“หลังจากโพสต์นี้เราไม่อยู่แล้วนะ”

เป็นประโยคที่ไม่มีใครอยากเห็นในหน้าโซเชียลมีเดียของเราเลย แต่บางครั้งเรื่องที่ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นได้ตลอด แล้วเมื่อเราเจอเหตุการณ์แบบนี้ควรทำอะไร และอะไรควรหลีกเลี่ยง เพื่อให้การ #ยื่นมือไปช่วย ครั้งนี้ไม่เป็นการไปผลักให้ผู้ที่มีความเสี่ยงดำดิ่งลงไปมากกว่าเดิม

#สิ่งที่ควรทำ

  • ประเมินความเสี่ยงของผู้มีความเสี่ยง

เริ่มจากการถามคำถาม เช่น อยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ อยู่กับใคร ใกล้ตัวมีของมีคมหรือเปล่า เพื่อเราจะได้รู้ว่าผู้โพสต์กำลังตกอยู่ในอันตรายขนาดไหน หากเขาบอกว่าอยู่ห้องกับเพื่อนแล้วเราสามารถติดต่อเพื่อนของเขาได้ก็จะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดน้อยลงไปหนึ่งระดับ แต่หากเขาว่าเขาอยู่บนดาดฟ้าคนเดียวความเสี่ยงก็อาจจะเพิ่มมากขึ้นและต้องมีการลงมือทำอะไรสักอย่างทันที

  • คุยกับเขาผ่านช่องทางส่วนตัว

ถึงโพสต์ของเขาอยู่ในโหมดสาธารณะ แม้ว่าสถานการณ์จะเร่งรีบ เราควรเกลี้ยกล่อมเขาให้มาคุยกับเราในช่องทางส่วนตัว เหตุผลเพราะว่าการคุยในช่องทางสาธารณะมีผลเสียคืออาจก่อให้เกิดความวิตกกังวลเมื่อผู้โพสต์รู้ตัวว่าอาจมีเรื่องบางเรื่องที่เขาระบายออกมาให้เราฟังแต่ไม่ได้อยากให้คนอื่น ๆ รู้ ซึ่งความวิตกกังวลมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้สถานการณ์แย่ลงได้

  • พาเขาไปหามืออาชีพให้ได้

ไม่ว่าจะด้วยตัวเอง เพื่อน หรือเจ้าหน้าที่ อย่างหนึ่งที่ต้องรู้คือเราเองเป็นแค่คนธรรมดาที่รู้เรื่องสุขภาพจิตในระดับที่สามารถใช้ดำเนินชีวิตประจำวันได้ สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้คือการเกลี้ยกล่อมให้ผู้มีความเสี่ยงให้เขายินยอมไปอยู่ในการดูแลของมืออาชีพ และจนกว่าเขาจะยินยอมเราต้องทำให้เขามั่นใจว่าเราจะอยู่ข้าง ๆ เขาไปในทุกขั้นตอน หากเราหรือคนรู้จักอยู่ใกล้เขาแล้วรู้ว่าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดคือที่ไหนก็เข้าไปหาเขาเพื่อพาไปหาหมอเองได้ หรือหากสถานการณ์คับขันจริง ๆ การโทรหาผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ก็เป็นอะไรที่ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับ Suicide Prevention เช่น Samaritan Thailand ที่ 02-713-6793 หรือสายด่วนสุขภาพจิตที่ 1323

#สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

เราห้ามตัดสินการกระทำของเขา

การพูดว่า “จะฆ่าตัวตายไม่สงสารพ่อแม่บ้างเหรอ?” หรือ “การจบชีวิตตัวเองผิดศีลข้อที่…” เป็นการตัดสินผู้ที่มีความเสี่ยงที่ไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเลย ซึ่งส่งผลให้เกิดความรู้สึกผิดที่อาจนำไปสู่การจบชีวิตของเขาได้

เราห้ามส่งเสริมผู้มีความเสี่ยงให้ลงมือ

แม้ว่าเราจะเชื่อในเสรีภาพและสิทธิการมีชีวิตอยู่ แต่การตัดสินใจฆ่าตัวตายของคนคนหนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ๆ การพูดว่า “ก็เขาเลือกจะไม่อยู่แล้วจะไปห้ามทำไม” เป็นปัญหาเพราะว่าในการตัดสินใจนั้นเป็นผลจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองในระหว่างนั้นมากกว่าการสมยอม และหากผ่านเวลาที่เขาอยากจบชีวิตที่สุดไปได้ ความอยากหลาย ๆ อย่างของเขาจะหายไปเช่นเดียวกัน

เรื่องสุขภาพจิตและชีวิตเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและหลากหลายมาก ๆ สำหรับแต่ละคน ทุกคนมีความแตกต่างและอาจะมีวิธีเป็นล้านที่เราจะเลือกใช้ก้ไขปัญหาตรงหน้า อูก้าขอสัญญาว่าเราจะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดในการให้ข้อมูลเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตที่ถูกต้องและเข้าใจง่ายให้กับเพื่อน ๆ ทุกคน และนอกจากนั้นหากใครมีคนที่คิดว่าต้องการการปรึกษาเรื่องสุขภาพจิตโดยด่วนอูก้าก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยเขาได้นะ

อ้างอิง :

https://www.mentalhealth.org.nz/get-help/a-z/resource/55/suicide-supporting-someone-online

https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/suicide/in-depth/suicide/art-20044707

https://www.healthline.com/health-news/what-to-do-when-you-encounter-suicidal-posts-online