ์ ภาพเขียน ภาพระบายสี รูปภาพ สิ่งพิมพ์ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกภาพ แถบบันทึกเสียง แต่ไม่ครอบคลุมถึงการเผยแพร่ภาพสดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, YouTube, Instagram และ Twitter เป็นต้น

โดยสถาบัน Witherspoon เสริมว่า คนทุกเพศหรือทุกกลุ่มอายุต่างได้รับผลกระทบจากสื่อลามกที่มีเนื้อหารุนแรง เช่น การล่วงละเมิด การกดขี่ทางเพศ การมองเพศตรงข้ามเป็นวัตถุ อาการใคร่เด็ก ฯลฯ   ในปัจจุบันไม่ว่าจะชีวิตจริงหรือโลกออนไลน์ การกำหนดขอบเขตของการเผยแพร่สื่อเหล่านี้ก็ทำได้ยาก เพราะมันกลายเป็นตลกร้ายที่สอดแทรกอยู่ในชีวิตเรา ไม่ว่าจะฉากข่มขืนในละคร ภาพหรือข้อความบนอินเทอร์เน็ต หนังสือนิยาย ล้วนเป็นการตอกย้ำภาพความรุนแรงทางเพศทั้งสิ้น

Michael Bourke บอกว่า “อินเทอร์เน็ตช่วยให้คนที่มีความคิดร้ายๆ มารวมตัวกัน ด้วยความคิดแบบเดียวกัน” ในโครงการบำบัดผู้กระทำความผิดทางเพศที่ Butner Federal Prison ผู้ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก 85% ยอมรับว่าการล่วงละเมิดทางเพศเด็กช่วยปลดปล่อยความเชื่อที่ว่า “acting out one’s fantasy” เมื่อความแฟนตาซีเริ่มจะน่าเบื่อเลยนำไปสู่การแสวงหาเหยื่อในชีวิตจริง

หากสื่อเสนอภาพที่แสดงให้เห็นถึงการเคารพ ยินยอมและความคาดหวังทางเพศที่ดีต่อสุขภาพ จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางเพศและเสริมความเข้าใจระหว่างเพศต่างๆ ในสังคมได้ แต่ในเมื่อยากจะปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด หน้าที่นี้จึงเป็นของคนที่เลือกเสพและสนับสนุนสื่อว่าคุณจะทำอย่างไร

ไม่มีอะไรน่าเศร้าเท่ากับการที่เราดูถูกคุณค่าของมนุษย์ด้วยกันเอง เมื่อไรที่สังคมจะมองเห็นว่าการกดขี่ทางเพศนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและยังมีอยู่ทุกวัน แม้เราจะไม่ใช่คนที่ได้รับผลกระทบแต่เราอาจเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนหรือทำให้มันเกิดขึ้นโดยไม่ได้เจตนา

จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ ด้วยการทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของปัญหาและเยียวยาผู้ที่ทุกข์ทรมานจากความเหลื่อมล้ำทางเพศ เพราะทุกวันนี้โลกของเราเปิดกว้างเกินกว่าจะกำหนดขอบเขตหรือนิยามเพศให้มีแค่ชายกับหญิง ดังนั้นเราควรปฏิบัติต่อคนอื่นในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

เรานำเสนอบทความนี้เพื่อให้ความรู้และอยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ไม่ได้มีเจตนาสร้างความขัดแย้งใดๆ หากมีปัญหาไม่สบายใจอยากปรึกษาเรา สามารถติดต่ออูก้าเข้ามาได้เลยนะ

อ้างอิงจาก

https://www.focusforhealth.org/how-pornography-impacts-violence-against-women-and-child-sex-abuse/

https://www.psychologytoday.com/us/blog/you-it/201509/are-people-more-interested-in-sex-today

http://dspace.spu.ac.th/bitstream/123456789/5564/10/บทที่ 4.pdf