โรคซึมเศร้าเรียกว่าเป็นโรคฮิตเลยก็ว่าได้ ใคร ๆ ก็บอกว่าฉันเครียด ฉัน sensitive ไปจนถึงฉันเป็นซึมเศร้า แต่จริงๆ เรารู้ได้ยังไงว่าเราเป็นโรคซึมเศร้า หรือเราควรต้องไปหาจิตแพทย์ได้แล้ว เราได้เจาะลึกโรคซึมเศร้าไปพร้อม ๆ กับพญ. ชัชชญา เพียรจงกล จิตแพทย์ทั่วไป จากแอปพลิเคชันอูก้า และแขกรับเชิญสุดพิเศษ คุณอแมนด้า ชาลิสา ออบดัม MUT 2020 ที่จะมาช่วยตอบคำถามเรื่องของสุขภาพจิต

โรคซึมเศร้าคืออะไร ?
คุณหมอ : ขึ้นชื่อว่า “โรค” ก็บ่งบอกว่าเป็นความผิดปกติทางการแพทย์ ส่งผลให้สารสื่อประสาทในสมองเปลี่ยนแปลงไป ทำให้อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม ไปจนถึงความจำของเราทำงานผิดปกติ กระทบกิจวัตรประจำวัน ทำอะไรต่าง ๆ ได้ไม่ดีเท่าเดิม ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อได้ ควรได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้ทุเลาลง ซึ่งต่างจากความเศร้าทั่วไปที่หายดีด้วยตัวเองได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่เป็นอ่อนแอ ไม่สู้ แต่เขากำลังเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา บางคนมีอารมณ์เศร้าจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ สำคัญเลยคือสังเกตตัวเองได้ ทำแบบทดสอบได้ แต่ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเพื่อปรึกษา ประเมินและวินิจฉัย

จะสังเกตได้อาการของโรคซึมเศร้าได้อย่างไร แล้วรักษาให้หายขาดได้ไหม หรือสามารถหายแล้วกลับมาเป็นอีกได้หรือเปล่า ?
คุณหมอ : ลักษณะคือมีอารมณ์เศร้าเบื่อ เป็นทั้งวัน ติดต่อกันเกินสองสัปดาห์ มีความคิดลบมากขึ้น ส่วนใหญ่หากตรวจพบแล้วก็ทานยา พันธุกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ถ่ายทอดโรคนี้ แต่พบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่ 80-90% มาจากสิ่งรอบตัว ความเครียดมากกว่า โรคซึมเศร้าหายได้แต่ต้องอาศัยหลายๆ อย่าง อาจจะกลับมาเป็นใหม่หรือเป็นต่อเนื่องก็ได้เหมือนกัน บางคนหายไปสองสามปีแล้วเป็นอีก บางคนก็หายไปสิบปีละกลับมาเป็นอีก ครั้งแรกอาจจะทานยาต่อ 6-9 เดือนหลังจากหายเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ แต่ถ้าเป็นซ้ำ ต่อไปอาจจะเรื้อรัง ทำให้ต้องรักษาหรือทานยานานกว่าเดิม สิ่งกระตุ้นคือความเครียด คนรอบข้าง การงาน การเงินหรือสิ่งแวดล้อม จริงๆแล้วปัจจัยเสี่ยงก็มาจากเรื่องใกล้ตัวคนไข้
Eating Disorder คืออะไร ?
คุณหมอ : Eating Disorder เกิดกับการรับรู้ของเราที่มักจะกังวลเรื่องรูปร่างเป็นพิเศษ มีความเชื่อผิดๆ ทำให้เกิดพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติไป เช่น อยากผอมมากๆ ไม่อยากทานอาหาร ไปจนถึงล้วงคอ บางเคสของคนที่เป็น ED พบโรคซึมเศร้าร่วมด้วยบ่อยมาก เพราะเราอยู่กับความทุกข์ใจมาเป็นเวลานาน

