เที่ยวทิพย์ แฟนทิพย์ กักตัวทิพย์ อิ่มทิพย์ กลายเป็นคำฮิตติดปากและครองกระแสจากการที่ ‘พระมหาเทวีเจ้า’ นำคำว่า “ทิพย์” มาใช้จนโด่งดัง รวมถึงหลายคนในโซเชียลมีเดียที่ใช้คำนี้ในหลาย ๆ โอกาส อย่างเช่นการมโนสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง หากใช้คำว่าทิพย์ต่อท้ายก็เป็นอันรู้กันว่าสิ่งที่พูดหรือพิมพ์ไปนั้นเป็นแค่เรื่องสมมติหรือหยอกล้อกันเท่านั้น 💫

แต่นอกจากจะใช้พูดคุยในเชิงสนุกสนาน คำว่าทิพย์ยังทำให้เราเห็นภาพหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ได้ชัดเจนขึ้นด้วย อย่างกระแส “จนทิพย์” ที่หมายถึงไม่ได้มีฐานะยากลำบากจริง ๆ ซึ่งหากมองให้ลึกแล้วมีเรื่องราว “จนทิพย์ หรือ รวยทิพย์” (ที่ไม่ได้ร่ำรวยจริง) เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย ซึ่งก็ไม่พ้นสายตาของผู้คนในสังคม เป็นเรื่องราวที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันได้

หรือจริง ๆ แล้ว “มนุษย์เรามักเข้าใจผิดเกี่ยวกับฐานะหรือสถานะทางการเงินของตัวเอง ?” 🤔

ความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่เราถกเถียงกันมานาน โดยมองว่าความแตกต่างของชนชั้นหรือฐานะนั้นช่างเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมและเลวร้ายในโลกใบนี้ มีเพียงคนบางกลุ่มหรือบางสังคมเท่านั้นที่เกิดมาโชคดีกว่าคนอื่น หรือบางครั้งเราก็รู้สึกสงสารคนที่ลำบาก อยากให้เขามีชีวิตดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ในสังคมไทยเราจะเห็นภาพคุ้นตาจากการแสดงน้ำใจต่อกัน การบริจาคช่วยเหลือ รวมถึงการนำเสนอภาพตามสื่อต่าง ๆ จนกลายเป็นความร่วมรู้สึก (sympathy) แทน

Ameriprise Financial ทำการสำรวจชาวอเมริกันที่ร่ำรวยประมาณ 3,000 คนอายุระหว่าง 30 ถึง 69 ปี ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามมีทรัพย์สินที่ลงทุนอย่างน้อย 100,000 ดอลลาร์และมากกว่า 700 คนเป็นเศรษฐี เมื่อถามว่าพวกเขามองสถานะทางการเงินของตัวเองอย่างไร ? มีเพียง 13% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ให้คำจำกัดความว่า “ตัวเองร่ำรวย” กว่า 60% บอกว่าตัวเองเป็นชนชั้นกลางระดับสูงในขณะที่ประมาณ 25% คิดว่าตัวเองเป็นชนชั้นกลาง มากกว่า 3% ระบุว่าคิดว่าต่ำกว่านั้น

ในทางตรงกันข้ามการสำรวจโดย INSIDER และ Morning Consult พบว่าชาวอเมริกันบางคนที่มีรายได้น้อยกว่า 50,000 ดอลลาร์รู้สึกว่าตัวเองร่ำรวย ในขณะที่คนอื่น ๆ ที่มีรายได้มากกว่า 100,000 ดอลลาร์รู้สึกยากจน จากการสำรวจพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันที่มีรายได้ 100,000 ดอลลาร์ขึ้นไประบุว่าเป็นชนชั้นกลาง

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ ว่าในแต่ละประเทศ สังคม วัฒนธรรม หรือความเชื่อ เส้นแบ่งระหว่างความรวยและความจนนั้นแตกต่างกัน ไม่มีใครรู้ว่าบรรทัดฐานไหนถูก แต่มุมมองที่เรามีต่อฐานะของตัวเองย่อมสัมพันธ์กับแรงขับเคลื่อน (Drive) และแรงจูงใจ (Self-motivation) ในการใช้ชีวิตของเรา การวางเป้าหมายในอนาคตและหากเราไม่ได้มองตัวเองบนพื้นฐานความเป็นจริง เราอาจบิดเบือนการรับรู้ นำไปสู่ความเข้าใจผิดและปัญหาทางการเงินได้ 🤑

ที่น่าสังเกตคือต่อให้เรามีรายได้น้อย แต่เราก็ยังแสดงนิสัย “รวยทิพย์” ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือต่อให้เรามีเงินพอใช้ไม่ขัดสน เราก็ยังทำเหมือนว่าเราลำบาก สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากอะไร ?

