‘เครียด’ คำสั้น ๆ แต่เอฟเฟกต์ต่อใจช่างรุนแรง เชื่อว่าเราทุกคนคงไม่มีใครอยากเครียด แต่จะให้ทำอย่างไรในเมื่อทุกวันที่ต้องใช้ชีวิต เราต่างก็เลี่ยงไม่ได้ที่อาจจะต้องเจอกับปัญหาหรือสถานการณ์บางอย่างที่มากระทบกับใจให้เราต้องเครียด และเมื่อเรายิ่งเครียดมากเท่าไหร่ นานวันเข้าสุขภาพกายและใจเราก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน
.
บางคนเครียดแล้วไม่แสดงออก บางคนเครียดแต่เก็บไว้ข้างใน บางคนเครียดแต่ไม่อยากบอก แต่ไม่ว่าจะเครียดแบบไหน ก็ส่งผลต่อสุขภาพใจและกายของเราทั้งนั้น เราเองเคยรู้จักกับเพื่อนในสมัยมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง เธอเป็นคนที่ดูภายนอกแล้วช่างเป็นคนที่สดใส ร่าเริง แต่อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนคนนี้กลับต้องเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากเครียดมากเกินไปโดยไม่รู้ตัวจนร่างกายส่งสัญญาณเตือน
.
ตอนที่ทุกคนไปเยี่ยมเพื่อนที่โรงพยาบาล สีหน้าและแววตาของเพื่อนบ่งบอกชัดเจนว่าร่างกายและจิตใจรับกับความเครียดนี้ไม่ไหวแล้ว คนรอบตัวต่างก็รู้สึกตกใจที่เพื่อนเครียดจนป่วยหนัก ซึ่งเขาก็ได้ยอมรับกับทุกคนว่า “รู้ว่าตัวเองเครียด แต่ไม่อยากบอกใคร” และที่สำคัญก็ไม่รู้ว่าความเครียดที่มีอยู่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายได้ถึงเพียงนี้ ตั้งแต่นั้นมาเวลาเพื่อนคนนี้เครียด ร่างกายก็ไม่เหมือนเดิม โดยมักจะมีอาการผื่นแดงขึ้นตามตัว หรืออาการของลมพิษอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นแล้วความเครียดถึงแม้จะเกิดขึ้นที่ใจ แต่มันกลับส่งผลไปที่กายได้เช่นกัน และที่น่ากลัวคือถ้าหากเราเครียดสะสม ร่างกายของเราก็อาจจะเกิดการ ‘จดจำ’ ความเครียดนั้นไว้ ครั้งต่อไปที่มีเรื่องเครียดเราจะสะสมความรู้สึกนั้นไปเรื่อย ๆ จนพัฒนากลายไปเป็นโรคที่ต้องใช้เวลารักษากันอย่างยาวนาน กระทบทั้งสุขภาพและกระทบค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาตัวเพิ่มขึ้นไปอีก
.
“ความเครียดไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป”
อ่านมาถึงตรงนี้ทุกท่านอาจจะรู้สึกกลัวการเครียดขึ้นมา แต่เราขอบอกเลยว่าปกติแล้วความเครียดนั้น หากอยู่ในระดับที่ ‘พอดี’ ก็จะให้ประโยชน์มากกว่าผลเสีย เพราะความเครียดจะช่วยให้เรามีแรงกระตุ้น มีแรงจูงใจที่จะดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จได้ ถ้าขาดความเครียดไป เราก็อาจจะกลายเป็นคนเฉื่อยชา ไม่มีแรงกระตุ้นใด ๆ
.
ยกตัวอย่างความเครียดที่พอดี เช่น เราอาจจะกำลังได้รับมอบหมายงานชิ้นหนึ่งมาเมื่อเดือนที่แล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราอาจจะสนใจมันบ้าง วอกแวกไปทำอย่างอื่นบ้าง จนระยะเวลาใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ ใจของเราที่เคยเริงร่าก็เริ่มกังวล เครียด และเครียดขึ้นเป็นเท่าตัว จนในคืนวันสุดท้ายก่อนที่จะส่งงาน ไม่รู้ว่าพลังมันมาจากไหน จู่ ๆ เราก็สามารถทำงานนั้นได้สำเร็จทันเวลาพอดี นี่คือความเครียดที่ช่วยกระตุ้นคุณให้มีพลังปั่นงานได้ทันท่วงที
.
