ในฐานะคนรักบางครั้งความสัมพันธ์ที่จบลงไปแล้ว จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าความรู้สึกทุกอย่างจะกลับไปเป็นศูนย์ แม้จะจางหรือเบาบางลงไปมากจนกลายเป็นความทรงจำ เมื่อเวลาผ่านไปความรู้สึกที่เราคิดว่าหมดไปกลับหวนมาอีกครั้ง โหยหาและคิดถึงจนทนไม่ไหวที่จะทักทายหรือถ้ามีโอกาสได้วนกลับมาเจอกัน เราก็ยังเลือกตกหลุมรักคนๆเดิม นั่นเป็นเพราะ “คนเก่าเขาทำไว้ดี” หรือเราแค่ยึดติดกับบางอย่างที่หายไป

.

จริงๆ เราสามารถอธิบายเรื่องนี้ได้ด้วยวิทยาศาสตร์เหมือนกันนะ การปรับพฤติกรรม (Behavioral Modification) มีเรื่องเกี่ยวกับการวางเงื่อนไข (Conditioning) พฤติกรรมไหนที่เราอยากให้มันเกิดเราก็แค่วางเงื่อนไขมันซะ อยากให้หมาน้ำลายไหลเวลาได้ยินเสียงกระดิ่งเราก็ฝึกมันได้ แค่สั่นกระดิ่งพร้อมให้อาหาร ทำซ้ำๆ จนเคยชิน ต่อมาให้เอาอาหารออก เหลือแค่ได้ยินเสียงกระดิ่งหมาก็น้ำลายไหลโดยอัตโนมัติแล้ว ความรักก็มีบางมุมที่ไม่ต่างจากการวางเงื่อนไข มันมักจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่เราทำไปด้วยความรู้สึกคุ้นชิน ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว

.

เมื่อมาถึงประเด็นแฟนเก่า หรือถ่านไฟเก่าเนี่ยก็เชื่อมโยงกับพฤติกรรมที่เคยได้รับการเสริมแรง (Reinforcement) เช่น เคยทำอาหารให้แฟน แล้วเขาชมว่าอร่อยมาก ถ้าเรามีความสุขกับคำชมนั้น เราก็จะอยากทำอาหารให้เขากินบ่อยๆ เรียกว่า “คำชม” คือการเสริมแรง แต่เมื่อไหร่ที่เราเลิกเสริมแรงพฤติกรรมทำอาหาร ก็คือเราหยุดยั้ง (Extinction) หรือถอนตัวเสริมแรงออก คล้ายๆ กับการเพิกเฉย (ignore)

.

เหมือนเวลาเราทำอาหารแต่ไม่มีคนชมอีกแล้วเพราะเราเลิกรากับแฟนไป ไม่มีคนตอบสนองสิ่งที่เราทำเราก็จะหยุดทำอาหารไปเองหรือค่อยๆ ลดลง ผลข้างเคียงของการหยุดยั้งคือพฤติกรรมนั้นอาจหายไปเลย แต่จะค่อยๆ กลับมาดีขึ้นตามระยะเวลา วันหนึ่งต่อให้ไม่มีตัวเสริมแรงนั้นแล้วก็ไม่มีผลอะไรกับใจเราแล้ว อย่างไรก็ตามทางจิตวิทยาว่ากันว่าการหยุดยั้ง (Extinction) เป็นเรื่องอันตราย อย่าใช้ในการปรับพฤติกรรมโดยไม่จำเป็น สิ่งที่จะช่วยได้คือต้องสร้างพฤติกรรมใหม่ๆ

.

แต่ถ้าวันหนึ่งตัวเสริมแรงนั้นกลับมาจะเกิดอะไรขึ้น ? เราก็เข้าสู่ “การฟื้นกลับหรือการกลับสู่สภาพเดิม (Spontaneous Recovery)” ยังไงล่ะ หรือบางคนก็เรียกว่า “ทฤษฎีถ่านไฟเก่า”

.

