จาก Clubhouse Mindfully @work #6 “นิสัยขี้เกรงใจแบบไทยๆ ส่งผลอย่างไรกับการทำงาน” by ooca และครูเคท นักจิตวิทยาการปรึกษา

.

เคยรู้สึกไหมว่านิสัยหรือวัฒนธรรมบางอย่างของคนไทยนั้นไม่เอื้อในสังคมการทำงาน โดยเฉพาะนิสัยขี้เกรงใจที่ทำให้พนักงานต้องเหนื่อยล้า กดดัน อึดอัด เป็น Yes person กับทุกเรื่อง สุดท้ายพอเก็บสะสมไว้นานๆ แล้วไม่ได้หาทางระบาย ปลายทางคือพนักงานเลือกที่จะลาออก ซึ่งอูก้าได้เชิญครูเคท ดร. เนตรปรียา ชุมไชโย นักจิตวิทยาการปรึกษา เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาองค์กร ความสัมพันธ์และครอบครัว มาช่วยไขคำตอบให้เราแล้ว

เพราะอะไรเราถึงให้ความสำคัญกับ “นิสัยเกรงใจ” ?

ครูเคท : ก่อนอื่นต้องบอกว่า ‘เกรงใจ’ เป็นลักษณะพิเศษของคนไทย ที่หาคำแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ยาก ตีความหมายได้สองอย่าง คือ 1) เพราะเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถูกสอนมาว่าอย่าทำให้ใครเดือดร้อน ทำให้พยายามเข้าใจคนอื่นเสมอ 2) เป็นความกลัว แต่เราใช้คำว่า ‘เกรงใจ’ แทนเพราะฟังดูเป็นด้านบวก ซึ่งความเกรงใจเป็นเรื่องที่ดี ถามตัวเองก่อนว่าเราเกรงใจเพราะกลัวไปล้ำเส้นคนอื่น อย่างการจะไหว้วานใครให้คิดถึงอีกฝ่าย หรือว่าเรากำลังกลัวอะไร ? จริงๆ เรากลัวว่าคนอื่นจะไม่ยอมรับเรา กลัวถูกนินทาหรือเปล่า ?

ด้วยวัฒนธรรมองค์กรหรือสังคมไทย ทำให้มัวแต่เกรงใจกันไปมาจนงานไม่คืบหน้า ควรแก้ยังไงดี ?

ครูเคท : ถ้าเราเห็นความสำคัญของทีมเป็นหลัก นึกถึงงานเป็นสำคัญ เราจะรู้ว่าจัดลำดับความสำคัญอย่างไร ควรแบ่งกันยังไง ถ้าเรางานล้นมือแต่เราไม่อยากรบกวนคนอื่นเลยเพราะเกิดความเกรงใจ นี่คือเราสำนึกในน้ำใจที่มีให้กัน แต่อีกกรณีคือถ้าเรางานล้นมือ แต่ไม่กล้าขอให้คนอื่นช่วยเพราะเรากลัวอีกฝ่ายดูถูกเรา นินทา มองเราไม่ดี กลัวคนอื่นรำคาญ นั่นแปลว่าเรามองตัวเองด้อยกว่า เราเลยใช้คำว่าเกรงใจ

อีกกรณีคือเกรงใจจนไม่กล้าปฏิเสธ ทำให้ต้องลำบากใจในการทำงาน เช่น ไม่กล้าบอกว่าไม่ชอบ ไม่อยากทำ ไม่กล้าบอกว่าไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้เพราะคำว่า ‘เกรงใจ’

ครูเคท : เวลาที่ไม่กล้าพูดไม่กล้าถามให้ยึดหลักสามข้อไว้ ในการพูดสิ่งที่เราคิด เพื่อฝึกทักษะการสื่อสาร 1) ผิดกฎหมายไหม 2) ผิดศีลธรรมอันดีงามหรือเปล่า 3) มีใครเดือดร้อนไหม สำคัญที่สุดคือเมื่อมีปัญหาอย่ากลัว

.

เราต้องรู้ว่าทุกคนทำงานหนักแต่บางเรื่องถ้าไม่พูดอาจกลายเป็นเตี้ยอุ้มค่อม หัวหน้ามีหน้าที่การวางระบบงาน ช่วยแก้ปัญหา หาวิธีอันชาญฉลาดเพื่อให้ได้งานแต่ไม่ใช่ทำให้ ถ้าลูกน้องงานโหลดหัวหน้าต้องช่วยจัดการให้ได้ปริมาณงานที่ต้องการแต่ลูกน้องไม่รู้สึกแบกภาระจนเกินไป เช่น จัดเวร จัดระบบ ใช้เทคโนโลยี tools ต่างๆ อาจลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น แต่ปกติเราไม่ค่อยทบทวนว่าอะไรทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ ด้วยความเคยชินที่ทำกันมา

เมื่อเราปฏิเสธหรือไม่ทำตาม กลายเป็นเราใจร้าย ไม่มีน้ำใจ ทำให้เรารู้สึกผิด เป็นทุกข์ จะทำยังไงดี ?

