LGBTQ+ แตกต่างแต่ไม่ได้ผิดปกติ ยอมรับตัวตนเริ่มต้นที่ครอบครัว

หลายคนคุ้นหูกับคำว่า LGBTQ+ หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งการจำแนกสถิติระหว่างประเทศของโลกและปัญหาสุขภาพฉบับที่ 10 (ICD10) ขององค์การอนามัยโลก ( WHO) ได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยนำเอาหัวข้อ ” การมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกําเนิด” ราชูปถัมภ์ออกจากหมวดความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม และย้าย LGBTQ+ ไปอยู่ในหมวด ” กรณีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทางเพศ” ด้วยสาเหตุที่ว่าการมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดนั้น ไม่ถือว่าเป็นอาการป่วยทางจิต ดังนั้นจึงเริ่มมีคนหันมาสนใจว่าแท้จริงแล้ว LGBTQ+ คืออะไร ?

ความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ คือ

🏳️‍🌈 กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือเพศทางเลือก ซึ่ง LGBTQ+ ย่อมาจาก

L – Lesbian กลุ่มหญิงรักหญิง

G – Gay กลุ่มชายรักชาย

B – Bisexual กลุ่มที่รักได้ทั้งชายและหญิง

T – Transgender กลุ่มคนข้ามเพศจากชายเป็นหญิง จากหญิงเป็นชาย

Q – Queer กลุ่มคนที่ไม่จำกัดในเรื่องเพศและความรัก

เพศทางเลือกเป็นความผิดปกติหรือไม่ ?

ในยุคก่อน คนมักให้ความสำคัญกับเพศที่ตรงกำเนิดและมักมีความเชื่อว่าคนที่มีลักษณะไม่ตรงกับเพศกําเนิดมีความผิดปกติ ซึ่งความคิดเหล่านี้มักถูกกำหนดด้วยความเชื่อพื้นฐานที่มาจากบรรทัดฐานทางสังคมหรือวัฒนธรรม จนทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และเกิดการเหลื่อมล้ำในสิทธิเสรีภาพของบุคคล

แต่ในยุคปัจจุบัน อิทธิพลของชาติตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อสังคมไทยมากขึ้น ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเราจึงสามารถพบเห็นกลุ่มคนที่เป็นเพศทางเลือกได้ทั่วไป ทั้งจากสื่อมัลติมีเดีย สื่อโซเชียล ทางโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ เป็นต้น

ซึ่งในทางการแพทย์บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้เป็นโรค หรือมีความผิดปกติทางจิตใจ เพียงแต่เกิดจากการผสมผสานที่มาจากภายในและภายนอกที่หลากหลาย เช่น ฮอร์โมน สารเคมีในสมอง การเลี้ยงดู วัฒนธรรมและพื้นฐานทางสังคมที่หล่อหลอมตัวบุคคล จึงไม่ใช่เกิดจากความผิดปกติแต่อย่างใด 🙂

🏡 สำหรับครอบครัวที่มีบุตรหลานอยู่ในกลุ่ม LGBTQ+

นอกจากบุคคลในกลุ่ม LGBTQ+ จะต้องเผชิญกับบุคคลทั่วไปแล้ว ปัญหาเรื่องการยอมรับจากคนในครอบครัวก็เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากคนในกลุ่มนี้มักถูกคาดหวังจากพ่อแม่หรือคนในครอบครัว  ซึ่งส่วนใหญ่มักจะสวนทางกับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ดังนั้น ครอบครัว และคนรอบข้างจึงควรเรียนรู้และทำความเข้าใจเมื่อพบว่ามีสมาชิกในครอบครัวอยู่ในกลุ่ม LGBTQ+

💙 เน้นการสื่อสารเชิงบวก หมั่นพูดคุย เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้อธิบายและรับฟังความคิดเห็นด้วยความเข้าใจ

💙 ไม่เปรียบเทียบ ไม่ควรเปรียบเทียบลูกหลานกับใคร เพราะจะเป็นการสร้างความกดดันและทำให้ไม่อยากเปิดใจ

💙 ให้โอกาสได้เรียนรู้ ครอบครัวควรคอยดูแลอยู่ห่างๆและให้ความช่วยเหลือเมื่อลูกหลานต้องการ

💙 หมั่นคอยสังเกตพฤติกรรม ยิ่งหากเป็นช่วงวัยรุ่นแล้ว มักเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆทั้งทางด้านสรีระร่างกาย ความคิด ดังนั้นคนในครอบครัวจึงต้องคอยสังเกตพฤติกรรมที่อาจเป็นสัญญาณอันตราย เช่น เริ่มมีการใช้ความรุนแรงมากขึ้น หรือเริ่มแยกตัว และมีอาการซึมเศร้า เป็นต้น

ท้ายที่สุดการยอมรับกลุ่มคน LGBTQ+ ไม่ได้มาจากการตัดสินใจของสังคม แต่มาจากการยอมรับตัวตนของตนเองและได้รับความเข้าใจจากคนในครอบครัวและคนรอบข้าง เหล่านี้จึงจะสามารถทำให้บุคคลกลุ่ม LGBTQ+ ได้แสดงออกอย่างอิสระและใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข 🥰

หากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร อูก้าพร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนได้พูดคุยโดยไม่ถูกตัดสิน ทุกเรื่องราวทุกปัญหา สามารถปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาได้เสมอ ✨

บทความโดยดร. จุฑารัตน์ จีนจรรยา นักจิตวิทยาคลินิกจากแอปพลิเคชันอูก้า
ผู้ให้คำปรึกษาและบำบัดช่วยเหลือด้านจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น ครอบครัว เด็กพิเศษ บำบัดคู่สมรส

#OOCAprovider

________________________________⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀
ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/TdnH
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ > https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > http://bit.ly/msgfbooca⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

Read More

‘Binge Eating’ กินไม่หยุด น้ำหนักก็ฉุดไม่อยู่ นี่เราแค่หิวหรือกำลังป่วย ?

ทำไมหิวอีกแล้ว ดึก ๆ ต้องลุกมาเปิดตู้เย็นตลอด 😂

วันนี้ยังไม่ได้กินชานมไข่มุกรู้สึกหงุดหงิดเหมือนต้องการน้ำตาล

ทำไมน้ำหนักเพิ่มขึ้นเยอะกว่าปกติ นี่ไม่ใช่แค่โลฯ สองโลฯ แล้ว

มีแต่คนทักว่าอ้วนขึ้นจนนอยด์ แต่กลับหยุดกินไม่ได้เลย 😥

นี่เราหิว เราเครียด หรือเรากำลังป่วยเป็นโรคกันแน่ ?

