สรุปเนื้อหาจาก Clubhouse เมื่อวานนี้ Mindfully dose #2 “เมื่อใจพังแต่ยังต้องไปทำงาน” by ooca และ นพ. รัตนภูมิ วัฒนปัญญาสกุล (จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ) และทีมงานอูก้า
.
ต้องบอกว่าไม่ว่าจะทำงานด้านไหน เราก็มีความเครียดด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งบางครั้งเราไม่รู้ตัวว่าเกิดความเครียด วิตกกังวล แต่ร่างกายไม่เคยโกหก มันส่งสัญญาณเตือนเราเสมอ เช่น อาการนอนไม่หลับ ปวดเมื่อนตามร่างกาย ไปจนถึงคิดเรื่องงานตลอด คล้ายจะบ้างาน ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือเรากำลัง “mentally breakdown” รู้สึกมึนๆ งงๆ บางทีก็ซึมๆ ไม่มีกะจิตกะใจ ไม่พร้อมจะทำงาน แต่เรายังต้องฝึนตัวเองให้ทำ เป็นสภาวะที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ไม่ใช่แค่เหนื่อยหน่ายเรื่องงาน บางคนอาจจะทะเลาะกับแฟน ไม่ถูกกับเพื่อนร่วมงาน หรือมีปัญหาส่วนตัวอื่นๆ ที่ทำให้ตัวเอง mentally breakdown เลยเป็นที่มาของคำว่า “ใจพัง”
.
ซึ่งคนทำงานส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นยังไงดี ? ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ? เป็นเรื่องยากสำหรับคนที่ไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนหรือไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องสุขภาพใจ เราจึงได้เชิญนพ. รัตนภูมิ วัฒนปัญญาสกุล (จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น) มาตอบปัญหาเรื่องนี้กัน
.
ปัจจุบันมีคนวัยทำงานมาเข้ารับการปรึกษาเยอะหรือไม่ ? และส่วนใหญ่เป็นเรื่องอะไรบ้าง ?
คุณหมอเล่าว่าปัจจุบันคนวัยทำงานเป็นคนไข้ใหม่ในแผนกจิตเวชค่อนข้างเยอะ อาจด้วยสภาพสังคมที่มีความเครียดสูง สถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจ มีคนตกงานจำนวนมาก หรือถ้าไม่ตกงานก็จะเป็นกลุ่มที่งานหนัก overload จนเหนื่อยล้า หลักๆ ที่พบเยอะคือ โรคซึมเศร้าและภาวะหมดไฟ หรือ “burnout”
.
ความแตกต่างระหว่างภาวะซึมเศร้ากับอาการหมดไฟ burnout สังเกตได้จากอะไร ?
ในส่วนของภาวะซึมเศร้า จะมีอาการซึม + เศร้าลามไปทุกเรื่อง ต่อให้เป็นเรื่องที่น่าจะมีความสุขหรือเคยทำแล้วสนุกมันไม่สนุกอีกต่อไป กลายเป็นเศร้าไปหมดและเป็นต่อเนื่องยาวนานสองสัปดาห์ขึ้นไป
.
ขณะที่ burnout เราอาจซึมๆ กับบางเรื่องที่เราหมดไฟหรือแค่วันที่ต้องไปทำงาน วันหยุดอาจจะไม่เป็น ทำอย่างอื่นก็ยังมีความสุขและชุบชูใจเราได้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ของคนยุคนี้ เพราะเราถูกกระตุ้นด้วยสิ่งแวดล้อมที่ไม่รบกวนจิตใจแทบจะตลอดเวลา บางคนไม่รู้วิธีจัดการอารมณ์หรือความเครียดอย่างเหมาะสมทำให้ใจพังได้ รวมถึงหลายๆ คนไม่กล้าไปปรึกษาจิตแพทย์ ไม่กล้าไปโรงพยาบาล ใช้ความอดทนอดกลั้นจนป่วยเรื้อรัง ดังนั้นไม่ว่าจะ burnout หรืออะไรก็ตามคุณหมอแนะนำว่าไม่ควรปล่อยไว้ยาวนาน
.
