เลข 7 นี้เหมือนมีอาถรรพ์ ว่ากันว่าหลายๆ อย่างถ้าเข้าสู่ปีที่ 7 ก็จะเกิดอุปสรรคบางอย่าง จนเกิดเป็นคำว่า “อาถรรพ์ 7 ปี” หรือ Seven Year Itch จริงๆ แล้วต้นตอของปัญหาคืออะไรกันแน่ ทำไมสิ่งที่เราทำหรือแม้แต่ความรู้สึกถึงมีวันหมดอายุ ? มันเกิดขึ้นเพราะอะไรกันแน่ ?

.

ต้องบอกว่าสาเหตุหลักเลยคือ “ภาวะเหนื่อยล้าต่อความสุนทรีย์” (aesthetic fatigue) ง่ายๆ เลย “เราเบื่อหน่าย” กับความสัมพันธ์นี้ กับสิ่งที่ทำเป็นประจำ คนที่เจอทุกวัน ปัญหาที่เข้ามา ต่อให้รู้สึกดีต่อกันมากเท่าไหร่ ก็หลีกเลี่ยงความรู้สึกแย่ๆ ไม่ได้อยู่ดี ข้อดีที่เคยมองเห็น กลับกลายเป็นรับรู้ข้อเสียมากขึ้น สุดท้ายถ้าความคาดหวังที่มีต่ออีกฝ่ายไม่สอดคล้องกับสิ่งที่อีกฝ่ายเป็นจริงๆ ทั้งสองคนก็จะไปคนละทางและจบลงด้วยการเลิกรา

.

อาจเคยได้ยิน “ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก” (Triangular theory of love) ของ Sternberg กันอยู่บ้าง เขาบอกว่าความรักมีองค์ประกอบด้วยกัน 3 อย่าง คือ ความใกล้ชิด (Intimacy) ความเสน่หา (Passion) และความผูกพัน (Commitment) ซึ่งความรักสำหรับบางคู่ก็มีครบทั้ง 3 ข้อ แต่บางคู่ก็มีแค่ 1-2 ข้อ หรือเพิ่มลดตามช่วงเวลา ทำให้ความสัมพันธ์นั้นมีขึ้นมีลง

ความรักบทจะยากก็ยาก จะให้นิยามด้วยคำไม่กี่คำคงไม่ได้ ในบทความนี้เราขอมองภาพความรักเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ 1) ความรักแบบโรแมนติก (Romantic Love) คือมีความใกล้ชิดและความสเน่หาอยู่ในนั้น เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ทั้งอ่อนโยนแต่บางครั้งก็รุนแรง ซึ่งความสเน่หาจะจืดจางไปเองตามกาลเวลา แบบที่ 2) ความรักแบบมิตรภาพ (Compassionate Love) หากพัฒนาความใกล้ชิดและความผูกพันต่อกันด้วย ความรักก็จะยืนยาว มีความเข้าใจและห่วงใยในลักษณะครอบครัว พร้อมจะเคียงข้างในเวลาทุกข์และสุข

.

แม้จะบอกว่าอาการคลั่งรักเป็นเรื่องของอารมณ์ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าวิทยาศาสตร์ก็มีส่วน สารโดพามีน (Dopamine) ที่มาพร้อมความรักโรแมนติกจะมีอายุประมาณ 1-3 ปี พอเข้าปีที่ 4 โดพามีนและความดึงดูดซึ่งกันและกันจะลดลง งานวิจัยพบว่าหลังจาก 3 ปีแรกของการแต่งงานเป็นเรื่องธรรมดาที่ความรัก ความใกล้ชิดและความพึงพอใจในชีวิตสมรสจะเริ่มลดลงไม่ว่าจะมีลูกหรือไม่มีก็ตาม อีกทั้งสถิติการหย่าร้างก็ขึ้นสูงสุดในช่วงปีที่ 2-4 คือหลังจาก Honey Moon Period (2 ปีแรก) และอีกทีปีที่ 7 ซึ่งว่ากันว่าความพึงพอใจในชีวิตแต่งงานลดลงมากที่สุด ทั้งนี้ก็มีงานวิจัยโต้เถียงกันมากมายว่าแท้จริงแล้วควรเป็นอาถรรพ์ 4 ปี หรืออาถรรพ์ 5 ปีแทน อย่างไรก็ตาม นี่แหละคือคำตอบว่าทำไมความรักถึงมีวันจางหาย

.

