ถ้าใครเคยดูซีรี่ย์เรื่อง It’s Okay, that’s Love (2014) คุณอาจจะได้พบความ “ผิดปกติ” ที่อยู่ท่ามกลางสิ่งปกติธรรมดาที่สุด ถือเป็นซีรีส์ที่ถ่ายทอดโรคทางจิตเภทได้อย่างลึกซึ้งและเข้าถึงจิตใจคนทั่วไป เล่าถึงจางแจยอลที่ป่วยเป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) หรือที่คนชอบเรียกสั้น ๆ ว่า “โรคจิต” ซึ่งหลายคนยังเข้าใจผิดว่า “โรคจิต” คือการทำตัวแปลกแยก บ้า ๆ บอ ๆ บางทีก็ใช้เรียกคนที่ทำพฤติกรรมอนาจาร แต่อาจไม่เคยรู้ที่มาที่ไปของโรคนี้จริง ๆ มาก่อนเลย

ทั้งที่แจยอลมีแม่ที่รักและเอาใจใส่ ประสบความเร็จอย่างมากให้ฐานะนักเขียนชื่อดัง เขาดูมีความสุขและยิ้มแย้มเสมอ แต่กลับมีอดีตที่เจ็บปวดจากความรุนแรงในครอบครัว แจยอลเลือกที่จะใส่ร้ายพี่ชายเพื่อปกป้องแม่ สุดท้ายเขากับแม่ได้ทิ้งอดีตเพื่อเดินหน้าต่อไป ชีวิตในวัยผู้ใหญ่ของเขาราบรื่นมากจนเหมือนว่าภาพเก่า ๆ ไม่อยู่ในหัวอีกแล้ว โดยเผลอลืมไปว่าตัวเองก็มีมุมที่อ่อนแอ ซึ่งเขาได้มองข้ามบาดแผลพวกนั้นไป

จนวันหนึ่งเขาได้พบกับคังวู แฟนคลับของเขาที่มีชีวิตลำบากเหมือนกับเขาในวัยเด็ก เขาจึงรู้สึกเชื่อมโยงกับเด็กคนนี้และพยายามช่วยเหลือทุกอย่าง จนเริ่มมีอันตรายและกระทบกับการใช้ชีวิต โดยไม่รู้ว่าคังวูคือภาพหลอนที่แจยอลมองเห็นเพราะอาการของโรค ในซีรีส์ได้ผูกชีวิตของแจยอลกับตัวตนคังวูเพื่อให้เราเข้าใจโรคนี้ได้ง่ายขึ้น แต่จริง ๆ แล้วโรคจิตเภทนั้นมีความซับซ้อนพอสมควร ซึ่งเราแบ่งอาการออกได้เป็น 5 ประเภทกว้าง ๆ คือ

  1. อาการหลงเชื่อผิด (Delusions)

เป็นความเชื่อที่ผิดไปจากความเป็นจริง เช่น คิดว่าคนอื่นจะมาทำร้าย ระแวงว่าตนจะถูกวางยาพิษ คิดว่าตนส่งกระแสจิตได้

  1. ความคิดผิดปกติ (Disorganized thinking)

ทำให้คิดแบบเป็นเหตุเป็นผลอย่างต่อเนื่องไม่ได้ จึงมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร คุยกับคนอื่นไม่เข้าใจ ปะติดปะต่อไม่ได้ หรือเปลี่ยนเรื่องโดยไม่มีเหตุผล

  1. ประสาทหลอน (Hallucinations)

คิดหรือเห็นว่ามีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ความจริงไม่มีสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน มีเพื่อนในจินตนาการ

  1. มีพฤติกรรมผิดปกติ (Extremely disorganized or abnormal motor behavior)

มาจากความคิดและความเชื่อที่บิดเบือนจนเกิดพฤติกรรมอันตราย เช่น ทำร้ายคนอื่น ทำท่าทางแปลก ๆ มีอารมณ์ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ควบคุมไม่ได้ อาจหัวเราะหรือร้องไห้สลับกัน

  1. อาการด้านลบ (Negative symptoms)

คือการขาดในสิ่งที่ควรจะมีในคนทั่วๆ ไป ได้แก่ เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น ไม่ทุกข์ร้อน ไม่สนใจตัวเอง อาจอยู่เฉยๆ ได้ทั้งวัน ไม่อยากปฏิสัมพันธ์กับใคร

จุดเริ่มต้นของความเศร้าในวัยผู้ใหญ่ คือภาพสะท้อนจากชีวิตวัยเด็ก ในตอนแรกแจยอลนั้นรับไม่ได้ที่รู้ว่าคังวูเป็นแค่ภาพหลอนที่เขาสร้างขึ้นมา เขาปฏิเสธการรักษาเพราะเชื่อว่าตนเองไม่ได้ป่วยและเขาเติบโตมาด้วยความรักของแม่ แต่เขากลับลืมไปว่าการได้รับความรักจากใครคนหนึ่งอาจกลายเป็นบาดแผลในใจได้เช่นกัน ซึ่งก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่าสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคคืออะไร ? แล้วการเลี้ยงดูส่งผลหรือไม่ ?