ด้านการรักษากระบวนการรักษาภาวะหมดไฟแทบไม่ต่างจากภาวะซึมเศร้าเลย เพียงแต่หมดไฟเราไม่ต้องใช้ยารักษา สิ่งที่ควรระวังมากๆ คือ คนที่เป็น burnout สะสมนานๆ สามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
.
ถ้ามีปัญหาสุขภาพใจ เช่น พบจิตแพทย์ ทานยา หรือแม้แต่ “ใจพัง” เราควรบอกที่ทำงานไหม ?
#คำตอบจากทีมงานอูก้า
ในฐานะ hr อยากให้พนักงานแชร์ให้เราฟัง อยากให้เขารู้สึกเบาขึ้น เพื่อให้เขาสามารถทำงานต่อไปได้ การที่องค์กรหรือหัวหน้างานทราบปัญหาของพนักงานเพื่อนร่วมงานจะได้เข้าใจปัญหามากขึ้นและสามารถจัดการงานได้ดีกว่าเดิม หลายๆ องค์กรอาจมีช่องทางให้พนักงานติดต่อกับฝ่ายบุคคลหรือคนที่ไว้ใจในบริษัทได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบรรยากาศและลักษณะของแต่ละที่ด้วย
.
ซึ่งไม่ได้บอกว่า “ต้อง” บอกที่ทำงาน แต่หากสบายใจที่จะเล่า รู้สึกว่าสามารถไว้วางใจที่ทำงานได้ พร้อมเมื่อไหร่ก็อยากให้มีโอกาสได้บอกเล่าปัญหาให้ฟัง ส่วนทางคนรับฟังเองไม่จำเป็นต้องทำเป็นเรื่องใหญ่ มองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่พนักงานจะเกิดความเครียด ใช้การพูดคุยสบายๆ ให้อีกฝ่ายรู้สึกปลอดภัย สิ่งสำคัญในฐานะ hr หรือผู้รับฟังคือ เริ่มจากใจที่ไม่ตัดสินคนอื่น ไม่ตั้งแง่หรือมีอคติ เปิดพื้นที่ให้พนักงานมาคุยกันได้ บางครั้งก็เป็นฝ่ายเข้าหาพนักงานก่อนให้เขารู้ว่าเราเปิดใจ

1. ขอวิธีการจัดการอารมณ์ เมื่อหงุดหงิดกับเพื่อนร่วมงาน บางครั้งโกรธจนไม่อยากมองหน้า
คุณหมอ : เคล็บลับคือ “การให้อภัย” อาจฟังเป็นคำทั่วไป แต่เราต้อง “ใจดีกับตัวเอง” การที่เราโกรธ เกลียด คนที่เราโกรธเกลียดคนนั้นเค้าไม่รับรู้ด้วย การให้อภัยจริงๆ แล้วเป็นการปล่อยเพื่อให้เรามีความสุข ไม่ใช่การทำเพื่อคนอื่น แต่เป็นการทำเพื่อตัวเอง
.
การออกกำลังกายก็สำคัญ ควรออก 3-5 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที – 1 ชม. คือ ประสิทธิภาพของวิธีนี้ดีเทียบเท่ากับการใช้ยาเลย เมื่อเราทำดีกับร่างกายตัวเอง ใจเราจะรับรู้ว่าเรากำลัง “รักและทำเพื่อตัวเอง” เป็นการเยียวยาหัวใจไปในตัว

2. เวลาที่เรามองโลกในแง่ดี คนชอบหาว่า “โลกสวย” เลยอยากรู้ว่าการมองโลกในแง่บวก vs โลกสวย ต่างกันตรงไหน ?