คุณอแมนด้า : เคยมีประสบการณ์ถูก body shaming ทำให้อยากลดน้ำหนัก เริ่มเข้ายิม มองอาหารเป็นศัตรู แล้วน้ำหนักก็ลดลงอย่างน่ากลัว แต่เรารู้สึกว่าลดเท่าไหร่ก็ไม่พอ มองในกระดูกที่โผล่ออกมายังไม่มากพอ มีอาการล้วงคอ ทานแล้วรู้สึกผิด เหมือนต่อสู้กับตัวเองตลอด ใจนึงก็บอกว่าต้องทาน แต่อีกใจก็อยากผอม ตอนนั้นคนรอบตัวสังเกตเห็นทำให้เรารู้สึกตัว เพื่อนถามว่า เราต้องการความช่วยเหลืออะไรไหม ? ตอนนั้นเราก็บอกว่าเราโอเค เหมือนลึกๆเรารู้ว่าเราไม่เหมือนเดิมแต่เราไม่อยากหาย เพราะถ้าหายเราจะไม่ผอมอย่างที่เราตั้ง goal ไว้
เข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างไร ? โรค ED สามารถรักษาให้หายขาดได้ไหม ?
คุณอแมนด้า : ตอนนั้นเรากลับมาที่เมืองไทย ครอบครัวคอยให้กำลังใจเรา ไม่เคยใช้คำพูดที่ต่อว่าให้เราไปรักษาเลย เราก็เริ่มคิดได้ว่าคนรอบตัวรักเราขนาดนี้ เราต้องดูแลตัวเอง เราต้องหาย ใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะกลับมากินอาหารได้ปกติ เหมือนเราต้องสร้าง relationship กับอาหารใหม่ทุกครั้งที่เราตักข้าวเข้าปาก เราต้องต่อสู้กับความคิดของตัวเองตลอดเวลา แต่กำลังใจสำคัญมากๆ

คุณหมอ : โรคทางจิตเวชมีปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เราอาจรู้สึกหายขาดอยู่ช่วงเวลานึง แต่อาการก็อาจจะกลับมาได้ตลอดถ้ามีอะไรเข้ามากระทบ เพราะฉะนั้นเราต้องดูแลตัวเอง หมั่นสังเกต อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรมและคนรอบข้างก็อาจจะคอยช่วยเหลือด้วย
ในประเทศไทยคิดว่าคนเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตมากน้อยแค่ไหน รวมถึงโรคซึมเศร้าด้วย ?
คุณอแมนด้า : โรคซึมเศร้าเป็นคำที่เราได้ยินบ่อย แต่คนส่วนใหญ่อาจยังไม่เข้าใจความหมาย ส่วนตัวเราไม่เคยเป็นโรคซึมเศร้า แต่จากประสบการณ์ของเรา ก็คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก สุขภาพจิตเป็นเรื่องกว้างมาก บางทีคนก็พูดไปในเชิงล้อเล่น
คุณหมอ : ปัจจุบันหมอรู้สึกว่าคนกล้าเข้ามาหามากขึ้น จำนวนคนมาโรงพยาบาลก็เยอะขึ้น หรือแม้แต่ในแอปฯ อูก้าก็ด้วย คิดว่าคนเริ่มเข้าใจมากขึ้นแล้ว จริงๆ สื่อมีส่วนช่วยในการสร้างความตระหนักมากเหมือนกัน

ในมุมของคนที่อยู่ท่ามกลางสื่อ เป็นจุดสนใจ มีความเครียดหรือรู้สึกกดดันมากกว่าคนทั่วไปไหม ?
คุณอแมนด้า : จริงๆ ด้ามองว่าทุกคนมีความเสี่ยงเท่ากัน เพราะทุกคนต่างต้องเจอแรงกดดัน อยากให้เอาแรงกดดันมาทำให้เป็นเรื่อง positive เราจะดูว่าหน้าที่ของเราความผิดชอบของเราคืออะไร ด้ามีสองวิธีด้วยกัน อย่างแรกโฟกัสที่เป้าหมาย เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไร อย่างที่สองหา support system ที่ดี คนรอบข้างที่รักและเป็นกำลังใจให้เรา