เราเคยพูดถึงโรคความผิดปกติด้านการกิน หรือ Eating Disorders (ED) กันไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลักษณะคือหมกมุ่นและกังวลกับน้ำหนักตัว จนส่งผลต่อพฤติกรรมการกินและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก อาจรู้สึกอยากผอม (Drive for thinness) หรือกลัวอ้วน (Fear of Fat) คือการที่เราเชื่อมโยงความอ้วนกับความรู้สึกเชิงลบ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

🥯 Anorexia Nervosa ภาวะไร้ความอยากอาหาร หรือคนที่เข้มงวดกับการกินจนกลายเป็นอดอาหาร

🥯 Bulimia Nervosa ภาวะความอยากอาหารมากผิดปกติ แต่มักรู้สึกผิดหลังจากกินไปเลยพยายามเอาออก

🥯 Binge eating Disorder ภาวะกินอาหารปริมาณมากจนผิดปกติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ โดยเฉพาะพวกแป้ง น้ำตาล ไขมัน ไม่สนใจจะลดน้ำหนัก

🥯 Eating Disorder Not Otherwise Specified (EDNOS) ระบุไม่ได้

เราคุ้นเคยกับ Anorexia และ Bulimia แต่ใครจะรู้ว่าทุกวันนี้มีคนจำนวนมากกำลังเป็นโรค Binge eating disorder โรงพยาบาลรามาธิบดีได้อธิบายอาการของโรคนี้ว่าเป็นโรคที่มีการรับประทานอาหารเป็นปริมาณมาก ๆ ผิดปกติ ซ้ำ ๆ หลายครั้งโดยควบคุมไม่ได้และไม่มีการใช้พฤติกรรมลดน้ำหนักทดแทนเลย อย่างการล้วงคอ อดอาหาร ใช้ยา หรือ ออกกําลังกายอย่างหนัก ต่างจากที่พบในโรค Bulimia nervosa หรือ Anorexia nervosa

ที่สำคัญคือผู้ที่มีอาการมักจะมีพฤติกรรมกินอาหารปริมาณมากทั้งที่ไม่หิว เพราะยากที่จะระบุว่าตนเองหิวหรืออิ่ม ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นรวดเร็วในระยะเวลาสั้น ๆ  และอาจอ้วนตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนใหญ่พบร่วมกับภาวะอ้วน (obesity) และภาวะน้ำหนักเกิน (over weight) โดยพบว่าผู้ที่เป็น Binge eating จะมีน้ำหนักในช่วงที่คงที่มากกว่าในคนอ้วนปกติที่ไม่มีพฤติกรรม Binge eating

ในสมัยก่อนมีผู้ป่วยที่ต้องการรักษาภาวะ Binge eating แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องเพราะผู้รักษาเน้นแต่โรค Anorexia และ Bulimia ซึ่ง Binge eating  ไม่เข้าข่ายทั้งสองอย่าง ทำให้ไม่มีแนวทางการรักษาที่เหมาะสม สิ่งที่ต้องระวังคือการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) เนื่องจากผู้ป่วยมักไวต่อความรู้สึกเชิงลบ สูญเสียความมั่นใจเมื่อน้ำหนักเพิ่มขึ้น

ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจาก 1. ปัจจัยทางชีวภาพ (Biological factor) อย่างพันธุกรรมหรือสารเคมีในร่างกาย 2. ปัจจัยทางจิตวิทยา (Psychological factor) เช่นการเลี้ยงดูที่เหมาะสม บุคลิกภาพที่คิดลบ ภาวะซึมเศร้า low self-esteem เป็นต้น หลายคนทุกข์ทรมาณจากภาวะทางใจ เป็นโรคเครียด ซึมเศร้า ไบโพลาร์ ภาวะป่วยทางใจจากเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic Stress Disorder) ก็อาจพบโรค Binge eating Disorder ร่วมด้วยได้

🚨 อาการที่พบบ่อยของโรคนี้ ได้แก่ 🚨

☑️ ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการกินได้

☑️ ทานอาหารมากจนถึงจุดที่ไม่สบายตัวหรือรู้สึกทรมาน

☑️ ทานอาหารได้เรื่อย ๆ โดยไม่รู้สึกอิ่ม

☑️ น้ำหนักตัวขึ้นลงไม่คงที่

☑️ รู้สึกผิดหรือรังเกียจตัวเองหลังจากทานอาหารปริมาณมาก

☑️ มีการซุกซ่อนอาหารไว้รอบ ๆ

☑️ ชอบรับประทานอาหารในช่วงดึก กินจุกจิกบ่อย ๆ

☑️ มีอารมณ์ซึมเศร้าหรือวิตกกังวล

☑️ ความมั่นใจลดลงผิดปกติ รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง

☑️ ส่งผลต่อพฤติกรรมทางเพศ

สำหรับการรักษานั้นนอกจากจะใช้ยาเพื่อปรับสภาพร่างการแล้ว การรักษาทางจิตใจก็สำคัญไม่แพ้กัน จึงควรใช้วิธีนี้ควบคู่ไปด้วย อย่างแรกคือการรักษาแบบ Cognitive behavioral therapy (CBT) เน้นปรับเปลี่ยนที่แนวคิดและพฤติกรรม ในที่นี้ก็คือพฤติกรรมการกินโดยพยายามลดความถี่ของการ Binge eating ลดการกินอาหารที่พลังงานสูง ปรับการมองภาพลักษณตนเอง (Self-image)

อย่างที่สองคือ Individual Psychotherapy โดยใช้การรักษาแบบ psycho-dynamically oriented ที่จัดการ กับปัญหาเกี่ยวกับสภาพจิตใจขณะนั้น ซึ่งมันใช้วิธีรักษานี้ร่วมกับ CBT เช่น หากพบภาวะซึมเศร้าก็รักษาที่อาการซึมเศร้า และจัดการความขัดแย้งในจิตใจของตนเอง หาสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยกับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างและหาแหล่งสนับสนุนทางใจที่จะช่วยพวกเขาได้

ถ้าภาวะการกินของเราเริ่มเปลี่ยนไป อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าใจเรากำลังเป็นกังวล ลองสังเกตตัวเองว่าการกินและการนอนของเรายังปกติอยู่ไหม ถ้าไม่แน่ใจสามารถปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาของอูก้าได้เสมอ เรายินดีรับฟังทุกปัญหา ช่วยคุณดูแลทั้งสุขภาพกายและใจให้พร้อมใช้ชีวิตอย่างมีความสุข 🙂

#OOCAknowledge

—————————————————
ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/bingeeatingblog
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca
.
.
#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

อ้างอิงจาก

https://www.springnews.co.th/news/810881

https://www.pobpad.com/binge-eating-disorder

https://med.mahidol.ac.th/ramamental/psychiatristknowledge/generalpsychiatrist/06132015-1342

Read More

“กะเทย = คนตลก” เป็นตัวตนตามธรรมชาติหรือสังคมเรายึดติดคิดไปเอง

“มีคนบอกว่าฉันนิสัยเหมือนกะเทย เพราะฉันตลก” นี่คือประโยคที่เพื่อนมาเล่าให้เราฟัง มันบอกว่าไม่ได้รู้สึกดีหรือไม่ดีกับคำพูดนั้น แต่พวกเรากลับรู้สึกว่าน่าสนใจมากกว่า จนต้องมานั่งคิดกันต่อว่า แล้วตุ๊ดหรือกะเทยต้องมีนิสัยยังไง ? ในเมื่อพวกเขาก็คือมนุษย์ที่มีความหลากหลาย มีนิสัยแตกต่างกันเหมือนกับคนอื่น แต่ทำไมจึงเป็นกลุ่มที่มักถูกมองในลักษณะเหมารวม (Stereotype) แทบจะตลอดเวลา 🙄

ความลำบากใจของเพื่อนที่เป็นตุ๊ด กะเทยหรือ LGBTQ+ ที่เคยได้ฟังมา บ่อยครั้งจะเกี่ยวกับภาพลักษณ์ที่คนยึดติด ยกตัวอย่างเพื่อนคนหนึ่งเป็นคนใจเย็นมาก เรียบร้อยและพูดจาสุภาพ บอกว่าอึดอัดเพราะที่ทำงานชอบบังคับให้ออกไปเต้นหรือโชว์เวลามีงานเลี้ยงหรือทำอะไรตลก ๆ เพียงเพราะว่าเป็น “ตุ๊ด” ทุกคนเลยคิดว่าน่าจะเก่งเรื่องกิจกรรมรื่นเริง แถมหลายคนยังชมในเชิงว่า “เป็นตุ๊ดที่เรียบร้อยจัง ปกติเจอแต่แนวโวยวายเสียงดัง” เพื่อนเราก็สงสัยเช่นกันว่า ทุกคนมีนิสัยแตกต่างกันก็ถูกต้องแล้วไม่ใช่เหรอ ?