คุณหมอ : การมองโลกบวกต่างจากโลกสวย ตรงที่โลกสวยมองทุกอย่างบวกหมด จะแฟนทิ้งสอบตกก็เป็นเรื่องดีทั้งนั้น เพราะตัวเองปฏิเสธไม่รับรู้ด้านลบ จริงๆ ธรรมชาติของสรรพสิ่งทุกๆ อย่างมีสองด้านเสมอ มองโลกบวกคือ มองทั้งสองด้าน มีทุกข์และสุขปะปนกัน มองโลกตามความเป็นจริง คนที่สุขภาพจิตดีก็จะมองโลกในแง่บวก ในขณะที่คนโลกสวยเมื่อเจอด้านลบก็มักจะยอมรับไม่ได้
3. เราจะมี reaction ในฐานะผู้รับฟังยังไงดี เพราะเวลามีคนมาเล่าปัญหา บางทีก็ทำตัวไม่ถูก ?
คุณหมอ : ต้องมี empathy เข้าใจอย่างผู้สังเกตการณ์ (Observer) รับฟังแบบ active listening อาจมีพยักหน้า แตะตัวเล็กน้อย แต่ไม่ร่วมรู้สึก (sympathy) ไม่ร้องไห้ฟูมฟายไปกับเขา จิตใจต้องเป็นกลาง ไม่โกรธไม่เกลียดตาม เรายกเรื่องที่เราเครียดและเหนื่อยออกไปก่อน ฟังสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแต่ไม่ต้องอิน ถ้าฟังแล้วทุกข์ไปด้วยคือผิดวิธี
สำหรับผู้ที่เป็นซึมเศร้า หลักๆ คืออยู่ข้างๆ เขา ให้รู้ว่า “มีฉันอยู่ตรงนี้” วันไหนไปใช้ชีวิตแล้วมันไม่ไหว ฉันอยู่ตรงนี้และพร้อมรับฟัง แต่ระมัดระวังเรื่องคำพูด ประโยคเดียวกันพูดกับคนละคน น้ำเสียงต่างกัน ก็ได้ผลลัพธ์ที่ต่างกันเลย ถ้าไม่รู้ว่าควรพูดยังไง แค่ให้รู้ว่าเรา “be there for you”
นอกจากนี้เวลาที่คนรอบข้างหรือเพื่อนร่วมงานใจพัง ปัญหาหลักของผู้รับฟังคือ รับเอามาใส่ใจจนเป็นทุกข์ด้วย ดังนั้นใจเราก็ต้องหาทางระบายออก หาสายดินแล้วปล่อยพลังงานด้านลบออกให้ตัวเองไม่ดาวน์ตาม เช่น ออกกำลังกาย สะสมของที่ชอบ มีกิจกรรมผ่อนคลายเมื่อกลับถึงบ้าน

4. มีปัญหากับเพื่อนร่วมงานที่เคยสนิทกันมาก เขาบล็อกเราทุกช่องทาง สรุปเราเบื่อกัน หมดใจหรือเราเกลียดกัน
คุณหมอ : แนะนำให้ประเมินสิ่งที่อยู่ในใจเรา ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคืออะไร ? สำรวจตัวเอง โกรธ เกลียด เบื่อ ฯลฯ ถ้าเรารู้ว่าตัวเองคิดยังไง เราจะคลายปมนั้นได้ และต่อให้เราเคยมี empathy กับคนๆ นึงมากๆ แต่เราสามารถหมดใจ หมด passion กันได้ นี่เป็นเรื่องจริง
5. ขอ How to เวลาที่ใจพังและ burnout เพื่อนร่วมงานและเจ้านายทำให้ไม่มีความสุข ต้องทำยังไงให้ร่วมงานต่อไปได้ก่อนจะไปเริ่มงานใหม่
คุณหมอ : ต้องบอกว่าทุกที่ เราจะมีเรื่องที่ถูกใจครึ่งหนึ่งและไม่ถูกใจอีกครึ่ง ถ้าเราตั้งโจทย์ไว้แบบนั้น เราอาจจะไม่ได้มองโลกตามความเป็นจริง เราอาจจะต้องเปิดใจยอมรับว่า “ทุกที่ต้องมีเรื่องที่เราไม่ชอบใจ”
