“ถ้าเราไม่ใช่เขา เราคงไม่รู้หรอกว่าเขารู้สึกยังไง”

เป็นความคิดที่โผล่มาบ่อยครั้งเวลาพยายามทำความเข้าใจผู้มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต ความซับซ้อนของมนุษย์แต่ละคนทำให้ไม่ว่าเราจะรู้เรื่องทฤษฎีมากมายขนาดไหน ในที่สุดต่างคนก็ต่างกันไป แต่ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยี ความรู้และงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่สั่งสมมา และความคิดสร้างสรรค์ ได้นำมาซึ่งช่องใหม่ ๆ ที่เราจะบอกเล่าเรื่องราวของผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตโดยให้เราได้ไปยืนอยู่ในจุดที่เขายืนอยู่ นั่นคือวิดีโอเกมชื่อ ‘Disco Elysium’ เกมที่โยนเราลงไปสู่สถานการณ์ย่ำแย่ที่สุดเท่าที่ชีวิตคนคนหนึ่งจะเจอได้ เพื่อให้เราได้ทบทวนตัวเองว่าเราจะพาตัวเองหลุดพ้นออกจากมันได้ยังไง

Disco Elysium เป็นวิดีโอเกมสวมบทบาท (Role-play Game หรือ RPG) ที่ยึดมั่นกับคอนเซ็ปต์ดั้งเดิมของเกมประเภทนี้ คือการทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่าเรากำลังเป็นตัวละครตัวนี้อยู่ โดยเนื้อเรื่องของเกมเกี่ยวกับนักสืบคนหนึ่งที่ตื่นขึ้นมาในห้องโรงแรมแห่งหนึ่งโดยปราศจากความทรงจำว่าเขาอยู่ที่ไหน มาทำอะไร และแม้กระทั้งว่าเขาเป็นใคร หลังจากหาเบาะแสอยู่สักพักเขาพบว่าตัวเองเป็นนักสืบที่กำลังประสบภาวะหมดไฟ (Burnout) และติดสุรา จนดื่มเหล้าเข้าไปหลังความเครียดเข้าครอบงำจนความทรงจำทั้งหมดของเขาแตกเป็นเสี่ยง

นอกจาก Burnout และโรคติดสุรา ตัวเอกยังมีโรคอย่าง PTSD (Post Traumatic Stress Disorder,) โรคซึมเศร้า และที่สำคัญคือโรคหลายบุคคลิก (Dissociative Identity Disorder) ที่ผู้สร้างเกมออกแบบให้ทุกบุคลิกเป็นตัวละครของมันเองแล้วเถียงกันในหัวทุกครั้งตัวเอกคุยกับใคร

แม้ว่าเกมจะดำเนินเนื้อเรื่องเป็นเกมสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรม ที่เต็มไปด้วยการเมือง เรื่องราวที่สำคัญที่สุดที่เกมพยายามจะเล่าคือ ตัวเอกต้องสืบสวนเรื่องภายในใจของตัวเอง และนี่คือส่วนที่ผู้เล่นจะต้องเข้าไปยืนในที่ที่ตัวเอกยืน ในทุกบทสนทนาตัวหนังสือยาวเหยียด เราได้เรียนรู้ว่าตัวเอกกำลังคิดอะไร และเราต้องตัดสินใจจากความคิดเหล่านั้นเพื่อเลือกว่าเราจะทำยังไงกับความคิดนั้น ๆ ต่อ ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าเรากำลังเป็นตัวเอกอยู่จริง ๆ ด้วยการที่เราได้เลือกแม้กระทั่งว่าเขามีความเห็นทางการเมืองอย่างไร มองว่าสุขภาพจิตของตัวเองเป็นเรื่องแย่หรือมันมีมุมที่ดี และไปจนถึงว่าเขาต้องการจะหายขาดจากโรคต่าง ๆ ที่เขาเป็นหรือไม่ ซึ่งเมื่อเราสามารถรู้สึกได้ว่าตัวเลือกที่เราเลือกมีผลต่อตัวตนของเขา เราก็จะยิ่งเข้าใจเขามากขึ้นไปอีก

หากเราเบนมุมมองของเราออกจากสายตาของคนที่อยากเข้าใจ มาพูดถึงคนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต การเล่น Disco Elysium เป็นประสบการณ์ที่บวกกว่าที่คิดมาก ๆ แม้ว่าเกมจะเต็มไปด้วยการตั้งคำถามถึงตัวตน การมีอยู่ และสุขภาพจิต แต่เกมก็พูดถึงเรื่องการเห็นค่าของตัวเองแม้ในสภาวะที่ย่ำแย่ที่สุด ถ้าเราเข้าใจตัวเอกและอยากให้เขาก้าวข้ามผ่านความคิดแย่ ๆ และเรื่องร้าย ๆ ที่เขากำลังเจอ เราก็ทำให้มันเกิดขึ้นได้ และเมื่อเราดำเนินถึงตอนจบของเกม หนึ่งในข้อคิดที่เราได้มาคือ “ถ้าฉันพาตัวเอกออกจากเรื่องแบบนี้ได้ ฉันก็ต้องพาตัวเองออกจากตรงนี้ได้เหมือนกัน” ซึ่งอูก้าก็เชื่อในตัวทุกคนที่กำลังประสบปัญหาอยู่ว่าจะก้าวข้ามมันไปได้และพร้อมจะเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยกันไปถึงจุดนั้นให้ได้เลย