ในที่นี้จะขอพูดถึงความผิดปกติที่ชัดเจนทางด้านร่างกายว่าสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้คน ๆ หนึ่งป่วยเป็นโรคจิตเภทมาจาก

  • กรรมพันธุ์ : อาจได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง มีเครือญาติป่วยด้วยโรคนี้
  • สารเคมีในสมอง : โดพามีน (Dopamine) มีการทำงานมากเกินไป
  • ความผิดปกติในสมอง : ช่องในสมองโตกว่าคนทั่วไป หรือมีเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนหน้าน้อย การทำงานของสมองผิดปกติ เป็นต้น

ปัจจัยด้านครอบครัวพบว่าอาจจะมีผลในแง่การกำเริบของโรค โดยเฉพาะการใช้อารมณ์สื่อสารกัน มีการต่อว่ารุนแรง หรือพยายามควบคุมผู้ป่วยมากเกินไป จากการศึกษามากมายเชื่อว่าโรคจิตเภทมีสาเหตุหลายอย่างประกอบกัน ทั้งร่างกายและจิตใจสำคัญทั้งสิ้น ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เป็นโรคจิตเภทจะไม่ทราบว่าตัวเองผิดปกติและยากที่จะยอมรับ เพราะเขาเชื่อในสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน ที่มันเกิดกับเขาว่าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ โดยไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริงและคนอื่นไม่ได้รับรู้สิ่งนั้นด้วย หากเริ่มรู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผลก็มักจะเลือกบิดเบือนและหลอกตัวเอง ปกปิดอาการ อาจถึงขั้นสูญเสียการควบคุมตัวเองเพราะเชื่อในความไม่จริงนั้นทำให้ยากจะรักษา บางรายเยียวยาตัวเองผิดวิธี เช่น พึ่งพาแอลกอฮอล์/ยาเสพติด แยกตัวจากสังคม ทำร้ายคนอื่น

ซึ่งโรคจิตเภทในแต่ละรายก็มีรายละเอียดแตกต่างกันไป แม้จะเรียกว่าโรคจิตเภทเหมือนกันก็ตาม คำว่า “โรคจิต” จึงเป็นคำเหมารวมง่าย ๆ ที่คนทั่วไปใช้เรียกผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งเราอยากให้เข้าใจคนกลุ่มนี้มากขึ้นและไม่ตีตราคนกลุ่มนี้ท่ีต้องการกำลังใจอย่างมากในการดูแลฟื้นฟูจิตใจ ที่สำคัญคือคนรอบข้างต้องเข้าใจและมีความรู้เกี่ยวกับโรคจิตเภทพอสมควร เพื่อให้ผู้ป่วยได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ต้องบอกว่าการรักษาโรคจิตเภทนั้นค่อนข้างยากและใช้เวลานาน หลัก ๆ ต้องใช้ยารักษา ทำจิตบำบัด อยู่ภายใต้การดูแลแนะนำจากจิตแพทย์ หากรุนแรงควรเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เมื่ออาการทุเลาก็สามารถใช้ชีวิตปกติได้ เพียงแต่ควรมีครอบครัวดูแลใกล้ชิด เผื่อมีอาการกำเริบหรือลืมทานยา จากการศึกษาลักษณะของโรคในระยะยาวพบว่าประมาณ 20-30 % ใช้ชีวิตประจำวันได้แทบจะปกติ อีก 20-30 % ยังมีอาการอยู่บ้างแต่ไม่รุนแรง ในขณะที่ 40-60 % นั้นแสดงอาการอยู่ตลอด ดังนั้นการเข้ารับการรักษาสำคัญมาก

เมื่อได้รับการรักษาแจยอลจึงปลดล็อกในใจได้ สิ่งสำคัญที่เขาเพิ่งเข้าใจในวัยสามสิบตอนปลายคือ เขาลืมที่จะมอบความรักให้ตัวเอง มีประโยคหนึ่งที่ได้แม่นจากเรื่องนี้คือ “ได้รับความรัก ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เจ็บปวด”   เราไม่มีทางรู้เลยว่าบาดแผลของแต่ละคนอยู่ตรงไหน ดังนั้นอย่าปล่อยให้ความเครียดหรืออึดอัดคับข้องใจอยู่กับเรานาน

มาทำความเข้าใจเรื่องของสุขภาพจิตกันใหม่และเปิดโอกาสให้พวกเขาได้รักษาอย่างถูกวิธีกันเถอะ หากใครมีความเครียด รู้สึกไม่สบายใจ อย่าลืมนึกถึงอูก้าที่พร้อมจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คุณ อูก้ามีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญในการปรึกษาปัญหาใจที่พร้อมรับฟังทุกเรื่องราว ให้เรารับฟังคุณนะ 🙂


ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/schizophreniablog
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

#OOCAitsOK#WeWillListen#เรื่องของใจให้เรารับฟัง#แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา#mentalhealth#สุขภาพจิต#เครียด#ซึมเศร้า#พบจิตแพทย์

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.manarom.com/blog/schizophrenia.html

https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/schizophrenia/symptoms-causes/syc-20354443

https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-0855