ครูเคท : จริงๆ ‘เกรงใจ’ คือนึกถึงคนอื่นเป็นหลัก แต่ ‘ความกลัว’ คือ เรานึกถึงตัวเองเป็นหลัก อีกอย่างที่เราคิดว่าความเกรงใจ แต่จริงๆ คือ ‘ไม่กล้าถาม’ เพราะเรากลัวเขาจะหาว่าเราไม่เข้าใจ คนที่ขี้เกรงใจมาก ๆ ต้องเข้าใจความคิดตัวเองก่อนว่ามีรากฐานมาจากอะไร เช่น มองว่าตัวเองด้อย ไม่เก่งพอ แนวโน้มจะไปทางกลัว แต่ถ้ามองเรื่องทำงานเป็นทีม สร้างงาน จะไปไหว้วานใคร อาจเป็นการมองด้วยความเกรงใจ

สำหรับใครที่มีความเครียด กดดันกับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องงาน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือแม้แต่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง แล้วอยากพูดคุยกับครูเคท นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์จากแอปพลิเคชันอูก้า สามารถนัดเข้ามาพูดคุยได้เสมอ เพราะสุขภาพใจของพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ แล้วพบกับใหม่กับ Clubhouse ของอูก้าสัปดาห์หน้า ฝากติดตามด้วยน้า


ช่วง Q & A

ถาม : ในขณะที่เวลาเราอยู่กับชาวต่างชาติ เขาก็มองว่าคนไทยขี้เกรงใจเกินไป ไม่ค่อยพูด ดูเราไม่ active หรือเปล่า ?

ครูเคท : คนไทยชอบคิดว่าภาษาเราสู้เขาไม่ได้ เพราะเราไปมองว่าภาษาสำคัญที่สุด ทำให้เราขาดความมั่นใจ แต่จริงๆ ประสบการณ์หรือความสามารถของเรานั้นมีนับไม่ถ้วน ลักษณะเด่นของเราคือ ‘ความละเอียดอ่อน’ ในการทำงาน แต่ติดที่เรา low self-efficiency คือไม่ได้เชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองเท่าที่ควร การทำงานกับคนที่ assertive หรือสังคมต่างชาติ เราควรรู้จักตัวเองให้ดีโดยไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น เรามีทักษะอะไร เราชอบอะไร แล้วนำสิ่งนั้นไปต่อยอด ถ้าเราเริ่มเห็นพัฒนาการตัวเองเราจะมีกำลังใจ แต่ถ้าเราดูถูกตัวเองก็จะหมดความมั่นใจ

ถาม : มักได้รับมอบหมายงานที่ไม่อยากทำอยู่เสมอ เช่น งานส่วนกลาง งานที่คนอื่นไม่อยากทำ งานตกค้าง แต่เราอยากทำอะไรที่มีประโยชน์หรือต่อยอดได้มากกว่า

ครูเคท : เราไม่เห็นความสามารถของตัวเองอย่างที่ทุกคนเห็น เราเข้าใจว่างานนี้ให้คนอื่นทำก็ได้ แต่การที่ได้รับมอบหมาย อยากให้มองว่าผู้บริหารเขาเห็นความเป็นไปได้ของเรา เลยให้เราทำเพื่อนำมาต่อยอด การที่เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเราต้องเข้าใจว่าหัวหน้าเห็นภาพเป็นแบบไหน เราเชื่อว่าทุกความคิดมีประโยชน์

ถาม : ทำงานอยู่ต่างประเทศ แล้วมีเพื่อนร่วมงานเป็นไบโพลาร์ เราทำงานแทนเขาตลอดเวลาเขาหยุดงาน แต่ถ้าเราทำพลาดเขาจะต่อว่า เหมือนเขาไม่ appreciate ในสิ่งเราทำเลย

