“วันนี้ในทวิตพูดเรื่องอะไรกัน สงสัยต้องตามหน่อยแล้ว”

“แต่งรูปสวย ๆ นะ ยอดไลก์จะได้ดี”

“ทำไมยอดฟอลน้อยลงอ่ะ ต้องรีบทำคอนเทนต์ใหม่แล้ว”

เพราะทุกวันนี้เราใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ดิจิทัลทั้งหลายมากกว่าการปฏิสัมพันธ์กับคนด้วยกันเอง แล้วชีวิตส่วนตัวเกินกว่าครึ่งก็ถูกแชร์ออกไปในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะคน Gen Y และ Gen Z ไปจนถึงเด็ก Gen Alpha ทำให้เราเคยชินกับการโพสต์ คอมเมนต์ ไลก์ แชร์ โดยที่ไม่รู้เลยว่าเราใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยมากถึง 10.22 ชั่วโมง/วัน แล้วกิจกรรมยามว่างยอดฮิตก็หนีไม่พ้นเข้าโซเชียลมีเดีย แชท ดูคลิป ลงรูป

การเปิดรับสื่อเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้แล้วสำหรับวัยรุ่น ทั้งที่เราก็รู้ดีว่าอะไรที่มากเกินไป อาจกลายเป็นนิสัย “เสพติด” ไม่ใช่แค่เราไม่สามารถห่างจากมือถือหรืออินเทอร์เน็ตได้ แต่เราอาจกำลังเอาใจไปใส่ในโลกดิจิทัลมากจนแยกกับชีวิตจริงไม่ออก หากเราไม่ได้ความมั่นใจหรือมีตัวตนที่แข็งแกร่งมากพอ เราอาจสูญเสียความมั่นใจให้กับโลกออนไลน์ อย่างเช่นคอมเมนต์ กระแสข่าว หรือคำพูดที่พุ่งเข้ามากระทบใจเรา อาจทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลง (Self-esteem) รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่ง หรือแม้แต่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด

ค่านิยมที่เปลี่ยนไป มาพร้อมกับความมั่นใจที่ลดลง

ดูเหมือนว่าโซเชียลมีเดียกำลังสร้าง paradox effect ที่ขัดแย้งกัน นั่นคือทำให้เกิดภาพลวงตาว่าทุกอย่างช่างดูดี ดูสวยงาม แต่กลับทำให้เรารู้สึกแย่กับสิ่งที่ตัวเองเป็น Dr. Jennifer Rhodes นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์และผู้ก่อตั้ง Rapport Relationships อธิบายว่า “มีหลายคนมาเข้ารับการปรึกษาที่หมกมุ่นอยู่กับการอัพเดทบนโซเชียลมีเดียตลอดเวลา แต่กลับขาดทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในชีวิตจริง นำไปสู่ภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้า”

Dr. Suzana Flores นักเขียนจาก Facehooked บอกว่า “เมื่อมีคนโต้ตอบผ่านโซเชียลมีเดียเป็นเวลานานพวกเขารู้สึกว่าจำเป็นต้องเช็กการอัปเดตต่อไปอย่างหยุดไม่อยู่ พฤติกรรมนี้เรียกว่า“ Slot Machine Effect” ซึ่งเมื่อเราได้รับการกดไลก์หรือแสดงความคิดเห็นในโพสต์ หรือเมื่อเราพบโพสต์ใหม่ที่น่าสนใจจากคนอื่น มันกลายเป็น “การเสริมแรงแบบไม่ต่อเนื่อง” เหมือนกับเราได้รับ “รับรางวัล” จากการเป็นที่สนใจและถึงแม้จะไม่ได้รางวัล แต่เราก็รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ของโลกดิจิทัล

60% ของผู้ใช้โซเชียลมีเดียรายงานว่าส่งผลกระทบต่อความนับถือตนเองในทางลบ

50% รายงานว่าโซเชียลมีเดียส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ของเขา

แม้งานวิจัยมากมายจะยืนยันมาโซเชียลมีเดียส่งผลทางลบมากมายจริง ๆ หากใช้อย่างไม่ระวัง แต่ทำไมคนจำนวนมากถึงจมอยู่กับมันได้ไม่มีที่สิ้นสุด