เราต้องการความสุขในการทำงาน ใช้ “passion” เป็นตัวขับเคลื่อน เอาเป็นว่าอีกครึ่งให้เผื่อใจว่ามันไม่โอเค เราต้องยอมรับว่าทุกที่มีอสรพิษ มีหัวหน้า มีเพื่อนร่วมงาน มีสิ่งที่เราไม่ชอบ อยากให้มี “mission” ร่วมกัน เช่น ฉันจะทำอะไรให้สำเร็จ ? ให้ตัวเองรู้สึกภูมิใจ แล้วแต่ละวันที่ไปทำงานจะมีเป้าหมาย

6. ได้ทำงานที่ชอบ แต่พอช่วงโควิดกลับต้องหยุดทำงาน ท้อ ล้า รู้สึกหมด passion
คุณหมอ : ถ้าเข้าใจเรื่อง passion ที่มี mission ร่วมด้วย “อย่าฝากความสุขไว้แค่กับ passion แต่ให้ mission หล่อเลี้ยงใจเรา” ทำงานแล้วมีความสุขคือโบนัส แต่ทำงานแล้วทุกข์เป็นเรื่องปกติ

7. รู้ได้ยังไงว่า “ใจพัง” แล้ว หรือมันเป็นอาการชั่วครั้งชั่วคราว จะใช้อะไรวัดได้บ้าง ? ตอนนี้เป็นไมเกรน บางทีก็เหมือนจะโอเค แต่กลายเป็นว่าเราจมลงไป
คุณหมอ : ก่อนอื่นหาทุกข์ให้เจอว่ามันเกิดเพราะอะไร ? ที่ร่างกายเราปวดหัว เป็นปกติที่เราจะคิดว่ามันไม่มีอะไร แต่ร่างกายไม่เคยโกหก ฟังร่างกายให้ดี พาร่างกายไปผ่อนคลาย อย่าฝืนตัวเองเกินไป “จริงๆ เราคิดว่าเราไหว แต่ร่างกายจะเป็นตัวบอกที่ชัดเจนที่สุด” ใจดีกับตัวเองหน่อยนะ
8. จบป.เอกเลือกทำงานที่ไม่ตรงสาย ต้องมารับตำแหน่งหัวหน้าแต่ไม่มีใครสนับสนุนเลย 90% ของคนไทยในบริษัทเราไม่โอเคด้วยเลย ไม่มีใครพร้อมเปลี่ยนแปลง จนมัน Toxic กับใจเรา รู้สึกตัวเองเดินถอยหลัง รู้สึกเสียเวลา เสียดายวุฒิ เริ่มมีอาการนอนไม่หลับ ร้องไห้ ไม่อยากทำงาน
คุณหมอ : ถามใจว่า “เรากลัว / กังวลอะไร” เท่าที่ฟังเหมือนใจอยากเปลี่ยนงาน แล้วเราหวั่นใจว่ามันจะแย่กว่าเดิม? หมอขอไม่ตัดสินใจแทนว่าให้เปลี่ยนงานหรือทำต่อ แต่แนะนำให้ฟังร่างกาย อะไรที่ทำแล้วรู้สึกดี ถ้ายังมีความสุขแปลว่ายังพอไหว แต่ถ้ามีอาการทางร่างกายมากๆ เข้า หมั่นสังเกตอาการของตัวเอง ถ้าช่วงที่ไม่โอเคนั้นยาวนาน ลุกลามกัดกินเรา ขอแนะนำให้หาหมอ
.
หวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากคำแนะนำดีๆ ของคุณหมอรัตนภูมิ อย่างที่บอกว่า “ใจพัง” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เราจะมีวิธีจัดการอย่างไรให้ตัวเองสามารถทำงานและรับผิดชอบสิ่งข้างหน้าต่อไปได้ สิ่งที่คุณหมอเน้นย้ำคือเราต้องสำรวจความรู้สึกตัวเอง รู้ว่าเมื่อไหร่ที่เราไม่ไหวและอย่ากังวลถ้าต้องขอความช่วยเหลือ
หากอยากพูดคุยกับนพ. รัตนภูมิ วัฒนปัญญาสกุล เป็นการส่วนตัว สามารถนัดหมายผ่านแอปพลิชันอูก้าได้เลย นอกจากนี้เรายังมีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญอีกมากมาย พร้อมให้คำปรึกษากับทุกคนอยู่นะ
Recent Comments