ลักษณะนิสัย (traits) ที่แสดงออกก็มาจากบุคลิกภาพ (Personality) หรือตัวตนที่เราสร้างมาตั้งแต่วัยเด็ก Erik Erikson นักจิตวิทยาได้อธิบายทฤษฎีพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ตลอดช่วงชีวิตออกเป็น 8 ขั้น ซึ่งเริ่มพัฒนาตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อเราเจอกับปัญหาหรือความขัดแย้งบางอย่างแล้วสามารถเอาชนะมันได้ก็ถือว่าเราพัฒนาและเติบโตขึ้นไปอีกขั้น เพราะฉะนั้นตัวตนของเรามักเริ่มจากการสร้างความผูกพัน (attachment) ระหว่างเรากับผู้ที่เลี้ยงดู หลอมรวมกับการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกและประสบการณ์ที่ได้รับ

ขั้นที่เด่นชัดว่าเชื่อมโยงกับการสร้างตัวตนก็คือขั้นที่ 2 ตัวของตัวเอง vs ความรู้สึกสงสัยในตัวเอง (Autonomy vs Shame and Doubt) ในวัย 1 ขวบครึ่งถึง 3 ปี พวกเขาจะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง ชอบสำรวจสิ่งต่าง ๆ การเปิดโอกาสให้เด็กได้มีอิสระในการเรียนรู้จึงสำคัญมาก ๆ แต่ถ้าถูกควบคุมมากเกินไปหรือปล่อยปะละเลยก็จะเกิดความสงสัยและละอายในตนเอง 😓

หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นก็จะพัฒนาขั้นที่ 5 ในเรื่องของเอกลักษณ์ vs ความสับสนในบทบาท (Identity vs Role confusion) นั่นคือจุดที่หลายคนเริ่มสงสัยว่า “ฉันเป็นใคร” มีการวาดภาพชีวิตเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเป้าหมายคือค้นหาเอกลักษณ์ของตนเอง เรามีอะไรที่พิเศษแตกต่างจากคนอื่น จุดแข็งและความสามารถของเราจะเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจและทำให้เราเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) แต่ถ้าเราไม่ได้คำตอบก็อาจจะรู้สึกสับสน ว่างเปล่า ไปจนถึงซึมเศร้าได้

สิ่งใดที่ทำแล้วได้รับความรัก การเติมเต็มหรือถูกมองเป็นคนสำคัญ เราก็มีแนวโน้มจะทำสิ่งนั้นมากขึ้น ไม่ต่างอะไรจากการถูกเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) อารมณ์ขัน (Sense of humor) ก็เป็นหนึ่งในนิสัยที่เรามักแสดงออกเพราะเป็นนิสัยส่วนหนึ่ง แต่หากมีคนเสริมแรงเรา เช่น หัวเราะตาม ชอบใจ หรือยอมรับเราในแง่ของความตลก เราก็มีแนวโน้มจะแสดงความตลกออกมาอีกเรื่อย ๆ ฉะนั้นการสร้างตัวตนของตุ๊ด กระเทยหรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็ไม่ได้ต่างกับคนทั่วไปเลย

เราอาจจะกำลังใช้สกีมา (Schemas) กับกลุ่ม LGBTQ+ เพียงเพราะความตลกโปกฮาเป็นนิสัยที่โดดเด่นและภาพจำของคนกลุ่มนี้ โดย ‘สกีมา’ เป็นรูปแบบความคิดที่เกิดจากความคาดหวังของเราเองทั้งนั้น โดยเชื่อว่าหากใครมีพฤติกรรมแบบหนึ่งก็จะมีพฤติกรรมหรือคุณสมบัติบางอย่างควบคู่กันไปด้วย และเมื่อสกีมาถูกนำไปใช้กับคนทั้งกลุ่มก็จะกลายเป็น stereotype นั่นเอง

เหมือนกับที่คนมองว่าเป็นนางงามต้องรักเด็ก เป็นกะเทยต้องตลก ส่วนหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยกว่าจะมาถึงจุดที่เปิดกว้างมากขนาดนี้ก็เพราะสื่อช่วยผลักดันให้เราเห็นหลากหลายแง่มุมของกลุ่มตุ๊ดหรือกะเทย แต่เพราะภาพความตลกที่ถูกนำเสนออยู่บ่อย ๆ ทำให้เราเคยชินกับ ‘สีสัน’ และเสียงหัวเราะที่พวกเขาสร้างเผลอมองข้ามตัวตนที่แท้จริงของพวกเขาไป 🙃

ไม่เพียงแค่นั้น…ความตลกยังถูกนำมาเชื่อมโยงกับความสำเร็จเพราะการนำเสนอภาพความตลกทำให้หลายคนเป็นที่ยอมรับและได้รับความรักมากขึ้น เรามักจะเห็นตุ๊ดหรือกระเทยเป็นจุดศูนย์กลางของงานเลี้ยง เป็นคนสำคัญในกลุ่มเพื่อน หรือเป็นคนมีเอกลักษณ์ในที่ทำงาน แต่เบื้องหลังจริง ๆ คือความสามารถ ความพยายามและตั้งใจไม่แพ้ใคร ปัจจัยด้านอื่น ๆ ก็สำคัญไม่แพ้กันและนิสัยตลกขบขันก็ไม่ใช่คำตอบเดียวของทุกอย่าง

ด้วยภาพในความคิดที่ถูกส่งต่อทำให้เด็กและเยาวชนจำนวนมากมองตุ๊ดหรือกะเทยเป็นต้นแบบ (Model) เพราะเห็นได้ชัดว่าหากอยากเป็นที่ยอมรับ เป็นกลุ่ม LGBTQ+ ที่ประสบความสำเร็จฉันสามารถทำเหมือนเขาได้ หรือถ้าอยากเป็นที่รักของเพื่อน ๆ อยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม (in-group) เราก็ต้องมีความตลกแบบนั้นบ้าง มายาคติเหล่านี้จะไม่มีทางหายไปหากเรายังไม่เข้าใจว่ามนุษย์มีความเป็นปัจเจกบุคคล (Individual) และเราควรจะมองให้ลึกลงไปถึงคุณค่าภายในที่เขามี มากกว่าความเชื่อแบบผิวเผินที่สังคมคิดกันไปเอง

กะเทยต้องสวย ตุ๊ดต้องตลก…หรือมายาคติใด ๆ ก็ตามที่สั่งสมมา หวังว่าวันนี้เราจะได้ฉุกคิดกันเล็กน้อยถึงเรื่องของตัวตนและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เริ่มต้นที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย ให้พื้นที่แก่กันและกัน เพื่อให้ทุกคนได้มีความสุขกับการเป็นตัวของตัวเอง อูก้าขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนมอบความอ่อนโยนให้โลกใบนี้ ถ้าอยากมีเพื่อนที่คอยรับฟังและช่วยดูแลสุขภาพใจ อย่าลืมนึกถึงอูก้าก่อนใครนะ ❤️🧡💛💚💙💜

