“ถามจริงเถอะ รูปร่างแบบนี้เธอแปลงเพศมาหรือไง” หรือ “เธอเป็นกระเทยหรือเปล่า” ถ้อยคำดูถูกเหล่านี้เป็นสิ่งที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งต้องเจอแทบทุกวัน ในสภาพสังคมที่ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) และเคร่งครัดเรื่องระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง (Seniorism) อย่างประเทศเกาหลีใต้ ด้วยความฝันที่จะคว้าเหรียญทอง นักกีฬาต้องเผชิญความเครียดจากการฝึกซ้อมและการถูกบูลลี่อย่างรุนแรง มันคุ้มค่าหรือไม่กับความสำเร็จที่ได้มา

.

ชเวซุกฮยอนว่าที่นักกีฬาโอลิมปิกวัย 22 ปีตัดสินใจฆ่าตัวตายหลังจากถูกบูลลี่มานานกว่า 4 ปี ตอน 11 ขวบ เธอลงแข่งไตรกีฬาเยาวชนแห่งชาติและคว้าเหรียญทองมาได้จนได้ฉายาว่า “Iron Girl” เธอเล่าว่า ตัวเองฝันไว้ว่าอยากลงแข่งไตรกีฬาชิงแชมป์โลกและดูแลครอบครัวที่มีฐานะยากจนให้สุขสบาย

.

หากอยากติดทีมชาตินักกีฬาต้องเข้าไปอยู่ในสังกัดของสโมสรใหญ่ๆ ที่มีอุปกรณ์ ตารางซ้อมและเงินทุนที่พร้อม ซุกฮยอนจึงเข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของกวางจู ซิตี้ฮอลล์ ที่มีนักไตรกีฬาหญิงเจ้าของเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2010 อย่างจางยุนยองอยู่ด้วย

.

ซุกฮยอนที่เป็นความหวังใหม่ในวัย 19 ปีกับตัวเต็งวัย 28 ปีที่พยายามรักษาตำแหน่งอย่างยุนยอง ท่ามกลางคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นทุกวันแต่ทางเลือกกลับน้อยลง ยิ่งในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ การสร้างชื่อเสียงให้ประเทศก็เหมือนมีใบเบิกทางดีๆ นี่เอง แน่นอนว่ารุ่นพี่ใช้วิธีกดซุกฮยอนเอาไว้ด้วย “การบูลลี่” อย่างรุนแรงทั้งทางร่างกายและคำพูด บางครั้งก็ตบหัว ต่อย ผลัก เรียกคนอื่นให้มาร่วมวงด้วยและทุกคนก็ดูสนุกกับทำแบบนี้

.

สุดท้ายซุกฮยอนเลือกที่จะบอกโค้ช คาดไม่ถึงว่าสิ่งที่โค้ชทำคือเรียกทั้งสองคนมาแล้วให้ซุกฮยอนคุกเข่าขอโทษรุ่นพี่ หลังจากนั้นโค้ชก็บูลลี่เธอด้วย ทั้งตบตี ด่าทอ บังคับให้เธอกินอาหารจนอาเจียน ซุกฮยอนรู้สึกโดดเดี่ยวมาก แม้จะมีคนเห็นใจเธออยู่บ้างแต่ไม่มีใครกล้าพอจะยื่นมือมาช่วยเธอเลย

.

จิตใจที่บอบช้ำทำให้ฟอร์มตกอย่างน่าใจหาย ซึ่งเป็นช่วงที่ยุนยองกวาดเหรียญแทบทุกรายการทั้งในและนอกประเทศ จนขึ้นเป็นเบอร์ต้นๆ ของสโมสรเลยทีเดียว หลังจากพักไป 1 ปี ซุกฮยอนรวบรวมความกล้าเพื่อกลับมาแต่วัฒนธรรมการซ้อมที่เข้มงวดแต่ไหนแต่ไร นักกีฬามีหน้าที่ทำตามคำสั่งของโค้ชและระบบรุ่นพี่รุ่นน้องที่เข้มงวดมาก ทำให้เธอติดอยู่ในวังวนเดิมๆ

.

ไม่ใช่แค่ยุนยองและโค้ช แต่รอบนี้ยังมีแพทย์ประจำทีมอย่างอันจูยุน และนักกีฬาชายคิมโดฮวานที่บูลลี่เธอด้วย นอกจากร่างกายที่โดนเตะตีสารพัด โค้ชและหมอยังบอกว่า ซุกฮยอนเป็นโรคทางจิตและชอบทำตัวมีปัญหา เมื่อเสียกำลังกายและใจในการฝึกซ้อม เธอค่อยๆ ห่างไกลจากการติดทีมชาติ ซุกฮยอนตัดสินใจส่งเรื่องไปแจ้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งสมาคมไตรกีฬาของเกาหลีใต้ สถานีตำรวจกวางจู เพื่อที่จะหยุดความรุนแรงทั้งหมดนี้ แต่เรื่องกลับเงียบหายไป ซ้ำตำรวจยังบอกว่าเธอไม่มีความอดทนมากพอ การซ้อมกีฬาก็เหนื่อยแบบนี้แหละ

.

