เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าว “ป้าตบเด็ก” กลายเป็นที่พูดถึงอยู่หลายวัน ว่าด้วยเรื่องการใช้อารมณ์ ความรุนแรง เราอยากให้ทุกคนลองทบทวนดูว่าจริงๆ แล้วสาเหตุที่คุณป้าทำพฤติกรรมนั้นเป็นเพราะอะไร เป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบหรือเขากำลังคิดอะไรอยู่

ที่ต้องหยิบยกประเด็นนี้มาเล่าเพราะในทุกคนกำลังให้ความสำคัญกับ “ความเห็นต่างทางการเมือง” เราอาจเผลอทำร้ายอื่นโดยไม่รู้ตัว เป็นไปได้ไหมที่เราจะหันหน้ามาพูดคุยกันแล้วทำความเข้าใจคนที่คิดต่างให้มากขึ้น เริ่มต้นที่การตระหนักรู้ในตัวเอง (Self-awareness)

ก่อนอื่นมองตัวเองให้ดีว่าเราเป็นใคร? และเรามองโลกอย่างไร?

นักจิตวิทยาชื่อ Shelley Duval และ Robert Wicklund’s อธิบายว่า “Self-awareness คือ เมื่อเรารู้จักตัวเองเราจะเข้าใจสิ่งที่ทำ รู้ว่าให้ความสำคัญกับอะไรอยู่ ช่วยให้มีสติและมีความเป็นกลางในตัวเองมากขึ้น”

เวลาที่เราขาด Self-awareness เราอาจจะมองไม่เห็น “อารมณ์” ของตัวเอง กลายเป็นทำทุกอย่างตามความเชื่อ…เชื่อว่าสิ่งนั้นดีและถูกต้องโดยลืมไปว่าคนเราได้พัฒนาความเชื่อ ค่านิยม หรือทัศนคติขึ้นมาจากประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน จึงไม่ควรมองคนอื่นในลักษณะเหมารวมหรือคิดว่าทั้งกลุ่มนั้นจะต้องมีนิสัยหรือทัศนคติที่เหมือนกัน แต่เราจะย้ำเตือนตัวเองได้ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าตัวเองกำลังคิดหรือทำอะไรอยู่

แล้วจะทำอย่างไรให้เรามี Self-awareness มากขึ้น

– Mindfulness เพราะสติช่วยทำให้เกิดรับรู้ได้ว่าร่างกายและจิตใจของเราเป็นอย่างไร ซึ่งเราจะได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนและทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น

– Take a note สังเกตสิ่งที่เกิดรอบตัวแล้วเขียนบันทึก เป็นการทบทวนความคิดและความรู้สึก เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้แล้วเรารู้สึกอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร

– Deep-listening การฟังที่ไม่ใช่แค่การได้ยิน เราสามารถเพิ่ม self-awareness ได้ผ่านพูดคุยกับคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนอื่นๆ เทคนิคสำคัญคือให้เราโฟกัสที่การฟังและพยายามเข้าใจสิ่งที่คนตรงหน้ากำลังบอกเราให้ดี

– Share การสอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นบ้าง ทำให้เราได้เปิดกว้างทางความคิดและสิ่งที่เกิดขึ้นอาจทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ช่วยให้เราออกจาก comfort zone และเลิกยึดติดกับความคิดของตัวเอง

– Reflection ลองย้อนกลับไปหาคำตอบของสิ่งที่เห็นหรือได้ยินอีกครั้ง ช่วยให้เราไม่ตัดสินอะไรแบบผิวเผิน นอกจากได้เรียนรู้แล้วยังถือเป็นการทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านมา แล้วยังนำไปแบ่งปันให้คนอื่นได้อีกด้วย

ที่สำคัญมากๆ เลยคือ Self-awareness ทำให้เราเข้าใจร่างกาย อารมณ์ ประสบการณ์ ความคิดและความสามารถของตัวเอง ช่วยให้เราอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดีขึ้น รู้ว่าจะต้องจัดการความคิดและอารมณ์อย่างไรต่อไป เราจะคอยมองหาสิ่งดีๆ ที่ทำให้ตัวเองมีความสุข ดังนั้นถึงจะเป็นผู้ใหญ่แล้วก็อาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้หากเราขาด Self-awareness

เป็นไปได้ไหมถ้าคุณป้าจะใช้วิธีอื่นเพื่อทำความเข้าใจกับเด็กนักเรียนอย่างการเข้าไปพูดคุย หรือรอให้ใจเย็นอีกนิด คุณป้าอาจจะเกิด Self-awareness และรับรู้ได้ว่าตัวเองกำลังไม่พอใจ ควรหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์นั้นแทน

นอกจากจะรู้ตัวเองแล้ว เราต้องรับรู้ความเป็นไปของโลกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆ คนที่ต้องยอมรับว่าสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงไป เราอาจสูญเสีย “ความเป็นกลาง” ในการมองโลก เมื่อเราเพิกเฉยหรือปิดรับข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเชื่อของเรา การที่เราเลือก “รับ” แค่บางอย่าง เปรียบเหมือนปิดประตูตั้งแต่ด่านแรก ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงเรากับคนอื่นก็ถูกปิดด้วย

อย่าลืมว่าความเชื่อ ค่านิยมและทัศนคติไม่เกี่ยวกับอายุหรือสถานะ “การยอมรับความแตกต่างง่ายกว่าการคาดหวังให้คนอื่นเปลี่ยนแปลง” โลกของความเป็นจริงคือโลกที่ทุกคนคิดต่าง แต่วิธีสื่อสารและความเข้าใจต่างหากที่จะทำให้อยู่ร่วมกันได้

อูก้ายินดีจะรับฟังทุกมุมมองและเข้าใจในสิ่งที่คุณเชื่อ ไม่ว่าปัญหาจะหนักแค่ไหนเราก็จะผ่านไปได้แน่นอนสามารถทักมาพูดคุยกับพี่ๆนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ของอูก้าได้นะคะ

อ้างอิง

https://hbr.org/2018/01/what-self-awareness-really-is-and-how-to-cultivate-it

https://positivepsychology.com/self-awareness-matters-how-you-can-be-more-self-aware/

https://www.urbinner.com/post/self-awareness