#OOCAknowledge #ShareWithPride

—————————————————

ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/vtYL
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

อ้างอิงจาก

หนังสือจิตวิทยาทั่วไป โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คัคนางค์ มณีศรี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Read More

การตีตราที่สวนทางกับประโยค “สมัยนี้เราควรมองข้ามเรื่องเพศกันได้แล้ว”

ทำไมการตีตราหรือคำดูถูกถึงชอบมาพร้อมกับ ‘เพศ’ ? 🤔

ไม่ว่าจะของเล่นในวัยเด็ก เสื้อผ้าที่เราใส่ ไปจนถึงภาษาที่ใช้ ชีวิตประจำวันเราถูกสอดแทรกด้วยการแบ่งเพศ การจะถอดถอนวิถีปฏิบัติที่ฝังอยู่ในสังคมวัฒนธรรมหรือแม้แต่ศาสนาย่อมเป็นเรื่องยาก แม้ homosexuality หรือ ‘รักเพศเดียวกัน’ จะถูกตัดออกจากกลุ่ม ‘ความผิดปกติทางจิต’ ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders-DSM) ไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1974 แล้ว แต่ความหลากหลายทางเพศก็ยังผูกติดกับ ‘ความผิดปกติ’ เพียงเพราะเราไม่สามารถจำแนกออกเป็นชายหรือหญิงได้

แน่นอนว่าความแตกต่างก็นำไปสู่ ‘ความแตกแยกทางความคิด’ ขณะเดียวกันมนุษย์เราก็ไม่อยากเป็นคนใจแคบในยุคที่สังคมเปิดกว้าง กลายเป็นพฤติกรรม ‘เหยียดหยาม’ ที่สวนทางกับคำพูดว่า ‘ยอมรับ’ ไปจนถึงการนำเสนอแบบผิด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนิยาม ‘เพศ’ ในเชิงเพศสภาพ (gender) เพศวิถี (sexuality) หรือเพศสรีระ (sex) สุดท้ายก็วกกลับมาที่ประเด็น “คุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนเราเท่ากันจริงหรือไม่ ?”

สมัยนี้ (ที่อาจยังมาไม่ถึง) เราควรมองข้ามเรื่องเพศกันได้แล้ว 🙂

เราได้ยินประโยคนี้จนชินแต่สุดท้ายก็เผลอปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไม่เหมาะสม เพราะอะไร ? ส่วนหนึ่งมันคือการไหลตามของกระแสสังคม มีการวิจัยในหัวข้อการศึกษาเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศสถานะ และการแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศในสื่อ นำทีมโดยอาจารย์กังวาฬ ฟองแก้ว ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ใช้เวลา 1 ปีในการเก็บตัวอย่างข่าวที่เกี่ยวกับคนหลากหลายทางเพศ จากการสุ่มเลือกตัวอย่างสื่อทั้งหนังสือพิมพ์ และสื่อโทรทัศน์มาทั้งหมดราว 870 ข่าว พบว่า 65% มีการเผยแพร่ข่าวในเชิงกระตุ้นอารมณ์แต่เนื้อหาไม่ได้ก่อให้เกิดความสำคัญใด ๆ ต่อสังคม โดยเฉพาะหมวดบันเทิง มีเพียง 1 ใน 3 ของข่าวที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ศิลปวัฒนธรรม และการศึกษา ซึ่งล้วนเป็นข่าวต่างประเทศทั้งสิ้น

สิ่งที่น่ากังวลคือการนำเสนอข่าวได้สร้างภาพบางอย่างหรือการตีตราที่ติดตัวกลุ่ม LQBTQ+ ไปด้วย ผลวิจัยของอาจารย์กังวาฬ มองว่า ถ้อยคำที่รุนแรงที่ใช้คือการคุกคามและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยกตัวอย่างกลุ่มหญิงรักหญิง (Lesbian) มักมีคำว่า ดนตรีไทย ลดตัวคบทอม กลิ่นเลสเบี้ยนโชย ฯลฯ พร้อมทั้งภาพที่แฝงนัยยะทางเพศให้คนไปตีความต่อหรือวิจารณ์กันสนุกปาก ทางด้านเกย์ (Gay) ก็ต้องเจอกับการพ่วงด้วยภาพของกลุ่มที่หมกมุ่นเรื่องเพศ มีโรคเอดส์ การเสพยาและอาชญากรรม หรือเป็นการตีตราเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของคนที่เป็นข่าวด้วย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender) และอีกมากมายที่ถูกตั้งฉายาจนเราเคยชินและลืมไปว่านี่คือการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน

เพราะเราขาดความรู้ความเข้าใจ หรือลึก ๆ แล้วเราต่างมีอคติอยู่ ? 🤭

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้จัดทำงานวิจัยที่ชื่อว่า ‘รับได้แต่ไม่อยากสุงสิง: การสำรวจระดับชาติเกี่ยวกับประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ และทัศนคติของสังคมที่มีต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย’ ผลลัพธ์น่าสนใจมาก ๆ ตรงนี้คนส่วนใหญ่บอกว่าการยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่อยู่นอกครอบครัวมากกว่าที่จะยอมรับคนในครอบครัวตัวเอง และถึงแม้ทัศนคติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจะเป็นบวก รวมถึงเข้าใจและอยากผลักดันให้เกิดความเท่าเทียม แต่การยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังเป็นเรื่องยากสำหรับคนใกล้ตัว อย่างครอบครัว กลุ่มเพื่อน และในชนบท

เรอโนด์ เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทยพูดถึงประเด็นนี้ว่า “ถึงแม้สังคมไทยจะมีการยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และเป็นที่รู้จักมากขึ้นในพื้นที่สื่อและสังคม แต่ยังมีคนที่มีความหลากหลายทางเพศอีกไม่น้อยที่ถูกคุกคามเพียงเพราะตัวตนของพวกเขา”

คุณเต้-ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก ผู้อำนวยการบริษัท กันตนา กรุ๊ปและนักผลิตรายการชื่อดังมากมายเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเขาถูกจัดอยู่ในกลุ่ม L, G, B, หรือ T มาหมดแล้วแต่หากถามใจแล้วก็ไม่ได้อยากถูกจำกัดอยู่ในคำไหนเลย เพราะมองตัวเองเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าจะเพศใด มีไลฟ์สไตล์แบบไหนก็มีความสามารถ มีคุณค่าความเป็นมนุษย์และควรมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน 🌈

นี่อาจจะถึงเวลาที่เราต้องมองข้ามเรื่องเพศ แล้วหันมามองกันที่ความเป็นมนุษย์ให้มากขึ้น 🙂

ไม่ว่าเราจะเป็นอย่างไร ใครจะตัดสินเราแบบไหน สิ่งที่ห้ามลืมก็คือการรับรู้ตัวตนและคุณค่าของตัวเองคือสำคัญที่สุด บางครั้งแค่เราชอบตัวเองและพร้อมจะโอบกอดมันเอาไว้ก็เพียงพอแล้ว อูก้าเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังต่อสู้กับเสียงรอบตัว หากมีเรื่องราวอยากพูดคุยปรึกษาก็สามารถดาวน์โหลดแอปฯหรือเข้าเว็บไซต์ของอูก้าได้เพื่อนัดกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาของเราได้เลย สะดวกทุกที่ทุกเวลา พร้อมดูแลสุขภาพใจให้คุณเสมอ ❤️🧡💛💚💙💜

#OOCAknowledge

—————————————————

ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/WS1i
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

