ช่วงฮาโลวีนปีนี้ อูก้าอยากพาไปรู้จักกับตัวตนของซอมบี้เกาหลีจากหนังดังอย่าง Train to Busan หรือซีรี่ย์อย่าง Kingdom ที่สร้างกระแสซอมบี้ฟีเวอร์มาแล้ว
.
สิ่งที่ดึงดูดใจให้คนติดตามเรื่องราวของซอมบี้ นอกจากฉากที่ตื่นเต้น ลุ้นระทึกไปกับการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดของมนุษย์แล้ว แน่นอนว่าเราอยากรู้ว่าซอมบี้มีหน้าตาอย่างไร ใช้ชีวิตแบบไหน ตัวละครจะรอดหรือไม่ หรือหนังต้องการจะสื่ออะไร รวมถึงนักแสดงนำที่ทำให้น่าติดตาม ที่สำคัญคือผู้กำกับจะถ่ายทอดให้เรารับรู้และอินไปกับเรื่องราวได้อย่างไร เพราะในชีวิตจริงแค่จินตนาการว่ามีซอมบี้ใช้ชีวิตปะปนอยู่กับคนธรรมดาก็แปลกมากแล้ว
.
ในปี 2016 หนังเกาหลีเรื่อง Train to Busan ทำรายได้ถล่มทลายด้วยเรื่องราวที่สนุกตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งนอกจากขบวนรถไฟที่ออกจากโซลไปปูซานแล้ว ในหนังก็ไม่ได้ใช้โลเคชั่นอื่นเป็นพิเศษด้วยซ้ำ แต่ทำไมหลังดูจบเราถึงรู้สึกว่าหนังสอนอะไรเรามากมาย
.
เริ่มต้นจากการเดินทางของพ่อกับลูกสาวคู่หนึ่งที่ความสัมพันธ์ไม่ค่อยดีนัก แต่เพราะลูกอยากเจอแม่ในวันเกิด พ่อจึงต้องจำใจพาลูกไปปูซานทั้งที่ตัวเองงานยุ่งมากๆ ขณะนั้นคนเกาหลีบางส่วนก็ได้รับรายงานข่าวว่าเกิดเหตุการณ์ซอมบี้บุกเมืองให้รีบอพยพ จุดสำคัญของเรื่องอยู่ที่การไล่ล่าของเหล่าซอมบี้ แต่เมื่อเหตุเกิดในรถไฟคนจะหนีไปไหนรอด ซึ่งตอนแรกพระเอกของเรื่องก็สนใจแต่ชีวิตตัวเองและลูกสาวเท่านั้น แต่เมื่อสถานการณ์เลวร้ายลงจนไม่สามารถควบคุมจำนวนซอมบี้ได้อีก คนที่เหลือจึงต้องร่วมมือกันเพื่อปกป้องชีวิตตัวเองและเพื่อนร่วมทาง
.
ในหลายๆ ซีนของหนังเรื่องนี้แสดงถึงความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ชัดเจนมากๆ ทั้งท่าทีไม่สนใจชีวิตคนอื่นเลย การหนีเอาตัวรอด ปิดประตูโบกี้ใส่คนอื่น ที่น่ากลัวที่สุดคือทางการรู้อยู่แล้วว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น แต่สื่อกลับออกข่าวแค่ผิวเผินเพราะกลัวจะเกิดความวุ่นวายและส่งผลต่อประเทศ จึงไม่ได้บอกให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือแต่อย่างใด
.
เมื่อความเป็นความตายอยู่ตรงหน้า ทุกคนย่อมรักษาชีวิตตัวเองก่อน แต่การผลักคนอื่นไปตายแทนนั้นก็ไม่ได้ช่วยให้เรารอดเช่นกัน มีบางช่วงที่คนในรถไฟเกือบจะเอาชนะซอมบี้ได้ แต่เพราะมีบางคนที่เห็นแก่ตัว ทำให้ทุกคนต้องตกอยู่ในอันตรายซ้ำๆ
.
ในขณะเดียวกันบางคนเลือกที่จะสละชีวิตเพื่อปกป้องคนอื่น แม้อยู่ในวินาทีสุดท้ายของชีวิต เขายังหวังให้คนที่เรารักรอด เรารู้สึกบีบหัวใจสุดๆ เมื่อตัวละครพูดถึงครอบครัวที่รออยู่ ถึงจะแสร้งทำเป็นว่าเข้มแข็งและยังไหว แต่ลึกๆ พวกเขาแค่อยากกลับบ้าน อยากรู้สึกปลอดภัยเท่านั้นเอง
.