หรือในสถานการณ์คับขัน อย่างเช่นในหนังผีที่มีฉากลุ้นระทึก ไล่ล่ากัน ทำไมเหล่าตัวละครถึงวิ่งหนีได้ทัน ? นั่นก็เป็นเพราะว่าหากคนเราอยู่ในสถานะตึงเครียด ร่างกายจึงเตรียมพร้อมด้วยการสั่งให้สู้ หรือ หนี และเมื่อเกิดความเครียดมากขึ้น ร่างกายก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่น หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้นเพื่อนำเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เหงื่อออก เพราะมีการเผาผลาญอาหารมากขึ้น อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้น กระตุ้นให้ร่างกายพร้อมที่จะออกจากสถานการณ์อันตรายได้นั่นเอง
.
ดังนั้นแล้วอาการเครียดที่เกิดขึ้นบ้างจึงถือเป็นเรื่องปกติ ใคร ๆ ก็สามารถมีความเครียดได้ แต่เครียดถึงขั้นไหนล่ะที่จะทำให้เรารู้ว่าต้องไปหาจิตแพทย์แล้ว ? คำตอบในเบื้องต้นคือ ลองสังเกตดูว่าอาการเครียดนั้นเป็นนานหรือหนักกว่าที่คนส่วนใหญ่เป็นหรือไม่ ? และที่สำคัญคือความเครียดที่เกิดขึ้นนั้น ‘หนัก’ จนถึงขั้นกระทบต่อการใช้ชีวิตของเราหรือเปล่า ? เพราะโดยทั่วไปแล้วความเครียดที่เกิดขึ้นนั้นไม่ควรที่จะกระทบกับ 3 ด้านในชีวิต ได้แก่
- การมีสุขภาพกายและใจที่ดี
- การรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง
- ความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง
หาก 3 ด้านในชีวิตของเราได้รับผลกระทบเมื่อไหร่ ก็อาจจะเป็นสัญญาณที่ว่าเราเครียดมากเกินไปจนต้องไปหาจิตแพทย์แล้วล่ะ
.
“สัญญาณเตือนว่าถึงเวลาพบจิตแพทย์”
ที่จริงแล้วการพบจิตแพทย์ ไม่จำเป็นต้องรอสัญญาณเตือน คุณสามารถติดต่อพบจิตแพทย์หรือพูดคุยกับนักจิตวิทยาได้เสมอ แต่หากคุณกำลังอยากเช็กตัวเองอีกสักครั้งว่าเราเครียดมากไปจนต้องมองหาจิตแพทย์แล้วหรือเปล่า ลองสำรวจตัวเองดูว่ากำลังมีอาการดังต่อไปนี้อยู่กี่ข้อ
- รู้สึกทุกข์ใจ ซึมเศร้าตลอดเวลา
- เครียดมาก เครียดตลอดเวลา เครียดจนกระทบกับชีวิต
- รู้สึกกระวนกระวายใจอยู่บ่อย ๆ
- ไม่มีสมาธิในการทำงาน หลงลืมบ่อย
- มีความคิดทำร้ายตนเอง
- คิดหมกมุ่นเรื่องในอดีตบ่อย ๆ คิดหลายเรื่องจนเครียด คิดฟุ้งซ่าน
- เริ่มปล่อยตัว ไม่อยากพบปะผู้คน
- นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไปจนผิดปกติ
- เบื่ออาหารหรือรับประทานอาหารมากเกินไปจนผิดปกติ
- ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยแบบไม่ยั้งคิด
- ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่มากจนผิดปกติ
อาการเหล่านี้อาจจะเป็นเพียงไม่กี่สัญญาณของความเครียดที่เกิดขึ้นมากเกินไป หรือเป็นสัญญาณที่เตือนว่าถึงเวลาจะต้องไปพบจิตแพทย์โดยด่วน อย่างไรก็ตามคุณไม่จำเป็นจะต้องรอให้เกิดอาการครบทั้งหมดนี้ หรืออาจจะมีอาการที่ไม่ตรงกันกับที่เรายกตัวอย่างมาข้างต้นก็ได้ หากรู้สึกไม่สบายใจ กังวล อึดอัด สับสน ขอให้คุณไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะเป็นการดีที่สุด
.
“การพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติธรรมดา ขอเพียงแค่เปิดใจ”
ป่วยกายยังไปพบแพทย์ได้ แล้วทำไมป่วยใจเราถึงไม่ไปหาจิตแพทย์ ? เพราะการพบจิตแพทย์ไม่ได้แปลว่าคุณเป็นโรคจิตหรือผิดปกติ แต่มันคือ “การที่เราเอาปัญหาใจไปให้ผู้เชี่ยวชาญดูแล” เพราะจิตแพทย์สามารถหาวิธีช่วยให้คุณบอกความเจ็บป่วยในใจได้ และจิตแพทย์ยังเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าจะต้องดูแลคุณอย่างไร การพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ถึงแม้ว่าเราอาจจะเห็นภาพจิตแพทย์และสถานพยาบาลตามสื่อที่ดูทะมึน ดูเศร้า ทุกข์ตรม หดหู่ เต็มไปด้วยน้ำตา แต่ขอบอกเลยว่าในความเป็นจริงนั้นต่างกันลิบลับ
.
อย่างเช่นในต่างประเทศ การพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติมากเหมือนเราเป็นไข้หวัดไปหาหมอ สามารถไปพบจิตแพทย์ที่สถานพยาบาลหรือจะนัดพบส่วนตัวก็ได้ บางครอบครัวยังมีจิตแพทย์ประจำครอบครัวทั้งของเด็กและของผู้ใหญ่ มีการแยกจิตแพทย์กันเพื่อให้แต่ละคนได้รับการดูแลอย่างถูกต้องมากที่สุด แม้จะเป็นเด็กก็พบจิตแพทย์ได้ อย่างที่บอกว่าเหมือนกับการที่เราไปตรวจสุขภาพกายกับแพทย์ทั่วไป หัวใจก็ต้องการจิตแพทย์ช่วยตรวจสุขภาพให้เช่นกัน
.
ถึงอย่างนั้น บางคนก็อาจจะกังวลถึงสายตาของคนรอบข้างที่มองมา ถ้ารู้ว่าเรากำลังจะไปพบจิตแพทย์ กลัวว่าเขาจะมองเราเปลี่ยนไป กลัวว่าเราจะกลายเป็นคนแปลกแยก สติไม่ดี เราขอยืนยันกับคุณเลยว่า “การพบจิตแพทย์ก็คือแพทย์ที่ดูแลจิตใจของเรา มันคือเรื่องปกติ” ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่าใครจะมองว่าไม่ดี คุณเองต่างหากที่น่าชื่นชมว่าใส่ใจและดูแลหัวใจตัวเองได้ดีมาก และหากคุณกังวลว่าข้อมูลของคุณจะไม่เป็นความลับ ข้อมูลจากสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยได้กล่าวไว้ว่า ‘ข้อมูลของคนไข้เป็นความลับที่เปิดเผยไม่ได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของประวัติ และข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ได้เชื่อมต่อกับที่ใด’ ดังนั้นจึงสบายใจได้ว่าการพบจิตแพทย์ของคุณจะเป็นความลับอย่างแน่นอน
.
“เครียดมาก อยากพบจิตแพทย์ แต่ไม่รู้จะไปที่ไหนดี”
การพบจิตแพทย์ไม่ได้มีหลักการตายตัวว่าคุณจะต้องเลือกที่ไหน แต่โดยทั่วไปแล้วมีคำแนะนำว่าควรเลือกพบจิตแพทย์ในโรงพยาบาลหรือคลินิกจิตเวชที่คุณสะดวกเดินทางไปพบได้มากกว่า เพราะกระบวนการที่เกิดขึ้นในการรักษากับจิตแพทย์จะต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นคำนึงถึงการเดินทางที่เราจะสามารถไปพบจิตแพทย์ได้อย่างสะดวกตามนัดหมายจะดีที่สุด
.