อ้างอิงจาก

https://www.posttoday.com/politic/report/402619

https://thematter.co/thinkers/homophobia-with-in-words/68832

https://www.facebook.com/watch/?v=10157883620684848

https://www.thaipbspodcast.com/podcast/genderfocus/EP61-สังคมตีตรา_ร้ายกว่า_เอชไอวี

https://www.undp.org/content/undp/en/home/librarypage/democratic-governance/tolerance-but-not-inclusion.html

Read More

เลิกใช้คำว่าวิปริตผิดเพศ เพราะ “คุณค่าของฉัน” ไม่ได้อยู่ที่เพศ

“ผิดเพศหน่ะมันเป็นเรื่องของบาปกรรม”

“สับสนทางเพศแบบนี้ แก่ตัวไปจะอยู่กับใคร”

“โชคดีนะที่ลูกเราปกติ ไม่เป็นเหมือนคนนั้น”

สารพัดอคติที่หลั่งไหล่เข้ามา จะกี่เดือนกี่ปี ก็ยังมีความข้อความเหล่านี้ให้ได้เห็นกันอยู่ แม้เราจะคิดว่าปัจจุบันโลกของเราก้าวหน้ามาไกลแล้ว รวมถึงเรื่องเพศหรืออัตลักษณ์ก็เปิดกว้างกว่าหลายปีก่อนมาก มีการ come out และมีบุคคลมีชื่อเสียงมากมายที่ออกมาพูดถึงเรื่อง LQBTQ+ ในสังคม ถึงแม้จะสามารถสร้างความตระหนักได้มากขึ้น แต่แน่นอนว่าอคติก็ไม่ได้หมดไป 😢

เพื่อนเราหลายคนเล่าให้ฟังว่าการพูดคุยกับที่บ้านก็ยังเป็นเรื่องยาก ความเชื่อหรือค่านิยมบางอย่าง ยังคงตอกย้ำอยู่เสมอว่าสังคมควรมีแค่ “เพศชาย” และ “เพศหญิง” ส่วนบุคคลที่นอกเหนือจากนี้ กลับถูกมองว่า “แปลก” อาจถูกเรียกด้วยคำจำกัดความต่าง ๆ ไปจนถึงตีตราว่า “วิปริตผิดเพศ” หรือถูกกีดกันให้อยู่ในกลุ่ม “อื่นๆ”

มันสำคัญมากแค่ไหนกับการแบ่งแยกมนุษย์ออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ตาม “เพศ”

เพศ (Gender) เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าโลกนี้มีชายและหญิง การกำหนดเพศสภาพขึ้นมาเกิดจากหลายเหตุปัจจัย ถ้าพูดในแง่ของวิทยาศาสตร์ เราอาจแยกตามโครงสร้างร่างกาย หากพูดในเชิงสังคมก็คือการแบ่งกลุ่ม กำหนดบทบาท หน้าที่ สิ่งที่ตามมาจากการแบ่งเพศคือ เรามีคำศัพท์เฉพาะสำหรับชายหญิง เช่น “ค่ะ/ครับ” มีการตั้งชื่อที่รู้กันว่าชื่อนี้เหมาะกับเด็กผู้ชาย ชื่อนั้นเหมาะกับผู้หญิง  มีการใช้สัญลักษณ์หรือสีแทนเพศ อย่างสีฟ้าสีชมพู ฯลฯ 😅

เพศไม่ได้จบแค่การแบ่งมนุษย์ออกเป็นกลุ่ม แต่เกี่ยวพันไปถึงการปลูกฝังค่านิยมและทัศนคติบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงต้องอ่อนหวาน รู้จักดูแลบ้าน ได้รับการอบรมให้เป็นแม่และภรรยาที่ดี ส่วนผู้ชายจะต้องปกป้องครอบครัว มีความเข้มแข็ง ห้ามร้องไห้ต่อหน้าคนอื่น สุดท้ายก็นำไปสู่ความคาดหวังต่อบุคคลหนึ่งตามเพศของเขา เมื่อเขาไม่เป็นไปตามสิ่งที่สังคมหรือคนรอบตัวคาดหวัง เรากลับมองว่าเขาล้มเหลวหรือผิดแปลกจากคนอื่น

เป็นเรื่องยากที่ต้องรับมือกับคำพูดและการกระทำที่สื่อไปในทางลบ ไม่ว่าจะคำล้อเลียนจากเพื่อน ความคาดหวังจากครอบครัว ไหนจะความกดดันในสังคมที่เราเติบโตมา ยิ่งต่างเชื้อชาติ วัฒนธรรม ทุกอย่างก็ยิ่งซับซ้อนไปหมด บางคนอาจถึงขั้นถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อกลับมาเป็นอย่างที่สังคมบอกว่าเรา ‘ควร’ เป็น มิฉะนั้นเราก็อาจถูกตีตราว่าเป็นคนโรคจิต วิปริตหรือครอบครัวอาจจะต้องอับอาย ทั้งที่ตัวตนข้างในเขาอาจมีคุณค่าอื่น ๆ ซ่อนอยู่มากมาย ถ้าเรามองเขาในฐานะ ‘มนุษย์’ คนหนึ่ง

เลิกเถอะ…การใช้คำพูดตีตราคนอื่น เพราะ ‘คุณค่าของมนุษย์คนหนึ่ง’ ไม่ควรถูกกำหนดด้วยอะไรเลย

หลายคนหันมาสนับสนุนแนวคิด ‘Post Genderism’ หรือ ‘โลกหลังการมีเพศ’ ✨

อธิบายง่าย ๆ คือ การมองมนุษย์แบบไม่มีเพศ ไม่ใช่แค่ชายหญิงแต่รวมถึงการไม่ LGBTQ+ ด้วย อย่างที่ George Dvorsky เคยกล่าวในบทความวิชาการว่า “Post-genderist เชื่อว่าเพศสภาพนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและเป็นขีดจำกัดที่ไม่จำเป็นต่อการพัฒนาของมนุษย์” ซึ่งก็มีกลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดนี้เพราะมองว่าการห้ามหรือบังคับให้กระทำบางสิ่งบางอย่าง เพียงเพราะเขาเป็นเพศนั้นเพศนี้ควรจะยุติเสียที รวมถึงอคติที่มองกลุ่ม LGBTQ+ ด้วย stereotype ที่ฝังรากลึกในสังคมก็ควรถูกแก้ไขด้วย 🤔

ในขณะเดียวกันก็ยังมีคนจำนวนมากที่เชื่อว่าคำว่า ‘เพศ’ ไม่มีทางหายไป เพราะจุดเริ่มต้นของมนุษย์ยังถูกกำหนดด้วยโครโมโซมและสภาพร่างกายตามที่ธรรมชาติให้มา รวมถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่าง คนที่เกิดมามีสองเพศหรือคนที่เกิดมาไม่มีเพศ ไปจนถึงความแตกต่างระหว่าง Sex และ Gender และที่ถกเถียงกันมาตลอดอย่างเรื่อง “รสนิยมทางเพศ” หากจะพูดทั้งหมดนี้เชื่อว่าเราคงไม่มีทางหาข้อสรุปได้ รวมถึงไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจในแนวคิดในแนวคิดหนึ่งได้

แต่สิ่งที่เราอยากสร้างความตระหนักมากที่สุดคือ “คุณค่าของมนุษย์” หรือ “ตัวเรา” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นใดเลย ไม่ว่าจะเป็น เพศ เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว ฯลฯ แม้การแบ่งแยกจะยังไม่หมดไป แต่การใช้คำพูดรุนแรงเพื่อต่อว่าหรือลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ต่างหากที่สามารถแก้ไขได้

