#เลิกเอาโรคต่างๆ มา make fun ได้แล้ว

“ดูจากหน้าและท่าทางแล้ว เป็นออทิสติกใช่ไหม?”

“ตอบแบบนี้ ปัญญาอ่อนหรือไง?”

“เธอบ้าเปล่าเนี่ย? ประสาท!”

คำพูดพวกนี้เป็นมุกตลกล้อเลียนที่เราได้ยินกันจนชิน บางครั้งก็ถูกนำมาเป็นคำด่า คำต่อว่า โดยที่เราอาจลืมนึกไปว่ามีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากคำพูดเหล่านี้ ถ้าเลือกได้เชื่อว่าทุกคนอยากเกิดมาเป็นคนปกติ มีร่างกายและสติปัญญาสมบูรณ์พร้อม แล้วถ้าอะไรบางอย่างที่ทำให้เราแตกต่างออกไปถูกนำมาพูดถึงเป็นเรื่องตลกร้าย เราจะรู้สึกอย่างไร?

อูก้าเคยเขียนบทความ “#เลิกเมกฟันกับโรคทางจิตเวช” เพื่อให้ทุกคนเข้าใจมากขึ้นว่าบางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับเรา แต่เป็นปัญหาหรือความทุกข์สำหรับคนอื่น นอกจากโรคที่เราได้ยินชื่อบ่อยๆ เช่น โรคซึมเศร้า ไบโพลาร์ โรควิตกกังวลหรือโรคย้ำคิดย้ำทำ ยังมีอาการป่วยกายและป่วยใจมากมายที่เรายังไม่รู้จักหรือไม่ได้มีความเข้าใจในสิ่งๆ นั้นมากพอ แต่กลับนำไปพูดในทางขบขัน สร้าง joke ในวงสนทนา ทั้งที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้น

การถูก make fun ในสิ่งที่เราเป็นนั้นน่าเจ็บปวด ไม่ใช่ไม่ยอมรับว่าเราเป็นอะไร แต่สิ่งที่เรากำลังเผชิญหรือสิ่งที่เราเกิดมาพร้อมๆ กับมัน ไม่ควรกลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจสำหรับใคร ความพิการหรือโรคต่างๆ กลายเป็นคำด่าทอกันตั้งแต่เมื่อไร อะไรที่ไม่ดี ไม่สวยงาม ไม่น่าชอบพอ มักถูกนำมาเปรียบเทียบกับความผิดปกติ

หลายคนชอบบอกว่าเพื่อนที่รสนิยมต่างจากคนอื่นว่า “เขาเพี้ยน เอ๋อ ปัญญาอ่อน”

บ่อยครั้งก็ชอบบอกว่าคนที่พูดไม่รู้เรื่องเป็น “โรคประสาท เป็นบ้า”

เดาเอาเองว่าคนที่เรียกร้องความสนใจเป็น “โรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์”

หรืออย่างล่าสุดที่มีดาราท่านหนึ่งถูกเปรียบเทียบหน้าตาความน่ารักด้วยคำว่า “ออทิสติก”

แล้วจริงๆ เราทราบกันหรือไม่ว่า ออทิสติก (Autistic) มีสาเหตุมาจากอะไร ลักษณะอาการเป็นอย่างไร? ซึ่งออทิสติกจัดอยู่ในกลุ่ม PDD (Pervasive Developmental Disorders) หรือความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน แสดงอาการอย่างชัดเจนตั้งแต่วัยเด็ก จะมีพัฒนาการทางด้านความสัมพันธ์ทางสังคมและการสื่อสารไม่เป็นไปตามปกติ โดยทั่วไปพวกเขาจะชอบอยู่ในโลกของตัวเองมาก ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ไม่ค่อยสบตา เล่นไม่เหมือนเด็กทั่วไป ชอบทำอะไรซ้ำๆ ขาดความยืดหยุ่น แต่จะสนใจบางอย่างถึงขั้นหมกมุ่นในเรื่องนั้นและด้วยความจริงจังนี้เองสามารถทำให้พวกเขากลายเป็นคนที่เชี่ยวชาญในบางสิ่งบางอย่างได้

