จาก #ข่มขืนผ่านจอพอกันที ที่บอกให้รู้ว่าสื่อจำนวนมากได้บิดเบือนความรุนแรงทางกาย (Physical Abuse) หรือทางวาจา (Verbal Abuse) ให้กลายเป็นภาพ “ความโรแมนติก” (Romanticize) ที่คุ้นเคยและเห็นในละครไทยมาตั้งแต่จำความได้ อย่างฉากลักพาตัวและข่มขืน ต่อมาก็เพิ่มการถ่ายคลิปหรือข่มขู่เพื่อแบล็กเมลด้วยตามยุคสมัย ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนกันอีกครั้งว่าจริง ๆ แล้วการกระทำที่เราเห็นหรือกำลังเสพอยู่นั้น เป็นความรักหรืออาชญากรรมกันแน่
.
เราได้ฟังจิตแพทย์ชื่อดังชาวเกาหลียังแจจินและยังแจอุงในรายการหนึ่งพูดถึง “ความรุนแรงในคู่รักที่อาจนำไปสู่การฆาตรกรรม” ว่ากลายเป็นปัญหาสังคมร้ายแรง เพราะในหลาย ๆ ประเทศก็เผชิญกับปัญหาอาชญากรรมทางเพศ แต่ทุกครั้งมักจะเกิดการถกเถียงในโลกโซเชียลถึงความยุติธรรม การตัดสินถูกผิด มีทั้งเสียงเรียกร้องและด่าทอ เช่น การข่มขืน การคุกคาม การแตะเนื้อต้องตัว แต่เมื่อเป็นพระเอกละครทำพฤติกรรมพวกนั้น เรากลับบอกว่านั่นคือ “ความโรแมนติก” แม้แต่เวลานั่งดูเราก็เขินและอินไปกับตัวละคร จนแอบฝันว่าถ้าคนที่เราชอบทำแบบนั้นเราจะรู้สึกยังไงนะ ? หรือความรู้สึกพวกนี้เป็นเพราะเรากำลังถูกบังตาด้วยภาพฝันอยู่
.
“ความรักทางกายภาพเชิงบังคับ” นับเป็นความรุนแรงทั่วไป มันอันตรายเพราะละคร สื่อ ได้บิดเบือนให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นความโรแมนติก เป็นการกระทำของคนรักกัน เช่น การผลักเข้ากำแพง การจับข้อมือ การแตะเนื้อต้องตัว การจูบแบบกะทันหัน แต่สุดท้ายเรื่องราวก็ลงเอยด้วยความรักที่ลึกซึ้ง ภาพแต่งงาน และการตกลงปลงใจของทั้งสองฝ่าย ทั้งที่ในชีวิตจริงความรุนแรงระหว่างคู่รักหากเกิดขึ้นแนวโน้มก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นและจุดจบคงไม่ได้สวยงามแบบนั้น
.
คนที่มีแนวโน้มจะก่อความรุนแรง
คนที่มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ชั่ววูบ มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นเวลาเมาหรือขาดสติ เช่น คนที่ชกกำแพงเวลาโกรธ ชอบทำลายของ จอดรถแล้วไล่คนรักลงกลางถนน ฯลฯ
คนที่เป็นโรคหวาดระแวง ชอบสงสัยคนอื่น ซึ่งมักจะตีความการกระทำของตัวเอง
ในทางที่ดี อย่าง “ฉันคิดว่ามันคือความรัก” แต่ที่จริงแล้วมันคือความไม่ไว้ใจ หมกหมุ่นและขี้ระแวง ยกตัวอย่างเช่น ชอบโทรหาวันละหลาย ๆ รอบ ชอบถามซ้ำ ๆ ว่า “ทำอะไร อยู่ที่ไหน กับใคร”
.
สัญญานเตือนหรือสิ่งที่มองไม่เห็น คนที่ใช้ความรุนแรงกับคนรัก มักพยายามแยกคนรักออกจากสังคม อย่างการห้ามไม่ให้คนรักไปเที่ยวกับเพื่อน ค่อย ๆ แทรกแซงกิจวัตร “ห้ามไป ห้ามคบ ห้ามติดต่อ” พยายามขัดขวางความสัมพันธ์ระหว่างคนรักกับสังคมภายนอก จนกลายเป็นโลกทั้งใบมีกันอยู่สองคน กว่าจะรู้ว่าตกอยู่ในความรุนแรง หันไปก็ไม่รู้จะขอความช่วยเหลือจากใครแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายที่เราไม่มีใครให้พึ่งพาเลย ราวกับถูกจับขังไว้
.
วิธีแก้เรียกว่า “การเลิกราอย่างปลอดภัย” คือควรตัดขาดทุกช่องทาง เพื่อออกจากความรุนแรงก้าวร้าว หากคนรักมีอารมณ์รุนแรงมาก เราอาจไม่สามารถตัดสัมพันธ์ทันทีได้ แต่ต้องค่อย ๆ เตรียมตัวหาช่องทางที่จะ “หนี” ออกมาจากวงจรนั้น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าตอนเลิกกันให้เปลี่ยนเบอร์ และถ้าทำได้ให้เปลี่ยนที่อยู่ด้วย เพราะคนที่ใช้ความรุนแรงมักจะหมกมุ่นและหวงแหนคนรัก ความรู้สึกเป็นเจ้าของอาจทำให้เขายึดเหนี่ยวเราไว้ โดยที่กระทำรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เราต้องกล้าที่จะปกป้องตัวเองและตัดบ่วงที่เลวร้ายพวกนี้
.
ที่สำคัญเราอย่าหลอกตัวเองว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงเพราะ “ความรัก” และทุ่มเทของเรา จนปล่อยให้กายและใจถูกทำร้าย ในทางจิตวิทยาพูดกันเสมอว่า คนเราเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีแรงกระตุ้นและทุ่มเทเป็นเวลานานด้วยความมุ่งมั่น “เราเปลี่ยนแปลงใครไม่ได้ ถ้าเขาไม่อยากเปลี่ยน” ดังนั้นเราต้องเปลี่ยน “ความคิด” หรือ “มุมมอง” ของตัวเอง การพยายามเปลี่ยนอีกฝ่าย สุดท้ายก็เหมือนเราทุกข์ใจอยู่คนเดียวกับปัญหาที่แก้ไม่ได้
.
ถ้าความสัมพันธ์ทำร้ายคุณจนหาทางออกไม่ได้ ไม่ว่าจะทางกายหรือใจ อย่าปล่อยให้ตัวเองทนทุกข์กับปัญหา ลองปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาของอูก้า แล้วหันกลับมาดูแลตัวเองอีกครั้ง เพราะเราเชื่อว่าทุกคนสมควรได้พบความรักที่ดี
ขอบคุณข้อมูลจาก
รายการ Problem Child in House EP.114
Recent Comments