ครั้งล่าสุดพูดกับพ่อแม่เรื่องปัญหาสุขภาพจิตเขาตอบว่ายังไงกันบ้าง?
“คิดไปเองหรือเปล่า?”
“ต้องไปหาหมอเลยเหรอ? ไปหาหมอแล้วประวัติมันติดตัวนะ”
บางคนเลือกหูทวนลมแล้วเปลี่ยนเรื่อง
บางคนก็ร้องไห้ราวกับว่าโลกทั้งใบของเขาแตกสลายไป
เจอคำตอบแบบนี้เข้าไป เป็นใครก็ไม่กล้าไปพูดเรื่องสุขภาพจิตให้คนในบ้านได้ยิน
เมื่อได้ยินอะไรแบบนี้มันเหมือนผลักให้เราโดดเดี่ยวในการต่อสู้กับโรคทางสุขภาพจิตเลยจริงไหม? เราทุกคนต่างคาดหวังให้บ้านเป็นพื้นที่ที่เรารู้สึกสบายใจที่จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ครอบครัวฟังได้ แต่ตอนนี้เรากลับรู้สึกไม่อยากพูดเรื่องที่ส่งผลต่อชีวิตเรามากที่สุดหนึ่งเรื่องให้ใครฟังเลย
เราตั้งคำถามบ่อย ๆ ว่าทำไมผู้ใหญ่มองว่ามันเป็นเรื่องน่าอายขนาดนั้นเวลาพูดว่าเราต้องไปหาจิตแพทย์ คำตอบที่เรานึกได้ก็น่าจะเป็นธรรมชาติของการเรียนรู้เรื่องปัญหาสุขภาพจิตในสมัยของเขายังไม่มีการทำความเข้าใจว่ามันเป็นโรคที่หายได้ผ่านการใช้ยาและการพบแพทย์ ในขณะที่ในสายตาของคนรุ่นเรามองว่าโรคทางสุขภาพจิตไม่ได้ใหญ่โตไปกว่าการเป็นหวัดแล้วเข้าไปโรงพยาบาลมากเท่าไรเลย ซึ่งความเข้าใจที่แตกต่างกันนี้คือ Mental Illness Literacy ที่แตกต่างกัน โดยความต่างกันนี้เกิดจากสิ่งที่ถูกปลูกฝังตั้งแต่ตอนเด็กและจากการศึกษา
แล้วจะทำยังไงดีถ้าพ่อกับแม่ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับเรื่องนี้? ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนก็คือการคุยกันนั่นแหละเพียงแต่การคุยนั้นอาจต้องมีกลวิธีมากกว่าการเดินเข้าไปคุยเฉย ๆ
อย่างแรกคือเรื่อง คุยเมื่อไร เรื่องการคุยกับพ่อแม่แล้วเกิดความเห็นที่ไม่ตรงกันนั้นมีอยู่สองสามอย่างที่เราต้องทำ คือเราต้องปล่อยให้เวลาผ่านไปสักพัก การพยายามเคลียร์กันเลยเมื่อทั้งสองฝั่งมีความไม่เห็นด้วยกันทั้งคู่ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเพราะตอนนี้สิ่งที่เป็นตัวนำบทสนทนาจะเป็นความรู้สึก การทิ้งเวลาผ่านสักพักคือการปล่อยให้พ่อแม่เก็บข้อมูลใหม่ที่เราเพิ่งให้ไปคิดทบทวน และเราก็เก็บคำพูดของเขาเพื่อมาทำความเข้าใจกับเขาเพื่อคิดว่าเมื่อเรากลับไปคุยกับเขาเราต้องอธิบายในแง่มุมไหนถึงดีที่สุด
แล้วจะคุยยังไงดี? หลังจากทั้งสองฝั่งใจเย็นลงแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือเราต้องคิดว่าจะเริ่มคุยเรื่องนี้อีกครั้งยังไงไม่ให้ซ้ำรอยเดิม เราคิดวิธีที่สร้างสรรค์ ๆ มาอย่าง เช่น เริ่มบทสนทนาจากการเขียนโน๊ตถึงกันถ้าไม่กล้าพูดตรง ๆ วิธีนี้อาจเป็นวิธีที่ดีสำหรับคนที่มีเสียงดุหรือหน้าดุเพื่อเริ่มบทสนทนาให้นุ่มนวลมากขึ้น หรือบทสนทนาอาจเกิดขึ้นได้จากการเปิดหนังที่มีเรื่องสุขภาพจิตดูด้วยกันเพื่อเริ่มบทสนทนาก็เป็นความคิดที่ไม่เลวเลย โดยเฉพาะหนังที่ตัวเอกมีปัญหาสุขภาพจิต เพราะตัวหนังมักมีการสร้างให้เราเข้าใจตัวละครแต่แรก และเมื่อพ่อแม่เข้าใจตัวละคร เมื่อเราคุยกับเขาเขาก็จะเข้าใจเราได้ง่ายขึ้น
ในประสบการณ์ตรงของเรา ครั้งหนึ่งหลังจากไม่ได้คุยกันเรื่องสุขภาพจิตนาน แม่เราเข้ามาหาเราด้วยเรื่องนี้เอง แต่ด้วยท่าทีที่นิ่งและไม่ตกใจเท่าคราวที่แล้ว หลังจากนั้นเขาจึงถามด้วยน้ำเสียงที่อยากจะเข้าใจว่าสิ่งที่เรากำลังผ่านอยู่นั้นเป็นยังไงและเขาทำอะไรได้บ้าง แม้ว่าในคำพูดอาจมีความเข้าใจผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ด้วยการค่อย ๆ อธิบายให้กันและกันฟัง เพราะเหมือนกับที่ค่านิยมของยุคก่อนบดบังความเข้าใจเขาต่อสุขภาพจิต ความผิดหวังของเราก็บังเราไม่ให้เห็นความเป็นห่วงของเขาด้วยเช่นกัน
ฉะนั้นสำหรับพ่อแม่ที่กำลังพยายามเข้าใจลูก ๆ ในเรื่องสุขภาพจิต เราอยากบอกว่าแม้ว่าการทำความเข้าใจคนที่เกิดกันคนละยุคสมัยในเรื่องที่ไม่คุ้นเคยอาจเป็นเรื่องยาก แต่เราเชื่อว่าหากทั้งสองฝั่งค่อย ๆ ฟังและทำความเข้าใจการเข้าใจกันนั้นอยู่ไม่ห่างไกลเลย ส่วนลูก ๆ เองก็ต้องไม่ลืมที่จะให้เวลาพ่อแม่ที่จะทำความเข้าใจเรื่องที่ใหม่มาก ๆ สำหรับพวกเขาด้วย และถ้ายังไม่รู้ว่าเริ่มปรับตัวเข้าหากันยังไงอูก้าจะอยู่ตรงนี้คอยเป็นคนให้คำปรึกษาได้เสมอเลย
Recent Comments