คนเรามีเรื่องที่กลัวแตกต่างกัน ความรู้สึกกลัวที่ฝังอยู่ลึกๆ ในใจของมนุษย์มากบ้างน้อยบ้าง ที่คุ้นหูกันดี เช่น กลัวความมืด กลัวความสูง หรือกลัวแมลง แต่บางคนบอกว่าตัวเองไม่กลัวอะไรเลย จริง ๆ แล้วเราแค่ไม่รู้หรือไม่เคยมีอะไรไปสะกิดความกลัวนั้นให้ตื่นขึ้นมาทำงานหรือเปล่า แล้วความกลัวบางรูปแบบก็เกิดขึ้นเพราะประสบการณ์เฉพาะตัวบุคคล หนึ่งในความกลัวประเภทหลังที่น่าสนใจมาก ๆ คือ Philophobia หรือโรคกลัวความรัก

.

อาการของโรคกลัวความรักคล้ายกับโรควิตกกังวล เช่น ใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก เหงื่อออก คลื่นไส้ ตัวสั่น และเกิด Panic Attack ทุกครั้งที่นึกถึงการสร้างความสัมพันธ์ เหมือนถูกจู่โจมแบบไม่ทันตั้งตัว อาจจะฟังดูน้ำเน่าแต่อาการพวกนี้เกิดขึ้นจริง นอกจากอาการเชิงกายภาพแล้ว อาการอื่น ๆ ของโรคนี้คือการไม่เปิดใจให้ใครก็ตามเข้ามาในพื้นที่ของตัวเอง มักขีดเส้นไว้ชัดเจนและมีกำแพงตั้งสูงกว่ารั้วบ้าน หรือถึงแม้เข้ามาได้ก็ไม่สามารถจะประคับประคองความสัมพันธ์เอาไว้ได้นาน เพราะความรู้สึกไม่มั่นคงทางใจ ทำให้หลาย ๆ ครั้ง เขาจะสลับไปมาระหว่างหึงหวงคู่รักมาก ๆ กับผลักคู่รักออกจากตัวเองโดยไม่รู้ตัว

.

ความรักเป็นสิ่งที่เข้าใจตรงกันว่าเป็น “ความรู้สึกด้านบวก” แล้วทำไมคนเราถึงกลัวความรักได้ ?

ความรู้สึกกลัวที่จะมีความรักเกิดขึ้นได้จากเหตุการณ์ที่เป็นแผลใจในอดีต โดยเฉพาะในวัยเด็ก ประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย สั่นคลอนความรู้สึก เช่น พ่อแม่หย่าร้าง ความรุนแรงในครอบครัว การโดนปฏิเสธ ไม่ได้รับการตอบสนองทางอารมณ์ ประสบการณ์ทางความรักของตัวเองที่จัดอยู่ใน Toxic Relationship และการเป็นคนที่เกิดขึ้นมาในวัฒนธรรมและศาสนาที่เข้มงวดในเรื่องการมีความรักความสัมพันธ์ และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้เราปิดใจ กักเก็บความรู้สึกรักให้จมลึกลงไปโดยไม่รู้ตัว โดยพบว่าผู้มีอาการกลัวความรักมักเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

.

ฉะนั้นการรักษาโรคกลัวความรักนั้นมีสองระดับ ในระดับตัวบุคคลคือการบำบัดผ่านจิตแพทย์และนักจิตบำบัด และการบําบัดทางความคิดและพฤติกรรม หรือ Cognitive behavioral therapy (CBT) ที่จะมาช่วยปรับความคิดและความเชื่อเฉพาะตัวที่มี เพื่อให้เขาหลุดออกจากกรอบความคิดที่ผิดเพี้ยนไปจากโลกความจริง (Cognitive distortion)

.

นอกจากนี้การรักษาในระดับที่สำคัญมากไม่แพ้กันคือในระดับสังคม ความรุนแรงในครอบครัวและระหว่างคู่รักทำให้เกิดประสบการณ์ที่เลวร้ายมากกว่าโรคกลัวความรักอย่างเดียว นั่นคือผลกระทบทางจิตใจ ทั้งโรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล การใช้สารเสพติด ไปจนถึงการทำร้ายตัวเอง ส่วนวัฒนธรรมหรือค่านิยมที่มีข้อจำกัดหรือบีบคั้นมาก ๆ อาจถึงเวลาที่ต้องมาทบทวนกันว่า ในเมื่อความรักเป็นเรื่องของคนสองคน เราจะให้บทบาททั้งคู่ในการแสดงความเห็นในเรื่องความสัมพันธ์ของตัวเองได้หรือไม่ ? นี่อาจเป็นความท้าทายต่อจากนี้ที่เราควรต้องคำนึงถึงอนาคตของเรื่องสุขภาพใจ

.

หากใครที่อ่านบทความนี้แล้วไม่แน่ใจว่ามีอะไรขัดขวางความสัมพันธ์อยู่หรือเปล่า เกิดสงสัยว่าทำไมเราไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงได้ อึดอัดกับคนรอบข้างอยู่บ่อย ๆ หรือว่าเราอาจจะกลัวความรัก ? ถ้าคุณมีความกังวลใจก็สามารถมาเล่าให้อูก้าฟังได้ จิตแพทย์และนักจิตวิทยาของเรายินดีให้คำปรึกษาทุกคนเสมอ

อ้างอิงข้อมูลจาก :

https://www.medicalnewstoday.com/articles/philophobia#treatment

https://med.mahidol.ac.th/ramamental/sites/default/files/public/pdf/Cognitive behavior therapy.pdf

https://www.fearof.net/fear-of-love-phobia-philophobia/

https://www.tripboba.com/article_health_know-more-about-philophobia-and-how-to-treat-it.html

https://www.medicinenet.com/domestic_violence/article.htm

#OOCAknowledge

———————————————————————————–

ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล ฯ นัดคุยได้เลย

🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/philophobiablog
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ > https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

#OOCAitsOK#WeWillListen#เรื่องของใจให้เรารับฟัง#แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา#mentalhealth