ซุกฮยอนเริ่มรวบรวมหลักฐาน ทั้งภาพ คลิปที่เธอโดนทำร้ายสารพัด เธอบันทึกลงไดอารี่ว่า “ฉันอยากตาย จะโดนรถชน โดนโจรเอามีดแทงหรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น ฉันไม่อยากอยู่ในโลกนี้แล้ว” เรื่องราวเลวร้ายลงจนวันหนึ่ง โค้ชเรียกแม่ของเธอมาและบังคับให้แม่ตบหน้าลูกตัวเอง โค้ชขู่ว่าจะไล่ออกจากสโมสรถ้าแม่ไม่ทำ จนซุกฮยอนต้องบอกให้แม่ตบเธอ สุดท้ายสองแม่ลูกได้แต่กอดกันร้องไห้

.

ในที่สุดซุกฮยอนตัดสินใจลาออกจากกวางจู ซิตี้ฮอลล์ แต่ด้วยทัศนคติที่คนเกาหลีเชื่อว่านักกีฬาต้องอดทน ทำให้เธอหมดหวังที่จะติดทีมชาติ มองย้อนกลับไปเธอเคยเป็นดาวรุ่งในวงการกีฬา มีทั้งความฝันและความหวัง รวมถึงอยู่ในช่วงวัยที่กำลังเปล่งประกายที่สุด แต่ความกลัวทำให้เธอไม่มีแรงจะพัฒนาตัวเองอีกแล้ว

สายตาที่ทุกคนตัดสินเธอ ทำให้ซุกฮยอนสับสนว่าการบูลลี่นั้นเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเจอหรือ ?

.

การจากไปของซุกฮยอนทำให้เรื่องราวถูกเปิดเผย แต่โค้ชก็ไม่ได้รู้สึกผิดและยังส่งข้อความไปย้ำกับคนในสโมสรว่า “ซุกฮยอนไม่สามารถเอาชนะปัญหาได้เอง อย่าบอกคนนอกเด็ดขาดว่ามันเกิดอะไรขึ้นในทีม” ด้วยความระแวงว่าตัวเองอาจเป็นเหยี่อเช่นเดียวกับซุกฮยอน คนในทีมจึงเริ่มออกมาพูดเรื่องนี้ จนสังคมเริ่มถกเถียงกันในวงกว้าง

.

ประธานาธิบดีมุนแจอินได้ออกมาพูดถึงประเด็นนี้ว่า ความรุนแรงและฝึกซ้อมอย่างโหดร้ายต้องไม่เกิดขึ้นอีก มันน่าเศร้าที่ทุกคนรับรู้แต่ปล่อยผ่าน หน่วยงานรัฐก็ไม่ทำอะไรเลยทั้งที่มีเรื่องร้องเรียนมานานแล้ว มุนแจอินสั่งให้สืบสวนทันที ซึ่งหลักฐานที่ซุกฮยอนรวบรวมไว้นั้นชัดเจนทุกอย่าง ทำให้โค้ชและยุนยองถูกคณะกรรมการโอลิมปิกเกาหลีใต้และสมาคมไตรกีฬาแห่งชาติ สั่งแบนตลอดชีวิต คนอื่นๆ ถูกตัดสินโทษไปตามสมควร ที่น่าตกใจกว่านั้นคืออันจูยุนเป็นแพทย์ปลอมที่ไม่มีใบประกอบด้วยซ้ำ

.

การฝึกซ้อมด้วยวิธีล้าหลังแบบนี้ยังคงมีอยู่เพราะที่ผ่านมาผลงานเป็นที่น่าพอใจและจับต้องได้ เหมือนเป็นการตอกย้ำความเชื่อที่ผิดๆ ความเครียดและการแข่งขันที่สูงขึ้นทุกวันเหมือนผลักให้คนเข้าใกล้ปากเหวขึ้นทุกที แน่นอนว่าทุกคนอยากดี อยากเก่ง อยากเป็นที่จดจำ แต่บางคนกลับโดดเดี่ยวและรู้สึกว่าไม่เป็นที่ต้องการของใครเลย

.

การสูญเสียแต่ละครั้งมักมีเรื่องราวซ่อนอยู่ คนที่เจ็บป่วยทางใจมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อโดยเฉพาะวัยรุ่นที่เป็นความหวังของประเทศ หลายๆ คนอยากมีชีวิตหรือเติบโตไปเป็นคนดังในเกาหลีใต้ แต่ใครจะรู้ว่าภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้น ทิ้งเบื้องหลังที่แสนเจ็บปวดไว้มากมายขนาดไหน

.

แล้วตัวเราเป็นใครในเรื่องนี้ เป็นคนลงมือ เป็นคนต่อต้าน เป็นคนซ้ำเติมผู้ที่ถูกกระทำ หรือเป็นคนที่ชี้นิ้วหาคนผิด หรือเราเป็นแค่ bystanders ที่รับรู้ แต่ไม่ลงมือทำอะไรเลย เรื่องราวอาจไม่บานปลายขนานี้ หากมีใครสักคนช่วยรับฟังและปกป้องเธอ

.

เรามาทำความเข้าใจกับปัญหาการบูลลี่ให้มากขึ้นเถอะนะ อูก้าอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ทุกคนมองเห็นคุณค่าของตัวเองและกล้าที่จะขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ คุณสามารถพูดคุยนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ของอูก้าได้เสมอนะคะ เรื่องของใจให้เรารับฟัง

อ้างอิงจาก

https://www.facebook.com/jingjungfootball/photos/a.1763433500538559/2566322330249668/