หลังจากเราใช้เวลาทำงานอยู่คนเดียวมาเกือบปี ในใจก็มีความรู้สึกอย่างหนึ่งขึ้นมา มันไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันหนักหนามากกว่าที่เราเคยเป็นมาทั้งชีวิต เรารู้สึกถึงความ “ไม่ดีพอ” ในตัวเอง ความรู้สึกว่าเรายังทำงานไม่มากพอ เราเสียเวลาไปกับการเล่นมือถือบนที่นอน แทนที่จะเอาไปอ่านหนังสือที่ค้างไว้ และความคิดอีกมากมายที่เข้ามาช่วงที่เราไม่ได้ทำอะไร เราเลยตั้งคำถามว่า “อยู่คนเดียวนาน ๆ ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าหรือเปล่า” ไปถามนักจิตวิทยาของอูก้า คุณกอบุญ เกล้าตะกาญจน์ หรือพี่พลีส แล้วเราก็ได้ฟังคำตอบที่น่าสนใจแล้วยังได้คำแนะนำดี ๆ จากเขามากมายเลย

#คำตอบจากนักจิตวิทยา

“การ Stay-at-home Isolation คนเดียวนาน ๆ เชื่อมโยงกับเรื่องการมองตัวเองด้อยค่าจริง ๆ “

ตามรายงานภาวะสังคมไทยปี 2563 โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า “ความเครียด ภาวะหมดไฟ ภาวะซึมเศร้าและความคิดทำร้ายตัวเองของคนไทยเพิ่มขึ้น เพราะพยายามต่อสู้กับความยากลำบากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าหมดไฟ ทั้งด้านอารมณ์และจิตใจ  ด้านมองความสามารถในการทำงานลดลง รู้สึกไม่สำเร็จ และด้านการมองความสัมพันธ์ในที่ทำงานในทางลบ ระแวงง่ายขึ้น รู้สึกเหินห่างจากคนอื่น”

.

ซึ่งยิ่งเราเจอเรื่องแบบนี้ไปอย่างไม่รู้ว่ามันจะเป็นเช่นนี้อีกนานเท่าไร บวกกับความรู้สึกไม่แน่นอนทั้งจากการงาน สถานะทางสังคม และสุขภาพ ความสามารถในการเห็นคุณค่าในตัวเองของเราจะลดลงไปด้วย นี่ยังไม่รวมกับสถิติการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงภาวะการกินอาหารที่ไม่ปกติ เช่น การกินอาหารมากขึ้นเพราะมนุษย์จำนวนมากใช้การกินเป็นวิธีลดความไม่สบายใจ ความกังวล ว้าเหว่และเบื่อหน่าย ทำให้เรารู้สึกไม่โอเคกับรูปร่างของตัวเอง ส่งผลต่อความมั่นใจและการมองที่เรามองตัวเองว่ามีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่า

.

ทุกอย่างที่กล่าวไปข้างต้นจะทวีคูณขึ้นเมื่อเราเอา Social Media เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมการ ในแง่หนึ่งมันเป็นช่องทางเดียวที่เราสามารถเข้าถึงคนรอบตัวในชีวิตของเราได้ แต่ในทางขณะเดียวกัน เมื่อเราเห็นเพื่อนของเรา รุ่นพี่ของเรา รุ่นน้องของเรา หรือใครก็ตามที่เราติดตามกำลังมี “ชีวิตที่ดีกว่าเรา” เราจะเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับพวกเขา “ทำไมเขาทำแบบนั้นได้ทั้ง ๆ ที่เขาอายุน้อยกว่าเราตั้งเยอะ ตอนนั้นฉันทำอะไรอยู่” หรือ “ทำไมฉันไม่หน้าตาดีแบบเขาบ้างนะ” ไปจนถึงไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกับเราอย่างเช่น “ฉันอยากไปอยู่ในประเทศของเขาคนนั้นบ้างจังเลย”

.

แล้วทำยังไงดีเมื่อเราประสบปัญหานี้ ?

#คำตอบจากนักจิตวิทยา

ความโดดเดี่ยวอาจกลายเป็นความเครียด ข้อเสนอแนะรักษาใจในขณะอยู่บ้านและทำงานที่บ้าน

  1. ติดต่อกับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อน ๆ ผ่านทางโทรศัพท์ อีเมล หรือโซเชียลมีเดียบ้าง
  2. เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Covid-19 และพูดคุยกับผู้อื่น การทําความเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องการป้องกัน Covid-19 ช่วยลดความวิตกกังวลได้
  3. หากเป็นไปได้ให้ทำกิจวัตรประจําวันตามปกติเช่น การกิน การนอน การทำงาน การพักผ่อน การออกกําลังกาย ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าลดความเครียดและภาวะซึมเศร้า
  4. จากประสบการณ์และวิธีการที่คุณรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลําบากในอดีต ทำให้ตระหนักได้ว่าการแยกตัวจะเกิดขึ้นอีกไม่นานนัก และไม่ได้น่ากลัวเท่าที่คิด
  5. การทำงานที่บ้านและได้ใช้เวลาอยู่บ้าน เป็นโอกาสที่จะทํากิจกรรม ทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ จะช่วยให้คุณผ่อนคลายจากความเบื่อหน่ายกังวล

#คำตอบจากทีมงานของอูก้า

คุณค่าในตัวเองนั้นไม่สามารถวัดได้จากการเอาความสำเร็จของเราไปเทียบกับความสำเร็จของคนอื่น ฉะนั้นไม่ว่าเราจะรู้สึกว่าคนนั้นคนนี้ดีกว่าเราขนาดไหน อูก้าอยากให้ทุกคนทดลองปรับมุมมองเป็น “ข้อดีของฉันคืออะไร” แล้วตามหาสิ่งนั้นจนกว่าจะพบหรือใช้เวลาค่อยๆ สร้างมันขึ้นมา ให้จุดเด่นในตัวเองของทุกคนเปล่งประกายออกมา

.

คุณค่าในตัวเองของเราเมื่อไม่ต้องเอาไปเทียบกับคนอื่นนั้น มันจะเล็กหรือใหญ่ขนาดไหนก็ได้ เริ่มได้จาก “วันนี้ฉันทำงานเสร็จไปตั้งสองอย่างแล้ว” ไปจนถึง “วันนี้ฉันอ่านหนังสือจบตั้งหนึ่งบท เยอะกว่าที่อ่านเมื่ออาทิตย์ที่แล้วอีก” คนเดียวที่เรารู้แน่ ๆ ว่าชีวิตเขาดี ไม่ดียังไงคือตัวเราเอง ฉะนั้นไม่ต้องเอาความสำเร็จของใครมาเป็นหมุดหมายที่ต้องไปให้ถึงเลย

.

แล้วคุณกำลังประสบปัญหาแบบนี้อยู่เหมือนกันหรือเปล่า ? ถ้าใช่ล่ะก็ มาเล่าให้อูก้าฟังได้เสมอเลย เรามีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมรับฟังและคอยอยู่เคียงข้างคุณนะ