ทำไมสำหรับบางคนถ่านไฟเก่าถึงน่ากลัว

อาจเพราะว่ามันจุดติดง่ายหรือเปล่า? ไม่ใช่แค่ความรู้สึกดีๆที่หลงเหลืออยู่หรือคำถามที่ยังค้างคาอยู่ในใจ แต่เพราะว่าสมองของเราถูกวางเงื่อนไขเหมือนกับสถานการณ์ที่เราเจอคนรักเก่าเลย บางอย่างหรือความรู้สึกที่ดับหรือการหยุดยั้ง (Extinction) ไปแล้ว เมื่อเว้นระยะไปสักพักหนึ่ง เราจึงคิดว่ามันจบแล้วจริงๆ แต่แล้ววันหนึ่งเราดันเผลอไปเจอตัวกระตุ้น (ในที่นี้อาจจะหมายถึงแฟนเก่า สิ่งของหรือสถานที่ที่เคยไป) ก็จะเกิดความรู้สึกเดิม ทำให้เราตอบสนองแบบเดิมโดยอัตโนมัติ เช่น ใจเต้นแรง มีความสุข คิดถึงโมเมนต์ที่เคยมีร่วมกัน

.

น่าเศร้าที่ต้องยอมรับว่า หากความสัมพันธ์ในอดีตมีอะไรบางอย่างที่เติมเต็มเราแล้วปัจจุบันเราก็ยังโหยหาสิ่งนั้น ใจเราจะยิ่งถูกกระตุ้นให้ต้องการมันมากขึ้น ดังนั้นเขาถึงบอกว่าถ้าใจไม่แข็งพออย่ากลับไปเจอหน้าแฟนเก่าหรือติดต่อกันเลย เมื่อเราเข้าใจที่มาที่ไป ก็จะตอบคำถามได้ว่า “ทำไมหลายความสัมพันธ์อาจถูกสั่นคลอนด้วย ‘แฟนเก่า’ หรือ ‘ความทรงจำเก่าๆ’ ?” มันอาจไม่ใช่ความรัก แต่เราแค่ต้องการในสิ่งที่เคยได้รับ ไม่แปลกถ้าคนรักในปัจจุบันจะน้อยใจหรือหึงหวงเวลาหัวข้อหรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับคนรักเก่าโผล่เข้ามาในบทสนทนา เพราะการรู้สึกถูกเปรียบเทียบตลอดเวลามันโหดร้ายยังไงล่ะ

.

ถ้าถ่านไฟเก่ามีพลังขนาดนี้ คำถามคือถ้าอย่างนั้นเราต้องอยู่กับความระแวงไปตลอดเลยเหรอ อยากจะบอกว่าไม่เสมอไป อยากให้ทุกคนโฟกัสและทำเต็มที่กับปัจจุบัน ความสัมพันธ์ที่แข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องช่วยกันสร้างช่วยกันเติมเต็ม เพราะเราแค่อยากเป็นคนสำคัญที่สุดในความสัมพันธ์ของตัวเอง มีคนจำนวนมากที่เขาสามารถ move on ได้จริงๆ และเรื่องในอดีตก็ไม่ได้มีผลอะไรกับปัจจุบันเลย

.

หากความรักต้องจบลงจะโทษถ่านไฟเก่าอย่างเดียวก็คงไม่ได้ ถ้าคนสองคนไม่ได้พยายามในความสัมพันธ์ในระดับที่เท่าๆกัน ไม่ว่าจะเหตุผลอะไรก็ยากทั้งนั้น ถ้าใครยังติดอยู่ในความสัมพันธ์ที่ค้างคาใจ ลองให้อูก้าเป็นที่ปรึกษาปัญหาความรักของคุณดูนะ

อ้างอิงจาก

https://www.verywellmind.com/what-is-extinction-2795176

https://www.verywellmind.com/spontaneous-recovery-2795884

https://fiveable.me/ap-psych/unit-4/classical-conditioning/study-guide/QGn54mzLKcXn3LKcabkL