ในฐานะคนใกล้ชิดคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เราจะทำอย่างไร ? พฤติกรรมหรือคำพูดอะไรที่เราต้องระวังเป็นพิเศษ ?
คุณหมอ : ก่อนอื่นเราต้องพยายามทำความเข้าใจว่า เขากำลังคิดอะไร รู้สึกอะไรอยู่ แล้วก็รับฟังเขาอย่างไม่ตัดสิน อยู่ข้างๆ และเป็นกำลังใจให้เขา ส่วนคำพูดและการกระทำสำคัญที่ “เจตนา” ความตั้งใจและความหวังดีของเราจะทำให้เขารับรู้ได้ บางคนอาจจะหวังดีแต่พูดไม่เป็น หมอคิดว่าบางคำอาจจะไม่ดี เช่น บอกปัด ให้ไปเข้าวัดฟังธรรม ให้ปลง หรือบอกเขาว่า “เลิกเศร้าได้แล้ว อย่าคิดมาก” บางทีมันเป็นโรค เขาเลิกคิดไม่ได้ “ทำไมไม่หาย” “ทำไมเลิกคิดไม่ได้” จะทำให้เขารู้สึกไม่ดี
อย่างคำว่า “สู้ๆ” ทำไม่ควรใช้ ? เพราะเหมือนให้เขาสู้อยู่ลำพัง รู้สึกโดดเดี่ยว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบางคน สำหรับคำนี้ บางคนก็รู้สึกว่าเพื่อนเป็นห่วง พูดได้ อีกอย่างที่ต้องระวัง คือ เรารู้สึกว่าเราพูดดีแล้ว ให้กำลังใจเต็มที่แล้ว แต่ด้วยโรคทำให้คนเป็นซึมเศร้าตีความไปทางลบได้ ซึ่งเราก็ไม่ได้พูดอะไรผิดเพียงแต่เขาไม่สามารถมองในทางบวกได้ อาจบอกเขาตรง ๆ ว่าเราเป็นห่วงและอยากให้เขาได้รับความช่วยเหลือ
Q&A

ถาม : ครอบครัวมีคนเป็น depression , anxiety , bipolar ในต่างประเทศการไปหาหมอหรือนักจิตฯ เป็นเรื่องปกติมาก อยากถามว่าในประเทศไทยมีการแยกชัดเจนไหมระหว่างหมอกับนักจิตฯ แล้วจะไปหานักจิตวิทยาที่ไหนดี ?
คุณหมอ : อย่างประเด็นแรกจิตแพทย์ต้องเรียนจบหมอ ต่อเฉพาะทาง จะสามารถจ่ายยาและทำจิตบำบัดได้ แต่ด้วยความที่ภาระงานเยอะ (ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล) ทำให้จิตแพทย์ไม่ค่อยมีเวลาทำจิตบำบัด ส่วนนักจิตวิทยาจะเชี่ยวชาญเรื่องการทำจิตบำบัดในรูปแบบต่าง ๆ ปกติแล้วหมอจะทำงานร่วมกับนักจิตวิทยา อ่านแฟ้มคนไข้จากนักจิตวิทยา มีการประสานงานกัน ทำ conference ร่วมกัน ขึ้นอยู่กับเคสด้วย จริงๆ ถ้าเทียบกับต่างประเทศต้องบอกว่าเราเข้าถึงจิตแพทย์และนักจิตวิทยาได้ง่ายกว่ามาก อย่างในแอปฯ อูก้าก็ถือว่ามีจำนวนเยอะมากๆ