หากสิ่งต่าง ๆ ดำเนินไปด้วยดีฮอร์โมนออกซิโทซินและวาโซเพรสซินจะเข้ามาแทนที่โดพามีน ซึ่งจะกระตุ้นให้เราอยากสร้างความผูกพันและอยากดูแลคู่ของเราต่อไป ทำให้อยากใกล้ชิดและแบ่งปันความลึกซึ้งในชีวิตของเรากับคนรัก ใช่ว่าจะโทษแต่ตัวเลขเพียงอย่างเดียวแล้วบอกว่า “รักล่มในปีที่ 7” เป็นเรื่องปกติ เพราะปัญหานั้นได้ทับถมมาตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีที่ 6 แล้ว ประกอบกับภาพความสวยงามถูกบีบด้วยโลกความจริงอันโหดร้ายและปัญหาวัยกลางคน (Midlife Crisis) ที่ถาโถมเข้ามา ทำให้ชีวิตคู่หมดหวัง หลายคนจึงเริ่มหนีจากความทุกข์ตรงหน้าไปตามหารักครั้งใหม่ เพื่อกลับไปจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์เพราะอยากสัมผัสความโรแมนติกอีกครั้ง

.

ตราบใดที่เรารู้สึกว่าความสัมพันธ์เริ่มสั่นคลอนและไม่พยายามแก้ปัญหา จะคบเป็นแฟนหรือแต่งงานแล้วก็ย่อมแพ้เลขอาถรรพ์นี้ได้ ทุกๆ ความสัมพันธ์เราต้องคำนึงเสมอว่าความพึงพอใจในชีวิตคู่เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตามระยะเวลา ไม่ใช่ว่าความรักในช่วงเริ่มต้นจะคงที่เสมอไป หากไม่ให้ความสำคัญมันก็น้อยลงได้เป็นธรรมดา ทั้งสองฝ่ายจึงต้องช่วยกันประคับประคองและหมั่นสร้างความรักมาคอยเติมเต็มกันและกัน

.

เหมือนกับต้นไม้ที่ต้องรักและเอาใจใส่ ถ้ายังอยากรักษาความสัมพันธ์ไว้เราก็ต้องสื่อสารกับคนรักให้มีประสิทธิภาพ ปรับสมดุลความคาดหวังให้อยู่ในระดับที่เป็นไปได้ นี่จึงเป็นความท้าทายสำหรับคู่รักว่าคุณจะดูแลความรักของตัวเองได้ยาวนานแค่ไหน ? ถ้าต่างฝ่ายต่างปรับเข้าหากัน ไว้ใจกันก็ไม่ยากที่จะเจอความมั่นคงในชีวิตคู่ หากเลือกได้ใครๆ ก็อยากมีรักที่มั่นคงตลอดไป จริงไหม ?

อ้างอิงข้อมูลจาก

หนังสือคู่มือข้างหมอน จิตวิทยาความรัก เขียนโดย เฉิน ซู่ เจวียน ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กและครอบครัว

Sternberg, Robert J. (2004). “A Triangular Theory of Love”. In Reis, H. T.; Rusbult, C. E. Close Relationships. New York: Psychology Press. p. 258.

https://www.psychologytoday.com/us/blog/meet-catch-and-keep/202002/is-the-7-year-itch-myth-or-reality

https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/67522/-blo-womlov-wom-laneng-lan-

https://www.goodtherapy.org/blog/after-the-thrill-is-gone-the-science-of-long-term-love-1205147