Kingdom ที่ฉายเมื่อปี 2019-2020 นำเสนอเรื่องซอมบี้ในยุคโชซอนของเกาหลี แม้พล็อตจะต่างจาก Train to Busan ตรงที่เล่าถึงราชวงศ์ที่มีองค์ชายไร้อำนาจอย่างอีชาง พยายามหยุดยั้งโรคระบาดที่ทำให้คนกลายเป็นซอมบี้ แต่เขากลับต้องต่อสู้กับข้าราชการและอำนาจมืดที่ไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชนเลย ซึ่งแก่นของทั้งสองเรื่องมีความคล้ายกันคือเรื่องจิตใจที่เห็นแก่ตัวของมนุษย์จะนำภัยที่ยิ่งใหญ่มาให้เสมอ
.
ปมปัญหาใน Kingdom คือการบริหารบ้านเมืองในแบบที่แบ่งแยกชนชั้นสูงกับชาวบ้านอย่างชัดเจน เมื่อองค์ชายอีชางได้สืบหาความจริงและพยายามช่วยเหลือประชาชน เขายิ่งพบว่าอำนาจของคนชนชั้นสูงนั้นน่ารังเกียจและสิ้นหวังเพียงใด
.
เราจะยอมจำนนต่ออำนาจหรือไม่? Kingdom นำเสนอภาพพระราชาพ่อของอีชางเป็นตัวแทนของมนุษย์ที่มีจิตใจอ่อนแอและพ่ายแพ้ต่ออำนาจ เพื่อจะรักษาตำแหน่งของตัวเองเขาจึงยอมถูกกลืนกินจนกลายร่างเป็นผีดิบ
สุดท้ายประชาชนต้องมาแบกรับปัญหาจากการกระหายอำนาจของคนในวังหลวง
.
จุดที่น่าเศร้าคือคนเราหวงแหนอำนาจแม้แต่ยามที่ไม่มีลมหายใจ เช่น แม่ที่ไม่ยอมให้ตัดหัวลูกชายที่ตายแล้วเพราะหมิ่นเกียรติของครอบครัวที่เป็นตระกูลสูงศักดิ์ ทั้งที่รู้ว่าหากไม่ตัดหัว ผีดิบจะสามารถฟื้นขึ้นมาทำร้ายคนอื่นได้อีก อีกฉากที่ทำเราหดหู่ไม่น้อยคือชาวบ้านอดอยากจนถึงขั้นต้องนำร่างของคนที่ตายมาทำเป็นอาหาร ไม่ต้องคำนึงถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์หรืออะไร แค่การมีชีวิตอยู่ยังเป็นเรื่องยากลำบากเลย
.
ทุกตัวละครผ่านบททดสอบว่าจะเลือกอำนาจหรือความยุติธรรม ซึ่งอีชางก็ได้เลือกที่จะทวงคืนความยุติธรรมให้กับประชาชน แต่ต้องแลกมาซึ่งการถูกตราหน้าว่าเป็นกบฏ อกตัญญูต่อพ่อตัวเอง แถมยังต้องหนีตายนับครั้งไม่ถ้วน
.
ส่วนหนึ่งที่ Kingdom จับใจคนดูได้คือการชิงดีชิงเด่นเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ไม่ยาก ที่น่าสนใจคือทั้งสองเรื่องที่ยกมาเล่าไม่ได้ทำให้เราโฟกัสที่ความน่ากลัวของซอมบี้เลย หลังจากอินไปกับเรื่องราวแล้ว เรากลับรู้สึกว่าซอมบี้ไม่ได้คุกคามมนุษย์ แต่ช่วยกระตุ้นให้เรามองเห็นความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ที่มันน่ากลัวกว่าซอมบี้หลายเท่าต่างหาก
.
ด้านมืดในใจคนเราจะถูกดึงออกมาในสถานการณ์ที่บีบคั้น เมื่อคนเห็นแก่ตัวมาอยู่รวมกันความเปราะบางจะอาจเปลี่ยนการตัดสินใจของเราได้ ตัวตนที่เราสร้างมาและสิ่งแวดล้อมนี่แหละ ที่ช่วยกำหนดทิศทางที่เราจะเลือกเดินต่อไป
.
Train to Busan และ Kingdom ให้ข้อคิดกับเราว่าการที่คนในสังคมจะอยู่ร่วมกันได้ ต้องมีทั้งความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจและเสียสละ ที่สำคัญถ้าเรารู้จักตัวเองดีแล้ว เราจะรู้ว่าต้องปฏิบัติกับคนอื่นอย่างไรและให้คุณค่าความเป็นมนุษย์กับทุกๆ คนอย่างเท่าเทียม
.
อูก้าอยากให้ทุกคนโอบกอดทั้งด้านที่ดีและไม่ดีของตัวเองไว้ ค่อยๆ รู้จักตัวเองไปพร้อมๆกับเรานะ อูก้ายินดีรับฟังและอยู่เคียงข้างคุณเสมอ ลองทักมาพูดคุยกับพี่ๆ นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ของเราได้นะคะ
Recent Comments