ถาม : เราเคยคิดว่าพอเราเศร้าก็หายเศร้าสิ แต่จริงๆเราเข้าใจผิด เราเริ่มมาศึกษาและสนใจเรื่องนี้ มันจะเป็นไปได้ไหมที่จะมี platform ทำให้เรื่องสุขภาพจิตเข้าถึงได้กับทุกคน มีการวางแผนหรือจะทำอะไรในอนาคตได้บ้างเพื่อทุกคนเห็นความสำคัญเรื่องนี้?
คุณอิ๊กตอบ : คนไทยส่วนใหญ่กังวลเรื่อง stigma การถูกอคติว่าเป็น “โรคจิต” กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวด้วย คำถามนี้คือเหตุผลที่เราก่อตั้งอูก้าขึ้นมาเลย เราเองก็เป็นคนที่ป่วยเหมือนกันตั้งแต่อายุ 15 แต่กว่าจะกล้ายอมรับและไปหาหมอต้องใช้เวลานานเกือบสิบปี โรงพยาบาลทั่วไปเองก็มีความลำบากในการรักษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาก็มีน้อย เราเลยอยากจะเปลี่ยนแปลงให้เรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญที่พูดถึงได้ อยากให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาที่ไหนก็ได้ที่เขารู้สึกปลอดภัย อูก้าอยากช่วยทำลายกำแพงตรงนี้ คิดว่าทุกคนสามารถแบ่งเบากันได้ ช่วยกันได้ ลุกขึ้นมาช่วยสนับสนุน นอกจากนี้เราก็มีโครงการ wall of sharing ที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย มุ่งเน้นช่วยนักศึกษาให้ได้พบจิตแพทย์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถาบันใดๆ นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยสามารถใช้บริการได้

คุณหมอ : platform ที่เพิ่มขึ้นมาช่วยได้มาก เพราะมีคนไข้ที่ไม่กล้าเดินไปหาหมอใช้บริการค่อนข้างเยอะเลย ทำให้เขามีพื้นที่จัดการความเครียด เพราะบางคนไม่ได้เป็นซึมเศร้า แต่หาทางจัดการความเครียดไม่ได้ ต้องการความช่วยเหลือ อย่างการพบจิตแพทย์ต่างประเทศก็ยากมาก ทำให้การหาหมออนไลน์ช่วยได้มากเลย เพราะการไปโรงพยาบาลอาจจะต้องบอกว่าจำนวนหมอกับคนไข้ไม่ค่อยสัมพันธ์กัน
ถาม : เราป่วยเป็นไบโพลาร์ ช่วงที่ดาวน์มากแบบติดเตียง ควรดึงอารมณ์ตัวเองกลับมายังไงดี ?
คุณหมอ : อย่างแรกคือ สังเกตอารมณ์เราให้บ่อยมากขึ้น ลองให้คะแนน 1-10 เมื่อรู้ว่าดาวน์มากขึ้น ให้พยายามกลับมาอยู่กับปัจจุบัน หาอะไรช่วยเบี่ยงเบนเรา แม้เราจะเบื่อหน่ายจนไม่อยากทำ แต่ดีกว่าปล่อยให้ตัวเองดิ่งลงไป หรือหาใครสักคนคุยด้วย อยู่ข้างๆ เพื่อดึงความสนใจ อย่าปล่อยให้เราดาวน์มากๆ แล้วค่อยเบี่ยงเบน ต้องดึงตัวเองตั้งแต่ระดับต้นๆ เข้าใจว่าอาจจะยาก แต่ต้องฝึกเรื่อยๆ