ครูเคท :  ปัญหาส่วนตัวเขาค่อนข้างหนัก ถ้าเราต้องดีลด้วยอาจจะต้องหาทางให้เขาระบายความเครียดออกมาบ้าง ต้องเข้าใจว่าที่เขาเก็บตัวเพราะเขาไม่ได้ภูมิใจกับ background เท่าไหร่ เราอาสาช่วยคนอื่นอาจจะดีใจ แต่กรณีที่เขาเป็น toxic people ต่อว่าหรือโทษเวลาเราทำผิดพลาด ให้เราถอยออกมา เพราะเขาค่อนข้างมีอารมณ์ขึ้นลงและตีกรอบชัดเจน ถ้าใครทำงานด้วยวิธีที่แตกต่างออกไปเขาจะมีอารมณ์ทันที ลึกๆ เขาก็กังวล หวาดระแวง เราอาจรอให้เขามาขอความช่วยเหลือก่อน เขาจะได้ไม่รู้สึกว่าเราเข้าไปยุ่งกับชีวิตเขา อาจจะเปลี่ยนเป็นให้กำลังใจ ถามไถ่แทน หรือถามตรงๆ เลยว่า ‘จะให้ฉันทำอะไร ?’ ‘จะให้ฉันช่วยตรงไหน ?’

ถาม : เรามองว่าบางอย่างเราไม่ต้องใช้เวลากับมัน อยากให้แบ่งหน้าที่รับผิดชอบชัดเจน

ครูเคท : การทำงานจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้มันจะเกิดจากการที่เราเห็นภาพว่าจากข้างบน ข้างๆ และข้างล่าง อาจต้องถามตัวเองก่อนว่าเพราะเรามองจากมุมเดียวหรือเปล่า เราต้องเข้าใจคนทุก ๆ เลเวลก่อนถึงจะเปลี่ยนแปลงได้ เราขาดการสื่อสารกันในองค์กรหรือเปล่า อย่าให้งานติดตัวเรา ต่อไปให้พัฒนาระบบเพื่อที่จะให้คนอื่นมาแทนที่เราได้ การจะเติบโตในหน้าที่การได้คือการสร้างระบบให้คนรุ่นต่อไป แล้วเราจะได้ไปทำอย่างอื่นต่อในอนาคต

ถาม : ทำงานระดับผู้จัดการอยู่บริษัทแห่งหนึ่ง รู้สึกเกรงใจลูกน้องด้วยวัยที่ไม่ได้ต่างกันมาก ไม่กล้ามอบหมายงานเพราะกลัวเขามองเราเป็นหัวหน้าที่ไม่ดี สุดท้ายเลยรับมาทำเอง

ครูเคท : ในการทำงานเราต้องเข้าใจหมวกที่เราใส่ เราคือคนที่วางระบบการทำงาน คอยแก้ปัญหาให้ลูกน้อง อีกบทบาทคือ facilitator ช่วยให้เขาทำงานได้สะดวก เราเผลอเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่น หัวหน้ากับลูกน้องมี job description ที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ว่าใครเก่งกว่าใคร เวลางานเราเป็นมืออาชีพ นอกเวลางานเราเป็นพี่น้องกันได้ ทิ้งหัวโขนไปซะ หรือแม้แต่ให้ลูกน้องสอนงานเป็นบางครั้งก็ได้ในสิ่งที่เราไม่รู้

ถาม : แต่ก่อนเป็น perfectionism มาก แล้วค่อนข้างหงุดหงิดคนที่ทำงานช้า จนเจอ feedback ที่ไม่ดีจากรอบข้าง เลยพยายามเปลี่ยน mindset ตัวเองให้ผ่อนคลาย แต่ก็ยังกลัว feedback รอบข้างมากๆ เราแคร์คำพูดคนอื่นไปหมด

ครูเคท : ถามก่อนว่า ‘เราดุเพราะอะไร ?’ ความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นเราถึงดุคนอื่น คุณถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัว 4 ประการ กลัวทำไม่เสร็จ กลัวทำผิด กลัวงานออกมาไม่ดี กลัวคนอื่นประเมินว่าเราไม่ดี แต่ไม่รู้ตัว สัญชาตญาณเลยทำให้เรากระแทกอารมณ์ใส่คนอื่นโดยไม่รู้ตัว ที่ตอนนี้เรารู้สึกว่าเราดีขึ้นจริง ๆ ข้างในเรายังกลัวเหมือนเดิม แค่เราถอดใจไม่ไหว้วานลูกน้อง แล้วเอางานมาทำเอง

คำแนะนำจากครูเคท

ครูเคท : วิธีแก้ไขความกลัวและวิตกกังวลที่ได้ผล ไม่ใช่บอก “ช่างมัน” แต่คือการมองความกลัวนั้นให้ชัด แล้วบอกว่า “it’s not that bad” แล้วถ้ากลัวเราก็ต้องปลอบใจตัวเอง อยากให้มองว่าปัญหามีไว้ให้แก้ และฉันสามารถแก้ได้ทุกปัญหา ทุกครั้งที่แก้ได้เราจะฉลาดขึ้น เราได้เรียนรู้ ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นก็ได้ อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง ลองมองเป็นการเรียนรู้เพื่อเติบโตแทน