แน่นอนการต่อสู้กับอคติจะเป็นเรื่องเลวร้าย แต่เราเชื่อว่าความคิดและการกระทำของคนอื่นจะไม่มีผลกับใจ ถ้าวันนี้ “คุณยังชอบตัวเองอยู่” เริ่มต้นที่การยอมรับตัวเองอย่างไม่มีเงื่อนไข มอบความอ่อนโยนและอ้อมกอดให้ตัวเองบ้าง ความรู้สึกลบ ๆ ที่รบกวนใจจะได้เบาบางลง ไม่ต้องคาดหวังให้ทุกคนยอมรับ ไม่จำเป็นต้องโทษตัวเอง เราสามารถเป็นตัวเราที่สร้างสิ่งดี ๆ และมีความสุขได้เหมือนคนอื่น 🙂

อูก้าขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังค้นหาคุณค่าของตัวเองและต่อสู้เพื่อบางสิ่งบางอย่างอยู่ ไม่ว่าจะหนักหนาแค่ไหน อูก้าขอเป็นพื้นที่ปลอดภัยในคุณได้พูดคุยปรึกษาทุกปัญหาใจอย่างไม่มีเงื่อนไข เราพร้อมดูแลคุณเสมอ ❤️🧡💛💚💙💜

#OOCAstory #Pride
—————————————————

ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/lgbtqstrfb
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

Read More

I = intersex เมื่อโลกของ’ชาย-หญิง’ ไม่มีที่สำหรับฉัน

จะเป็นอย่างไรถ้าคำว่า “เพศ” เป็นเรื่องที่อธิบายได้ยากและสำหรับบางคนก็อาจเป็นคำที่เจ็บปวด เราอยากพาทุกคนมารู้จักกับอินเตอร์เซ็กส์ (Intersex) หรือภาวะเพศกำกวม หากเราคิดว่าการพูดถึง LGBTQ+ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่งแล้ว ก็ยังมีกลุ่ม I – Intersex ที่ไม่สามารถระบุเพศที่ชัดเจนได้ พวกเขาอาจไม่ได้เป็นทั้งชายและหญิง โครงสร้างทางกายภาพ อวัยวะเพศ โครโมโซม รวมถึงฮอร์โมนมีความแตกต่างไปจากปกติ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศของพวกเขามีปัญหาแต่อย่างใด 😢

หากอธิบายในเชิงการแพทย์อินเตอร์เซ็กส์มีความซับซ้อนเพราะไม่มีรูปแบบตายตัว บางคนอาจจะเกิดมาพร้อมโครโมโซมเพศหญิง แต่ไม่มีมดลูกและรังไข่ หรือเกิดมาพร้อมโครโมโซมเพศชายแต่อวัยวะเพศคล้ายผู้หญิง เด็กบางคนมองจากภายนอกเหมือนจะมีทั้งอวัยวะเพศชายและหญิง ทำให้แพทย์ต้องดูแลรักษาต่อไป

อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งเหมารวมว่าพวกเขาเป็นคนมีสองเพศหรือไม่มีเพศ เพราะนอกจากเรื่องของสรีระร่างกาย ยังมีปัญหาอีกมากมายที่อินเตอร์เซ็กส์ต้องเผชิญ 😰

ย้อนกลับไปราว ๆ 50 ปีก่อนแพทย์มักรักษาอินเตอร์เซ็กส์ด้วยการ ‘ผ่าตัด’ เพื่อให้มีลักษณะเพศใดเพศหนึ่งอย่างชัดเจน อย่างเช่นการผ่าตัดตกแต่งอวัยเพศ โดยเชื่อว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ช่วยลดความกังวลของครอบครัวได้ แต่ใช่ว่าทุกเคสจะจบลงด้วยดี เนื่องจากเมื่อโตขึ้นอาจมีลักษณะบางอย่างที่ปรากฎชัดเจนขึ้น หรือเด็กก็มีอารมณ์ความรู้สึกเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ส่งผลให้พวกเขารู้สึกสับสน โดดเดี่ยวและขาดความมั่นใจได้ นำไปสู่ข้อถกเถียงว่า เป็นเรื่องที่ควรหรือไม่กับการเลือกเพศให้กับเด็กที่เป็นอินเเตอร์เซ็กส์ ?

มีกรณีศึกษามากมายที่เกิดการแทรกแซงทางการแพทย์ โดยเลือกให้เด็กเป็นเพศใดเพศหนึ่งจากลักษณะอวัยเพศที่มองเห็น แต่เมื่อโตขึ้นข้างในของเด็กคนนั้นรู้สึกว่าตัวเองเป็นอีกเพศหนึ่ง เมื่อจิตใจสวนทางกับร่างกายและต้องใช้ชีวิตต่อไปแบบนั้น เขารู้สึกราวกับว่าตัวเองกำลัง “แตกสลาย” 😭

ในยุคหลัง ๆ จึงมีการเปิดโอกาสให้อินเตอร์เซ็กส์เป็นผู้ตัดสินใจด้วยตัวเองมากขึ้น เนื่องจากทุก ๆ อย่างมีผลต่อสุขภาพกายและสภาพจิตใจของพวกเขา ภาวะเพศกำกวมนั้นส่วนใหญ่ไม่มีความเจ็บป่วยร้ายแรงที่ต้องกังวล  แต่อาจต้องดูแลเรื่องของฮอร์โมนที่อาจส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรม

สิ่งสำคัญคือ การสร้างความมั่นคงทางจิตใจ เป็นเรื่องยากที่อินเตอร์เซ็กส์จะพูดถึงสิ่งที่ตัวเองเป็นได้อย่างเปิดเผยและเป็นเรื่องลำบากใจสำหรับครอบครัวในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับพวกเขา กลับกันสิ่งที่พวกเขาต้องการคืออะไร ? เราได้เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เลือกความสุขให้กับตัวเองหรือเปล่า ?

ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจสิ่งที่คนเป็นอินเเตอร์เซ็กส์ต้องเผชิญ การตีตราในเรื่องเพศเป็นบาดแผลที่เจ็บปวด เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องร้าย ๆ ที่ผ่านเข้ามาแล้วจะผ่านไป แต่เราต้องอยู่กับอคติและร่างกายที่เป็นตัวเราแบบนี้ หากสังคมกีดกันพวกเขาออกไปย่อมสร้างประสบการณ์ที่เลวร้ายให้กับคนที่กำลังต่อสู้อยู่อย่างแน่นอน

เมื่อเรารับรู้ว่า ‘เราแตกต่าง’ ธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการ ‘การยอมรับ’ และรักษาความเป็นพวกพ้อง อาจทำให้พวกเขาต้องสัมผัสกับความโดดเดี่ยวและสิ้นหวังที่ตัวเองไม่ได้เป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ อย่างแท้จริง อีกทั้งในบางสังคมก็มองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาได้ ดังนั้นการสนับสนุนทางจิตใจ (Psychological support) จึงสำคัญมาก รวมถึงในสังคมที่ควรเปิดกว้างและมีการให้ความรู้ในด้านนี้ เพราะถือเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เราเข้าใจและยอมรับความแตกต่างได้ 🌈

เพราะความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ (Human Diversity) นั้นไม่มีขอบเขต ไม่มีใครควรใช้ชีวิตอยู่ด้วยความอับอายหรือต้องกล่าวโทษตัวเองที่เป็นแบบนั้นแบบนี้ เพียงเพราะสังคมมีบรรทัดฐานอีกรูปแบบหนึ่ง อยากให้ทุกคนกลับมาดูแลใส่ใจตนเอง (Self-care) ความรักและการยอมรับจะทำให้เราผ่านประสบการณ์เหล่านี้ไปได้