ถาม : เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น MDD และ PTSD อยากทราบว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะดีขึ้นหรือกลับมาเป็นเหมือนเดิม ?
คุณหมอ : ปกติจะเน้นการพูดคุยทำจิตบำบัดและใช้ยาร่วมด้วย จิตแพทย์และนักจิตฯ สามารถช่วยได้ค่ะ อาจจะกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนไม่ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละเคส ถ้าเป็นสองโรคร่วมกันอาจใช้เวลานานขึ้นในการรักษา แต่ถ้ารักษาอย่างต่อเนื่องสามารถหายได้แน่นอน
ถาม : มีโรคทางจิตเวช แต่อยากประกอบอาชีพทางจิตวิทยา สามารถทำได้ไหม ?
คุณหมอ : ไม่ได้มีข้อห้าม สามารถเรียนเพื่อเป็นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้ แต่ข้อควรระวังคือใจเราต้องพร้อม เพราะในการทำงานหรือว่าให้คำปรึกษา เราอาจจะซึมซับอารมณ์ความรู้สึกของคนไข้มา ด้วยความ sensitive หรือรู้สึกเปราะบาง ซึ่งทำให้ใจเราไม่พร้อมที่จะรับปัญหาหนักๆ แต่ถ้ารักษาให้หายดีน่าจะพร้อมมากขึ้น จะทำให้เราแยกแยะอารมณ์ได้

ถาม : โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) มีอาการ เช่น กังวลว่าลืมปิดแก็ส ขับรถกลับไปดู ห้ามความคิดไม่ได้ แต่ไม่กล้าไปพบหมอเพราะกลัวมีประวัติ เลยใช้วิธีอ่านหนังสือ ศึกษาและพยายามดูแลตัวเอง
คุณหมอ : สำหรับคนที่กำลังฟังอยู่ ถ้ามีอาการคล้ายกัน แนะนำทำพฤติกรรมบำบัดและทานยา ควรรีบไปพบจิตแพทย์รักษา อย่าปล่อยไว้แล้วคิดว่าไม่เป็นอะไร ถ้ารักษาอย่างเหมาะสมจะหายเร็วขึ้น
ถาม : เวลาที่เราได้เจอคนหรือได้ยินคนพูดเรื่องไปโรงพยาบาล พบจิตแพทย์ เป็นโรคนี้อยู่ เราควร ตอบสนองยังไงถึงจะเหมาะสม ? แล้วเวลาเพื่อนไม่สบายใจ ถ้าเรารับฟังไม่ไหวจะบอกให้เพื่อนไปหาจิตแพทย์ยังไงดี ?
คุณหมอ : หลักๆ คือ รับฟัง แสดงความเห็นอกเห็นใจได้ แต่ไม่มากเกินไป คิดกลับว่าถ้าเป็นตัวเรา เราอยากได้กำลังใจประมาณไหนที่จะทำให้รู้สึกดี เราก็ทำกับเพื่อนแบบนั้น ส่วนเพื่อนเราอาจจะบอกว่ามีอะไรให้ช่วยก็บอกนะ ถ้าเรามีอารมณ์ร่วมมากไปก็อาจจะทุกข์ไปด้วย ลองถอยออกมานิดนึง ถ้าเขาต่อต้านการไปหาหมอก็อาจจะบังคับได้ยาก แต่เราช่วยเขาได้เท่าที่เราไหว เต็มที่แล้ว ไม่ต้องรู้สึกผิด

ถาม : เราเป็น PTSD มา 4-5 ปี แล้ว ปลายปีที่ผ่านมาแม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ แล้วต้องอยู่ด้วยกันทุกวัน ทั้งวัน เรารู้ว่าเราเป็น trigger ของแม่ ถ้าเขารู้สึกว่าเราไม่รักก็จะน้อยใจรุนแรง จะทำยังไงให้เป็นผู้ฟังที่ดีแต่ไม่ให้เราดาวน์ไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ?
คุณหมอ : อยากให้บอกแม่ว่าจริงๆ เรารู้สึกยังไง ปรับที่ “การสื่อสาร” แน่นอนว่ารักและเป็นห่วง หมอรู้สึกว่าแม่คงน้อยใจเหมือนกัน แล้วอยากให้กลับมาดูแลจิตใจตัวเองด้วย พยายามเลี่ยงออกมาเวลาที่มีอารมณ์กันทั้งคู่ เราจะได้ไม่แสดงอารมณ์ออกไป แม่ก็จะได้ไม่เสียใจ
Recent Comments