เราได้ยินคำว่า ประนีประนอม (Compromise) บ่อยๆ ในการพูดถึง relationship ซึ่งมักเป็นการสื่อความหมายในเชิงบวกว่าเราจะ “พบกันตรงกลาง” หรือคุยกันเพื่อตัดสินใจอะไรบางอย่างด้วยสันติวิธี แต่หากเราเลือกที่จะประนีประนอมอยู่ตลอด เราจะสูญเสียตัวตน (Self) และความเชื่อ (Belief) ของเราหรือเปล่า?

.

การประนีประนอมนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิดเสมอไป แม้ว่าจะเป็นวิธีที่ช่วยขจัดความขัดแย้งแต่ก็อาจก่อให้เกิด “ความเครียด” ได้ บางครั้งเราทำเหมือนว่ากำลังประนีประนอม แต่จริงๆ แล้ว เราแค่พยายามจะ “ตัดจบ” ทั้งที่ในใจยังขุ่นเคืองและปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

.

ยกตัวอย่างเช่นเราอยากไปเที่ยวทะเล แต่แฟนอยากไปเที่ยวภูเขา เมื่อถกเถียงจนได้ข้อสรุป สุดท้ายฝ่ายหนึ่งจะได้ในสิ่งที่ต้องการโดยการ “ประนีประนอม” แต่อีกฝ่ายกลับรู้สึก “พ่ายแพ้” ทั้งที่เริ่มแรกทั้งคู่เลือกที่จะประนีประนอมกันเพื่อรักษาความสัมพันธ์ แต่ครั้งต่อไปพวกเขาก็จะมีปัญหากับสถานการณ์เดิมๆ และแอบจำไว้ในใจว่าครั้งต่อไปอีกฝ่ายต้องยอมเราบ้าง

.

สิ่งที่ขาดหายไปจากเรื่องนี้คือ “การสื่อสาร” เรามัวแต่จะโฟกัสที่สถานการณ์ตรงหน้า จนลืมใส่ใจความรู้สึกของกันและกัน การประนีประนอมจึงมีอะไรมากกว่าแค่การพูดคุย ก่อนอื่นเราต้องมองให้ทะลุปรุโปร่งว่าตัวตนของทั้งเราและเขาเป็นใคร ต้องการอะไร จะดีลกับอีกฝ่ายอย่างไรจึงจะเหมาะสม แล้วตัดสินใจด้วยความยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย

.

แม้ว่าจะมีเรื่องของขอบเขต การแสดงออก ความชอบธรรมและการให้เกียรติคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ถ้าเป็นคนที่เรารักและเคารพมากๆ เราจะพบว่าตัวเองเต็มใจที่จะ “ประนีประนอม” โดยไม่รู้สึกถึงขัดแย้งในใจเลย

.

แต่สิ่งที่ยากคือ การประนีประนอมกับตัวเอง เพราะเราต่างมีสิ่งที่ต้องการ มีสิ่งที่เจ็บปวดและมีความจริงรออยู่ข้างหน้า เราอาจยอมให้ตัวเองทำบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ควรทำเพราะการประนีประนอมนี่แหละ

.

บางคนเลือกที่จะละทิ้งตัวเองและใช้ชีวิตตามความต้องการของคนรอบข้าง พวกเขาจะเสียเปรียบมากถ้าคนอื่น take advantage จากจุดนี้และลำเส้นจนไม่เหลือพื้นที่ของตัวเองอีกเลย อาจพูดได้ว่าการประนีประนอมมากเกินไปอาจทำให้เราไม่เคารพตัวเองมากพอ ดังนั้นเมื่อเรายอมประนีประนอมด้วยก็ได้แต่หวังว่าอีกฝ่ายจะไม่เรียกร้องอะไรมากเกินไปจนทำให้เราลำบากใจ

.

เรากำลังซ่อนความต้องการของเราอยู่หรือเปล่า? ถ้าเราเดินต่อไป เราจะหลงในเส้นทางที่คนอื่นสร้างหรือไม่? เมื่อไรก็ตามที่เราเผลอให้การประนีประนอมกับ “คนอื่น” รุกล้ำเข้ามาถึง “ตัวเอง” เราต้องมีสติ รู้ตัวและเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด

.

แทนที่จะเก็บกดความต้องการไว้ เราควรพูดออกมาอย่างเปิดเผยมากกว่าเพื่อป้องกันปัญหาที่ยืดเยื้อ นี่ไม่ใช่การชวนทะเลาะแต่การรับฟังซึ่งกันและกันเป็นหนทางที่ชัดเจนที่สุดในการแก้ไขปัญหา

.

ในความเป็นจริงการ “พบกันตรงกลาง” หรือ “ยอมถอยคนละก้าว” เป็นวิธีที่ค่อนข้างได้ผลและดีกว่าไม่เกิดการตัดสินใจอะไรเลย อย่างไรก็ตาม การประนีประนอมไม่ควรเข้ามาแทนที่ “ความคิด” และ “ความรู้สึก” ของทั้งสองฝ่าย แต่การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและให้เกียรติกันต่างหากที่เป็นความยุติธรรมที่แท้จริง

.

ถ้าใครกำลังลำบากใจกับสถานการณ์เช่นนี้อยู่ อูก้ายินดีจะรับฟังและเข้าใจคุณเสมอ สามารถพูดคุยปรึกษากับนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ได้ เราพร้อมจะอยู่ตรงนั้นเพื่อคุณนะคะ

อ้างอิงจาก

https://www.relate.org.uk/relationship-help/help-relationships/communication/how-compromise-without-feeling-resentful

และขอบคุณบทความจาก Maxie Mccoy ในหัวข้อ “How to compromise without losing yourself”