เราอาจเคยมีเพื่อนที่บ่นว่า “เดือนนี้ไม่มีเงิน จนมากกก” ทั้งที่มีเงินเก็บเยอะมาก

หรือคนรู้จักที่ไลฟ์สไตล์เข้าขั้นไฮโซ แต่กลับชอบหยิบยืมเงินคนอื่น

แม้จะลำบาก แต่อยาก ‘รวยทิพย์’ หรือ ไม่ได้ขัดสน แต่ขอ ‘จนทิพย์’ ✨

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เรามองเห็นก่อนคือลักษณะภายนอก นอกจากรูปร่างหน้าตาก็คือข้าวของที่ใช้หรือไลฟ์สไตล์บนโลกโซเชียลมีเดีย ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกับคุณลักษณะเชิงบวก เช่น สติปัญญา ความขยัน และความสมบูรณ์แบบ ซึ่งดึงดูดให้เราสนใจและมีทัศนคติที่ดีต่อคน ๆ นั้น อีกมุมหนึ่งบางคนอาจรู้สึกดีที่ได้รับความเห็นอกเห็นใจ ได้พึ่งพาคนอื่นบ้าง ลึก ๆ แล้วมนุษย์ต่างแสวงหาการยอมรับและการเป็นที่รักเพื่อเติมเต็ม ดังนั้นทัศนคติและสิ่งที่เราทำจึงมักจะสอดคล้องไปในทิศทางที่เราคาดหวัง

“สัมผัสออร่าความรวย” หรือ “ได้กลิ่นความรวย” คำพูดเล่น ๆ แต่เสริมแรงได้จริง เพราะความต้องการ “สมบูรณ์แบบ” นั้นรุนแรงจนกระตุ้นให้คนเราทำพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะในยุคที่ตัวตนของเราถูกมองเห็นได้ง่ายผ่านโลกออนไลน์ แต่ไม่มีใครใช้ชีวิตอยู่บนความไม่จริงได้นาน มีงานวิจัยจาก University of Toronto ที่ยืนยันว่าแค่การสังเกตใบหน้า เราก็รู้สึกถึงสถานะทางการเงินของอีกฝ่ายแล้ว การมองตัวเองอย่างที่เป็นจึงสำคัญที่สุด

การบิดเบือนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (Socioeconomic status) เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิตอย่างแน่นอน เพราะความเครียดก็เป็นผลมาจากความไม่สมดุลสิ่งที่มีอยู่กับความต้องการ ไม่ว่าจะรวยหรือจน มนุษย์ก็แสวงหาการอยู่รอดและโอกาสด้วยกันทั้งนั้น การที่ชีวิตถูกผูกกับความไม่แน่นอน ความขัดแย้งและทรัพยากรที่ขาดแคลนสามารถสร้างความเครียดเรื้อรังนำไปสู่สุขภาพจิตที่แย่ลง

คำพูดที่โด่งดังของ Jim Rohn บอกว่า “ถ้าคุณเอาเงินทั้งหมดในโลกมาแบ่งให้ทุกคนเท่า ๆ กัน สุดท้ายเงินมันก็จะกลับมาอยู่ในกระเป๋าใบเดิมในไม่ช้า” ซึ่งมีคนมากมายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บางคนบอกว่าโลกนี้ลำเอียงตั้งแต่แรกและส่งต่อวัฒนธรรมที่บิดเบี้ยวมาเรื่อย ๆ ในขณะที่อีกฝ่ายก็มองว่าคนที่บริหารเงินเป็นสุดท้ายก็จะหาทางนำเงินกลับมาเป็นของเขาได้ในที่สุด

สิ่งสำคัญคือการที่เรามองตัวเองและเข้าใจเส้นทางชีวิตเราโดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร เพราะความสุขไม่สามารถวัดได้ด้วยมุมมองของคนอื่น ที่เรากำลังพยายามก็เพื่อเป้าหมายของเราเอง ไม่ใช่เป้าหมายของใคร 😃

ใครที่กำลังเป็นทุกข์กับความสุขแบบทิพย์ ๆ ลองมาเคลียร์ใจไปกับอูก้า เพื่อนที่พร้อมรับฟังคุณเสมอ จิตแพทย์และนักจิตวิทยาของเรายินดีเป็นที่ปรึกษาทุกปัญหาใจ แล้วมาหาทางออกไปกับเรานะ 💙💚

#OOCAknowledge


ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/blognrnp
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

อ้างอิงจาก

https://www.businessinsider.com/most-millionaires-dont-think-they-are-rich-2019-8

https://reece-robertson.medium.com/people-struggle-with-money-because-they-misunderstand-these-2-things-1c958839d1ee

https://www.inc.com/wanda-thibodeaux/the-surprising-way-people-can-tell-if-youre-rich-according-to-science.html

https://www.theguardian.com/us-news/2018/jan/29/rich-people-wealth-america