เวลาที่เราสงสัยในตัวเองหรือไม่แน่ใจกับสิ่งที่เราเผชิญอยู่ ตลอดจนการตัดสินใจในเรื่องที่ยากลำบาก เป็นธรรมดาที่เราจะมองหาความช่วยเหลือ การพึ่งพาคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญ ครอบครัวหรือแพทย์ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและจำเป็นเพื่อให้เขาได้เลือกวางแผนอนาคต ไม่ว่าจะในแง่ของการใช้ชีวิต การรับรู้อัตลักษณ์ของตัวเอง การสร้างตัวตน บุคลิกภาพและพัฒนาการทางเพศ เมื่อเขามีส่วนร่วมก็จะเกิดการยอมรับในตัวตนของตัวเองมากขึ้นด้วย

ความกดดันให้เปลี่ยนแปลงในเรื่องเพศไม่ได้ช่วยอะไร นอกจากทำให้จิตใจของพวกเขาย่ำแย่ลงและยิ่งทรมาน จะกี่ครั้งที่ต้องพูดคุยเรื่องเพศก็เป็นเรื่องอ่อนไหวเสมอ หากเราไม่รู้ทางไหนถูกต้องและเหมาะสม หรือจะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไร สิ่งที่ง่ายที่สุดคือการไม่ตัดสินเขาจากค่านิยมส่วนตัวและอยู่เคียงข้างรับฟังอย่างเข้าใจ หลีกเลี่ยงคำพูดที่ตีตรา ล้อเลียนหรือลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ เพียงเท่านี้ก็สร้างกำลังใจเล็ก ๆ ให้พวกเขาได้แล้ว 🙂

ใครที่กำลังเป็นทุกข์หรือต้องการพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเปิดใจ สามารถเข้ามาปรึกษาอูก้าได้ เรามีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่พร้อมรับฟังทุกเรื่องราวของคุณ หากต้องการหาแนวทางเพื่อดูแลจิตใจคนในครอบครัวก็พูดคุยกับเราได้เช่นกันนะ 💙

#OOCAknowledge #PrideMonth


ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/intersexblog
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

อ้างอิงจาก

https://story.motherhood.co.th/intersex/

https://adaymagazine.com/intersex/

Read More

เครียดแค่ไหนถึงต้องพบจิตแพทย์?

เคยไหมที่ดูหนังฝรั่งทีไรแล้วต้องได้เห็นฉากที่ตัวละครพูดคุยปรึกษากับนักจิตวิทยาในเรื่องกันอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนัดพบ คุยประจำทั่วไปในแต่ละเดือน บางครั้งก็คุยเดี่ยว บางทีก็คุยกลุ่ม หรือจับคู่สามีภรรยามานั่งคุยกันก็มี แม้แต่เด็ก ๆ เองก็เปิดใจเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่ตัวละครเหล่านี้กลับดูไม่ได้มีเรื่องเครียดอะไร

อย่างนี้แปลว่าไม่จำเป็นต้องมีเรื่องเครียดก็พบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้เหรอ ?

อูก้าขอตอบเลยว่า ได้ ! เพราะการพบจิตแพทย์นั้นจริง ๆ แล้วก็เหมือนเราไปตรวจสุขภาพร่างกายทั่วไป ไม่ต้องรอให้เครียด ไม่ต้องรอให้เกิดโรค ไม่ต้องรอให้เจอปัญหาใด ๆ เราก็สามารถไปหาหมอเพื่อพูดคุยปรึกษา เช็คสุขภาพใจกันสักนิดได้ทันที ซึ่งจริง ๆ แล้วในแต่ละประเทศเอง การไปหาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยานั้นเป็นเรื่องที่ปกติมาก ๆ เพราะนอกจากจะได้เป็นการพูดคุยปรึกษาปัญหาคาใจของแต่ละคนแล้ว จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยายังสามารถให้คำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ เช่น ปัญหาครอบครัว ชีวิตคู่ ปัญหาความสัมพันธ์ การเรียน การงาน ปรึกษาก่อนแต่งงาน หรือแม้แต่การปรึกษาเรื่องพัฒนาการเด็กก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้นหากไม่สบายใจ แทนที่จะไปหาหมอดู ลองเปลี่ยนมาเป็นหาหมอ “ใจ” อย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา อาจจะช่วยให้คุณค้นหาต้นตอของปัญหาเจอก็ได้นะ 🙂

แล้วอย่างนี้ถ้าเราอยากลองตรวจสุขภาพใจของเราดูบ้างการไปหาจิตแพทย์จะตอบโจทย์ไหมนะ? แล้วจะเริ่มจากที่ไหนดี? คำถามนี้ก็ไม่อยาก เพราะถ้าคุณไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรละก็ #อูก้ามีทางออก มาให้จ้า

เพราะที่อูก้า เราเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับดูแลจิตใจที่เป็นมากกว่าแค่การรับฟัง ที่อูก้านั้นคุณไม่จำเป็นที่จะต้องขับรถวนหาที่จอดจนเหนื่อย หรือต้องลางานมานั่งรอคิวคุยกับจิตแพทย์ทั้งวัน ทั้งยังไม่ต้องไปเสาะหาแหล่งปรึกษาให้ยุ่งยาก เพราะที่นี่เรามีบริการพร้อม ทั้งนักจิตวิทยาที่จะคอยให้คำปรึกษาและบำบัดใจ จนไปถึงจิตแพทย์ที่มีประสบการณ์ดูแลทุกคำปรึกษา อยากจะทักมาคุยเมื่อไหร่ ที่ไหน กับใคร ก็เลือกเองได้ง่าย ๆ สะดวกสบายด้วยปลายนิ้ว

❤️ อยากทำแบบทดสอบวัดความเครียดดูก่อนก็ย่อมได้

❤️ หากอยากนัดปรึกษาเมื่อไหร่ ก็สามารถนัดหมายได้ทุกเมื่อ

❤️ ใช้เพียงแค่โทรศัพท์มือถือและสัญญาณอินเทอร์เน็ต ก็คุยได้แล้ว ไม่ต้องไปไหนไกล

❤️ ทุกอย่างที่คุยกันรับรองว่าเป็นความลับ ถ้าไม่สะดวกใจให้ใครเห็น ก็คุยกันในสถานที่ ๆ คุณสบายใจได้เลย

เพราะการพูดคุยปรึกษาปัญหาใจ ไม่จำเป็นต้องรอให้เครียด

หากเรามีแพทย์ไว้ดูแลร่างกาย “หัวใจ” เอง ก็ต้องการผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูแลเช่นเดียวกัน อย่างที่ใครหลายคนเคยกล่าวไว้ว่า “ป่วยกายยังไม่เท่ากับป่วยใจ” ดังนั้นหากเรายังมีโอกาสดูแลใจของเราให้ดี อย่ามัวรอช้า อย่ากลัวที่จะก้าวเข้ามาปรึกษากับจิตแพทย์ของเราได้เสมอ พลังใจมีเต็มร้อย จะให้เจอกับอุปสรรคอะไรในชีวิตก็ไม่ท้อถอยไปง่าย ๆ

“ไม่ต้องเครียดก็ทักหาเราได้ ให้อูก้าได้มีโอกาสดูแลจิตใจและเป็นเพื่อนช่วยวางแผนชีวิตเคียงข้างคุณ❤️”

———————————–

ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/hmstblog
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca..

