จู่ๆ ก็อยากให้โลกนี้แตกไปเลย ฉันจะได้ไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไป ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้ยังไงนะ แล้วที่เราได้ยินคำทำนายว่าโลกจะแตกอยู่บ่อยๆ มันเป็นเพราะอะไร หรือว่าไม่ใช่เราคนเดียวที่อยากให้โลกแตกได้แล้ว

มันใช่ความรู้สึกของคนที่ยอมแพ้หรือเปล่า? โดยส่วนตัวเราคิดว่า “เบื่อหน่าย” หรือ “เอือมระอา” น่าจะเหมาะกับบริบทนี้มากกว่า เวลาที่เราพบเจอคนที่เกินจะเยียวยา เห็นอะไรบางอย่างที่เกินจะแก้ไข ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เราอาจรู้สึกว่า “โลกแตกไปเลยเถอะ” ทำไมสิ้นหวังขนาดนี้

เราได้เห็นคำถามว่า “โลกจะแตกได้ยัง?” เยอะขึ้นในช่วงที่ข่าวการเมืองเริ่มร้อนแรง ส่วนใหญ่จะบรรยายความรู้สึกสิ้นหวังกับคนในสังคมด้วยกันและหมดหวังที่จะเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงหรือก้าวหน้า แต่ภาวะที่คนเรารู้สึกแบบนี้ไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิดขึ้น มนุษย์เราเคยเจอวิกฤติที่ทำให้หมดหวังมานับครั้งไม่ถ้วน

ตั้งแต่ปีค.ศ. 1555 นอสตราดามุส ได้บันทึกไว้ว่าโลกจะเจอกับหายนะ “ในปี 1999 เดือน 7 จะมีราชาแห่งความน่าสะพรึงกลัวมาจากฟากฟ้า” บ้างก็บอกว่าเพราะดาวเคราะห์พุ่งชนโลก บ้างก็บอกว่าจะเกิดสงครามโลกอีกครั้ง ต่อมาชาวคริสเตียนทำนายว่าปี 1666 โลกจะสั่นสะเทือน ช่วงนั้นประเทศอังกฤษเกิดการระบาดของกาฬโรคและเกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ มีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก จากนั้นคำทำนายเรื่องวันสิ้นสุดของโลกก็ยังดำเนินต่อไป

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษใหม่ เป็นอีกครั้งที่โลกอาจมาถึงจุดจบ บางคนถึงขั้นทำนายว่านาฬิกาของโลกจะรวนจนพาเราย้อนกลับไปช่วง 1900 แทน รวมถึงจะมีภัยพิบัติต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงปี 2000 แต่สุดท้ายเราก็ผ่านมาได้ทุกครั้ง ไปๆมาๆ การทำนายถึงวันสิ้นโลกนั้นมีแทบจะทุกปีกันเลยทีเดียว แล้วคนเราคาดเดาถึงจุดสิ้นสุดกันทำไม หรือในใจลึกๆ ทุกคนรู้สึกเหนื่อยล้ากับการมีชีวิตอยู่

สตีเฟ่น ชลอตซ์แมน นักจิตวิทยาเด็กจาก Harvard Medical School พูดถึงการที่มนุษย์อินกับบรรยากาศของโลกหลังภาวะทุกอย่างสูญสิ้นว่า “ความไม่แน่นอนในโลกทุกมิติที่เราเผชิญทุกวันนี้ ประกอบกันทำให้ผู้คนคิดว่าชีวิตคงจะดีขึ้นหากเกิดการล้างบางขึ้นสักที” หลายคนมีความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย เขาจึงรู้สึกว่าถ้าโลกแตกก็ยังไม่ถึงจุดจบที่แท้จริง เพราะชีวิตของพวกเขาหลังจากนั้นจะดีกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้เขาไม่วิตกกังวลแต่กลับรู้สึกมีหวังมากกว่าเดิม

โลกสิ้นสุดลงนั่นหมายความว่าสิ่งที่เรารู้จัก ความรัก คุณค่าและประสบการณ์ทุกอย่างจะหายไปด้วย ถ้าเรารู้สึกว่าสิ้นหวังจนถึงขั้น hopelessness กับโลกใบนี้ รู้สึกไม่มีทางออก ไม่มีใครช่วยเราได้ ให้หมั่นสังเกตตัวเองว่านั่นเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ ใจเรายังไหวอยู่หรือเปล่า

พยายามพาตัวเองออกจากความรู้สึกมืดมนเหล่านั้น ด้วยการตั้งคำถามกับความสิ้นหวังที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุมาจากอะไร เราตีความสถานการณ์เลวร้ายกว่าความเป็นจริงหรือเปล่า สิ่งสำคัญคือเมื่อเรากำลังเผชิญกับปัญหาตรงหน้า ให้ลองนึกถึงทางออกที่เป็นไปได้และตั้งเป้าหมายเล็กๆ ในใจ เมื่อเราแก้ไขได้สำเร็จเราจะเข้าใกล้ความหวังมากขึ้น

สรุปแล้วโลกจะแตกวันไหน?

แม้จะมีคนทำนายเอาไว้มากมาย แต่ก็ยังเป็นคำตอบที่ไม่มีใครรู้ได้จนกว่าวันนั้นจะมาถึงจริงๆ หลายคนที่หมกมุ่นกับวันสิ้นโลก เพราะการรู้วันตายที่แน่นอนมันทำให้เขาโล่งใจ ชลอคซ์แมนพบว่าคนส่วนใหญ่จินตนาการถึงจุดจบที่โรแมนติกและมีความหวังว่าถ้ารอดชีวิตมาได้ ทุกอย่างจะเริ่มต้นใหม่อย่างสวยงาม

อาจสรุปได้ว่าที่เราอยากให้โลกสิ้นสุดได้แล้วก็เพื่อที่จะสร้างโลกใบใหม่ในแบบที่มันดีกว่าเดิม อย่างไรก็ตามโลกใบนี้ยังคงหมุนต่อไปทีละเล็กทีละน้อย แม้ไม่เป็นอย่างใจก็อย่าเพิ่งหมดหวังกับมันเลย เหมือนที่เขาบอกว่า “จงหวังให้มากขึ้นในโลกที่ไม่มีหวัง”

ถ้ามีตอนไหนที่คุณรู้สึกไม่ไหวจนอยากให้โลกแตก ลองมาเล่าให้เราฟังได้นะ

ความรู้สึกเหนื่อยใจกับบางสิ่งบางอย่างจนรับไม่ไหว ลองให้อูก้าช่วยคุณแบ่งเบาความรู้สึกนั้นดูนะ ทักมาพูดคุยกับนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ของเราได้ตลอดเลย เรื่องของใจให้เราช่วยรับฟังนะคะ

อ้างอิงจาก

https://www.facebook.com/abookpublishing/posts/1813925598637580/

https://mgronline.com/science/detail/9550000153571