ยกตัวอย่างคุณหมอพัคชีอน (นำแสดงโดยจูวอน) ในเรื่อง Good Doctor (2013) ที่มีภาวะออทิสติกและความอัจฉริยะแฝงอยู่และได้กลายเป็นคนหมอที่ทุกคนรัก เรื่องนี้โด่งดังจนถูกนำไปสร้างต่ออีกในต่างประเทศเพราะซีรี่ส์ได้นำเสนอภาพที่ช่วยสร้างทัศนคติด้านบวกในสังคมให้กับคนที่เป็นออทิสติก นอกจากนี้ในชีวิตจริงก็ยังมีบุคคลเช่น Kim Peek อัจฉริยะด้านความจำที่ได้ฉายาว่า “คิมคอมพิวเตอร์” เขาใช้เวลาประมาณ 8-10 วินาทีในการอ่านหนังสือ 1 หน้าและจดจำเนื้อหาหนังสือที่อ่านได้อย่างละเอียดถึง 12,000 เล่ม นอกจากนี้เขายังคำนวณปฏิทินในใจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ อีกคนหนึ่งคือ Stephen Wiltshire อัจฉริยะด้านการวาดภาพ ฉายา “มนุษย์กล้องถ่ายรูป” เขาวาดภาพจากความทรงจำ เขาสามารถวาดภาพกรุงโรมได้จากการนั่งเฮลิคอปเตอร์ชมวิวแค่ 45 นาที โดยเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นแสงหรือเงา วิหาร โคลอสเซียม ถนน ไปจนถึงตึกรามบ้านช่องหลังเล็กๆ

จากตัวอย่างที่เรายกมาจะเห็นได้ว่าพวกเขามีความสามารถที่โดดเด่นและน่าชื่นชม เราจึงไม่อยากให้ทุกคนเหมารวมหรือตีตราว่าคนที่เป็นออทิสติกทุกคนจะเป็นแบบใดแบบหนึ่งหรือมีพัฒนาการที่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรคและปัจจัยอื่นๆ แต่อยากให้เชื่อว่าเขาเป็นคนที่สามารถพัฒนาได้เหมือนเรานี่แหละ

อย่างที่บอกว่าคนที่เป็นออทิสติกจะมีอาการแตกต่างกันไปสารพัดรูปแบบ เรียกว่าเด็กร้อยคนก็ร้อยแบบ ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว จะนำวิธีสอนแบบเดียวกันไปใช้กับพวกเขายังไม่ได้ด้วยซ้ำ ต้องปรับไปตามลักษณะของแต่ละคน ซึ่งถ้าลองมองดูแล้วก็เหมือนเวลาเราสอนเด็กคนอื่นนั่นแหละ ไม่มีเด็กที่เหมือนกันทุกคนต่างเติบโตในแบบของตัวเอง ฉะนั้นก็ไม่ได้ต่างอะไรจากการที่เราจะดูแลและใส่ใจเด็กคนหนึ่งเลย การจะเข้าใจพวกเขาอาจไม่ง่าย แต่ถ้าส่งเสริมให้ถูกทางและตั้งใจเลี้ยงดูก็สามารถพัฒนาได้

พอเรามีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นแล้วการจะมองว่าชื่อโรคหรืออาการต่างๆ เป็นมุกตลกก็คงไม่ใช่ น่าดีใจที่ปัจจุบันเราเห็นหลายคนในโลกออนไลน์พยายามช่วยกันหยุดการใช้คำพูดสร้างเรื่องตลกที่ไม่ตลก หันมาระมัดระวังและตักเตือนกันเรื่องการใช้คำพูดบูลลี่กันมากขึ้น เพราะความเคยชินที่สั่งสมมานาน การจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคมกับเรื่องล้อเลียนเสียดสีจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยทั้งเวลาและความเข้าใจเป็นตัวตั้ง

สุดท้ายเราหวังว่าเหตุผลและข้อมูลที่เป็นประโยชน์จะช่วยให้การหยิบยกคำๆ หนึ่งไปพูดต่อได้รับการตระหนักและเอาใจใส่มากขึ้น ไม่รู้ไม่เป็นไรแต่เราเริ่มต้นที่จะเรียนรู้ได้ ถ้าเราไม่รู้ความหมายก่อนที่จะใช้มัน ให้ลองศึกษาดูก่อนแล้วจึงทบทวนว่าควรสื่อสารออกไปไหม เพื่อลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นได้ อย่างที่รู้ว่าโลกโซเชียลนั้นไปไว อย่าทำร้ายใจใครด้วยความประมาทของเราเลยนะ นอกจากนี้ทุกคนยังสามารถไปตาม #เลิกเมกฟันกับโรคทางจิตเวช ในทวิตเตอร์ได้เลย มีข้อมูลดีๆ ที่คนในสังคมนำมาแบ่งปันกันมากมาย

หากเพื่อนๆ คนไหนกำลังอึดอัดใจ ไม่มีความสุขกับมุกตลกที่คนอื่น make fun เกี่ยวกับเราหรือคนที่เรารัก อูก้าอยากชวนให้เข้ามาพูดคุยปรึกษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาของเรา ช่วยกันดูแลจิตใจและข้ามผ่านปัญหาไปพร้อมกับเราได้ อูก้ายินดีรับฟังคุณเสมอนะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://th.rajanukul.go.th/preview-4005.html

https://teen.mthai.com/variety/57036.html