สำหรับการพบจิตแพทย์นั้น จะตรวจรักษาผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป หากน้อยกว่านั้นจะต้องเป็นการพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ซึ่งถ้าต้องการนัดจิตแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน แนะนำให้โทรศัพท์สอบถามกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเพื่อของทราบคิวตรวจของจิตแพทย์และค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียม แต่หากเป็นโรงพยาบาลรัฐ ก็จะสามารถพบจิตแพทย์ในเวลาราชการได้ และสามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคมได้ด้วย สามารถตรวจสอบรายชื่อโรงพยาบาลและคลินิกจิตแพทย์ทั่วประเทศได้ที่นี่เลย shorturl.at/mstE9
.
“ไม่ว่างไป ไม่อยากเดินทาง ไม่อยากรอคิวนาน แต่อยากเจอจิตแพทย์”
สำหรับคนที่ไม่สะดวกเดินทาง ไม่อยากไปหาจิตแพทย์ที่โรงพยาบาล ข่าวดีก็คือสมัยนี้เรามีช่องทางในการรับคำปรึกษาเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้นหากคุณรู้สึกเครียด ไม่ว่าจะเป็นความเครียดเล็กน้อยเครียดใหญ่โต เครียดเบาเครียดหนักขนาดไหน ก็มีช่องทางรองรับแบบด่วน ๆ ให้คุณได้โทรไประบายความเครียดที่เกิดขึ้นได้เสมอ เช่น บริการของอูก้าที่เราออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสพบนักจิตวิทยาและจิตแพทย์แบบไม่ต้องเดินทางไกล เพราะอูก้าของเราเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีทั้งนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ไว้คอยดูแลใจทุกคน โดยเรามีจำนวนผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 90 ท่าน ที่มีวุฒิการศึกษารับรอง
.
คุณสามารถพูดคุยปรึกษาได้ผ่านรูปแบบของวิดีโอคอล สะดวก ไม่ต้องเดินทาง และมีความเป็นส่วนตัวสูง อีกทั้งเรายังสามารถเลือกจิตแพทย์และเลือกช่วงเวลาที่เราสะดวกได้ ไม่ต้องรอคิวเหมือนไปพบที่โรงพยาบาลหรือคลินิกจิตเวชทั่วไป ทีมของเราพร้อมให้คำปรึกษาไม่ว่าจะเป็นความเครียดเล็กหรือใหญ่ เครียดเรื่องไหนก็ปรึกษาได้เสมอ เพราะอูก้าคำนึงเสมอว่าปัญหาใจเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นถ้าเครียดเกินไปจนรู้สึกว่าไม่ไหว ให้อูก้าช่วยดูแลคุณได้
อย่ารอให้เครียดมากจนสายไป และอย่ารอให้ร่างกายและจิตใจของตัวเองรับไม่ไหว อย่าลืมว่าคุณมีทางเลือกในการระบายความเครียดนั้นออกมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร อูก้า นักจิตวิทยา และจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยินดีที่จะรับฟังคุณอย่างแน่นอน ขอเพียงให้เราได้ช่วยแบ่งเบาความเครียดของคุณลงบ้าง คุณไม่ได้เดินอยู่คนเดียวบนเส้นทางที่ยากลำบากนี้อย่างแน่นอน ให้พวกเราได้ร่วมเดินทางและแก้ปัญหาไปกับคุณนะ 🙂
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://workpointtoday.com/psychiatrist/
https://www.manarom.com/blog/stress_management.html
https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=29800
https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/05142014-1901
https://www.manarom.com/blog/see_psychiatrist.html
ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล ฯ นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/blogaboutstress
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca
OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth
Recent Comments