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

Read More
lgbtq

เพราะโลกนี้มีความหลากหลายมากกว่าชาย-หญิง

ด้วยโลกสมัยใหม่ที่เปิดกว้างขึ้นกว่าที่เคย คำกล่าวนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดขนบธรรมเนียมประเพณีอีกต่อไป เพราะคนรุ่นใหม่เรียนรู้ที่จะเปิดใจยอมรับความหลากหลายมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการแสดงออกทางอัตลักษณ์และตัวตนของบุคคลอื่นมากขึ้น ดังนั้นเรื่องของเพศจึงไม่ได้ถูกขีดกรอบจำกัดไว้แต่เพศกำเนิดแค่ “หญิง” หรือ “ชาย” เหมือนในสมัยก่อนอีกต่อไป แต่เรามีคำเรียกแทนตนและความหมายใหม่ ๆ ให้ใช้เพื่อแสดงความเป็นตัวตนของคนแต่ละกลุ่ม หรืออย่างคำที่เราได้ยินบ่อยครั้งนั่นก็คือ “LGBTQ+” 🏳️‍🌈

“LGBTQ+” เป็นคำย่อที่ต่างประเทศใช้เรียกกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยคำนี้เป็นการรวมเอาตัวอักษรแรกของคำเรียกอัตลักษณ์ทางเพศของคนแต่ละกลุ่มมารวมกัน ตัวอักษร L G B T Q นั้นย่อมาจากคำว่า Lesbian Gay Bisexual Transgender และ Queer (บางที่อาจจะหมายถึง Questioning) โดย 4 ตัวอักษรแรกนั้นเริ่มใช้มาตั้งแต่ยุค 1990s ก่อนที่จะเพิ่มตัวอักษรอื่น ๆ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ทุกเพศสภาพ ซึ่งแต่ละตัวอักษรนั้นหมายถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่ต่างกัน ดังนี้

Lesbian – นิยมใช้สื่อถึงเพศหญิงที่มีความรัก ความชอบพอ ทั้งทางอารมณ์ ร่างกาย และจิตใจให้กับเพศหญิงด้วยกัน ซึ่งบางคนอาจจะสบายใจที่จะใช้คำว่า “Gay” หรือ “Gay Woman” มากกว่า ก็สื่อได้เช่นกัน

Gay – นิยมใช้สื่อถึงเพศชายที่มีความรัก ความชอบพอ ทั้งทางอารมณ์ ร่างกาย และจิตใจให้แก่เพศชายด้วยกัน แต่โดยทั่วไปแล้วคำนี้สามารถใช้สื่อถึงเพศที่ชอบเพศเดียวกันกับตนได้ทั้งหมด (เช่น Gay Man, Gay Woman) แต่มักจะพบการใช้ถึง ชาย-ชาย มากกว่า

Bisexual – มักสื่อถึงบุคคลที่มีความรัก ความชอบพอ ทั้งทางอารมณ์ ร่างกาย และจิตใจ ให้กับผู้ที่มีเพศเดียวกัน หรือผู้ที่มีเพศต่างจากตน

Transgender – ในขณะที่คำอื่นอาจจะบ่งบอกถึงความชอบของแต่ละคนในจิตใจ แต่คำนี้แตกต่างด้วยการสื่อถึง “รูปลักษณ์ภายนอก” คำนี้ให้ความหมายถึงบุคคลที่มีความพึงพอใจต่อเพศสภาพของตนที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด เช่น ผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศจากชาย ไปสู่หญิง หรือจากหญิง ไปสู่ชาย อย่างไรก็ตามคำนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศเท่านั้น แต่เป็นความหมายสำหรับใครก็ตามที่ “ข้ามเพศ” จากที่ตนเองมีอยู่ ไปสู่เพศสภาพที่เขาสบายใจที่สุด

Queer – คำว่า “Queer” เป็นอีกคำหนึ่งที่ใช้ครอบคลุมกับอัตลักษณ์ทางเพศคำอื่น ๆ เพราะบางครั้งการเรียกตนเองว่าเลสเบี้ยน เกย์ หรืออื่น ๆ ก็ดูจะจำกัดเกินไป “Queer” จึงเป็นอีกหนึ่งคำที่เปรียบเสมือนร่มคันใหญ่ที่ทอดเงาไปยังคำอื่น ๆ ในกลุ่มด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นในบางที่ ตัวอักษร “Q” ยังสามารถหมายถึง “Questioning” ซึ่งมีความหมายตรงตัวก็คือกลุ่มที่คนที่ยังรู้สึกว่า ตัวเองยังคงตั้งคำถามกับความชอบและรสนิยมของตนเอง เป็นช่วงที่กำลังตั้งคำถามหรือค้นหาตนเองอยู่

ส่วนสัญลักษณ์สุดท้ายในกลุ่มคำนี้คือ เครื่องหมาย “+” ใช้สื่อถึงเพศอื่น ๆ ทั้งหมดที่ไม่ได้ปรากฎอยู่ในตัวอักษร 5 ตัวแรกนั่นเอง ถึงแม้ว่าชื่อเรียกของกลุ่มจะมีหลากหลายแตกต่างกันไปตามอัตลักษณ์ของคนแต่กลุ่ม แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่าการจดจำชื่อเรียก คือการที่เราเข้าใจและยอมรับความหลากหลายที่มีอยู่อย่างแท้จริง 🙂

เราอาจพูดได้ว่าเรื่องของเพศหรือรสนิยมทางเพศเป็นเรื่องที่ไม่มีขอบเขต แม้มนุษย์จะพยายามศึกษาและเขียนตำราวิชาการมากมาย สุดท้ายเราก็ยังค้นพบด้านใหม่ ๆ ของเรื่องราวเหล่านี้อยู่ดี การหาคำนิยาม พยายามตีกรอบหรือจัดแบ่งคนอยู่เป็นหมวดหมู่จึงเป็นเรื่องถกเถียงกันอย่างไม่สิ้นสุด จะดีกว่าไหม ? หากเราเรียนรู้ที่จะยอมรับคุณค่าซึ่งกันและกันในแบบที่เขาเป็น เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงออกต่อกันได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น ให้ทุกคนได้เป็นตัวตนอย่างสบายใจ ไม่ต้องถูกใครตัดสินว่าสิ่งที่เขาเป็น “ถูกหรือผิด” “ปกติหรือแปลกแยก” ส่วนใครที่กำลังรู้สึกว่าเราต้องเผชิญกับความไม่สบายใจ รู้สึกกดดันจากสภาพสังคมและความสับสนที่ก่อเกิดขึ้นในจิตใจ จนทำให้คุณรู้สึกอยากคุยกับใครสักคนที่พร้อมรับฟังละก็ สามารถทักมาหาอูก้าได้เสมอเลยนะคะ เพราะทีมนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมที่จะรับฟังทุกปัญหาใจแน่นอน ไม่ว่าจะเพศไหนก็คุยได้

เพราะเรื่องของใจ ไม่ว่าจะเพศไหนเราก็รับฟัง ❤️🧡💛💚💙💜

#OOCAknowledge #HappyPrideMonth

———————————–

ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/kllgbtblog
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ > https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

ขอบคุณข้อมูลจาก

ไทยรัฐ : https://bit.ly/3fCfDLX
The center : https://bit.ly/3c7pbN3
Alliance : https://bit.ly/3yQ3P0h
คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : https://bit.ly/3fFi0Oe

Read More