หรือโลกโซเชียลคือพื้นที่ระบายความเจ็บปวด

ในทางตรงกันข้ามโซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางสำคัญท่ีวัยรุ่นไทยใช้พูดถึงโรคซึมเศร้า ความทุกข์ทางใจ ระบายความเครียด และอารมณ์ทางลบทั้งหลาย จากสถิติตั้งแต่กรกฎาคม พ.ศ.2561 – มิถุนายน พ.ศ.2562 พบว่ามีการพูดถึง ‘ปัญหาซึมเศร้า’ ในทวิตเตอร์มากกว่า 1.4 แสนข้อความ ซึ่งเพิ่มสูงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ข่าวนักเรียนและนิสิตนักศึกษาฆ่าตัวตายช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ.2562

เห็นได้ชัดว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่กำลังต่อสู้กับปัญหาในใจ แต่ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้ระบายจริง ๆ โซเชียลมีเดียจึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์มากที่สุด อย่างน้อยก็เหมือนกับความเศร้าในใจมีใครสักคนที่รับฟังหรือรู้สึกเหมือน ๆ กันกับเรา

ปัญหาที่วัยรุ่นมักจะพูดถึงในทวิตเตอร์สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ความสัมพันธ์ในครอบครัว หน้าที่การงาน/ความรับผิดชอบ และปัญหาการกลั่นแกล้ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่จัดการได้ยากและ ‘#โรคซึมเศร้า’ ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ต้องการการรับฟัง

แม้เทคโนโลยีจะว่องไว แต่ก็ยังรู้สึกไกลห่าง

แค่มีมือถือเราก็ไม่น่าจะรู้สึกเหงา เพราะเราสามารติดต่อกับคนได้ทั้งโลก แต่จริง ๆ แล้วเรากลับว่างเปล่ายิ่งกว่าเดิม สุดท้ายเราต่างต้องการความอบอุ่นในชีวิตจริง พอหันไปรอบ ๆ ตัวหลังจากโฟกัสที่หน้าจอทั้งวัน เราอาจรู้สึกถึงความเหงาที่มากกว่าเดิม “ความเหงาทำให้รู้สึกซึมเศร้าและภาวะซึมเศร้าก็ทำให้คนเหงาเช่นกัน”

เราไม่สามารถกล่าวโทษได้ว่าทุกอย่างเป็นผลจากการที่โลกนี้มีส่ิงที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ตหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างอุปกรณ์ดิจิทัล เมื่อเราสร้างมันขึ้นมาแล้วเราก็ต้องรู้วิธีในการอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างปลอดภัยด้วย หากใครที่กำลังเป็นทุกข์เพราะพึ่งพาโลกเสมือนจริงมากเกินไป ลองกลับมาอยู่กับตัวเอง มีช่วงเวลา ‘detox’ บ้างและใช้เวลากับคนที่มีค่าให้มากขึ้น กลับมาโฟกัสกับสิ่งที่เราควรทำและสิ่งที่เรากำลังรู้สึก เพื่อตามหาคุณค่าที่แท้จริงให้ชีวิตจากสิ่งที่มีในโลกแห่งความเป็นจริง

เพราะการติดโซเชียลส่งผลต่อสุขภาพใจ ภาวะหดหู่ ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวนและการนับถือตนเอง หากเราไม่รู้ว่ามันส่งผลต่อเรามากน้อยแค่ไหน จิตแพทย์และนักจิตวิทยาของเราพร้อมรับฟังทุกเรื่องราว อูก้ายินดีช่วยเคลียร์ปัญหาใจและร่วมเดินทางไปกับคุณ

#OOCAknowledge


ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/snsimpactblog
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca.

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา
#mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

อ้างอิงจาก

https://journals.sagepub.com/doi/full/10.1177/2056305120912488

https://www.huffpost.com/entry/social-medias-impact-on-self-esteem_b_58ade038e4b0d818c4f0a4e4

https://theconversation.com/6-ways-to-protect-your-mental-health-from-social-medias-dangers-117651

https://resourcecenter.thaihealth.or.th/files/90/จับตา 10 พฤติกรรมสุขภาพคนไทย ปี 63.pdf