จะเป็นอย่างไรถ้าคำว่า “เพศ” เป็นเรื่องที่อธิบายได้ยากและสำหรับบางคนก็อาจเป็นคำที่เจ็บปวด เราอยากพาทุกคนมารู้จักกับอินเตอร์เซ็กส์ (Intersex) หรือภาวะเพศกำกวม หากเราคิดว่าการพูดถึง LGBTQ+ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่งแล้ว ก็ยังมีกลุ่ม I – Intersex ที่ไม่สามารถระบุเพศที่ชัดเจนได้ พวกเขาอาจไม่ได้เป็นทั้งชายและหญิง โครงสร้างทางกายภาพ อวัยวะเพศ โครโมโซม รวมถึงฮอร์โมนมีความแตกต่างไปจากปกติ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศของพวกเขามีปัญหาแต่อย่างใด 😢

หากอธิบายในเชิงการแพทย์อินเตอร์เซ็กส์มีความซับซ้อนเพราะไม่มีรูปแบบตายตัว บางคนอาจจะเกิดมาพร้อมโครโมโซมเพศหญิง แต่ไม่มีมดลูกและรังไข่ หรือเกิดมาพร้อมโครโมโซมเพศชายแต่อวัยวะเพศคล้ายผู้หญิง เด็กบางคนมองจากภายนอกเหมือนจะมีทั้งอวัยวะเพศชายและหญิง ทำให้แพทย์ต้องดูแลรักษาต่อไป

อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งเหมารวมว่าพวกเขาเป็นคนมีสองเพศหรือไม่มีเพศ เพราะนอกจากเรื่องของสรีระร่างกาย ยังมีปัญหาอีกมากมายที่อินเตอร์เซ็กส์ต้องเผชิญ 😰

ย้อนกลับไปราว ๆ 50 ปีก่อนแพทย์มักรักษาอินเตอร์เซ็กส์ด้วยการ ‘ผ่าตัด’ เพื่อให้มีลักษณะเพศใดเพศหนึ่งอย่างชัดเจน อย่างเช่นการผ่าตัดตกแต่งอวัยเพศ โดยเชื่อว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ช่วยลดความกังวลของครอบครัวได้ แต่ใช่ว่าทุกเคสจะจบลงด้วยดี เนื่องจากเมื่อโตขึ้นอาจมีลักษณะบางอย่างที่ปรากฎชัดเจนขึ้น หรือเด็กก็มีอารมณ์ความรู้สึกเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ส่งผลให้พวกเขารู้สึกสับสน โดดเดี่ยวและขาดความมั่นใจได้ นำไปสู่ข้อถกเถียงว่า เป็นเรื่องที่ควรหรือไม่กับการเลือกเพศให้กับเด็กที่เป็นอินเเตอร์เซ็กส์ ?

มีกรณีศึกษามากมายที่เกิดการแทรกแซงทางการแพทย์ โดยเลือกให้เด็กเป็นเพศใดเพศหนึ่งจากลักษณะอวัยเพศที่มองเห็น แต่เมื่อโตขึ้นข้างในของเด็กคนนั้นรู้สึกว่าตัวเองเป็นอีกเพศหนึ่ง เมื่อจิตใจสวนทางกับร่างกายและต้องใช้ชีวิตต่อไปแบบนั้น เขารู้สึกราวกับว่าตัวเองกำลัง “แตกสลาย” 😭

ในยุคหลัง ๆ จึงมีการเปิดโอกาสให้อินเตอร์เซ็กส์เป็นผู้ตัดสินใจด้วยตัวเองมากขึ้น เนื่องจากทุก ๆ อย่างมีผลต่อสุขภาพกายและสภาพจิตใจของพวกเขา ภาวะเพศกำกวมนั้นส่วนใหญ่ไม่มีความเจ็บป่วยร้ายแรงที่ต้องกังวล  แต่อาจต้องดูแลเรื่องของฮอร์โมนที่อาจส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรม

สิ่งสำคัญคือ การสร้างความมั่นคงทางจิตใจ เป็นเรื่องยากที่อินเตอร์เซ็กส์จะพูดถึงสิ่งที่ตัวเองเป็นได้อย่างเปิดเผยและเป็นเรื่องลำบากใจสำหรับครอบครัวในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับพวกเขา กลับกันสิ่งที่พวกเขาต้องการคืออะไร ? เราได้เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เลือกความสุขให้กับตัวเองหรือเปล่า ?

ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจสิ่งที่คนเป็นอินเเตอร์เซ็กส์ต้องเผชิญ การตีตราในเรื่องเพศเป็นบาดแผลที่เจ็บปวด เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องร้าย ๆ ที่ผ่านเข้ามาแล้วจะผ่านไป แต่เราต้องอยู่กับอคติและร่างกายที่เป็นตัวเราแบบนี้ หากสังคมกีดกันพวกเขาออกไปย่อมสร้างประสบการณ์ที่เลวร้ายให้กับคนที่กำลังต่อสู้อยู่อย่างแน่นอน

เมื่อเรารับรู้ว่า ‘เราแตกต่าง’ ธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการ ‘การยอมรับ’ และรักษาความเป็นพวกพ้อง อาจทำให้พวกเขาต้องสัมผัสกับความโดดเดี่ยวและสิ้นหวังที่ตัวเองไม่ได้เป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ อย่างแท้จริง อีกทั้งในบางสังคมก็มองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาได้ ดังนั้นการสนับสนุนทางจิตใจ (Psychological support) จึงสำคัญมาก รวมถึงในสังคมที่ควรเปิดกว้างและมีการให้ความรู้ในด้านนี้ เพราะถือเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เราเข้าใจและยอมรับความแตกต่างได้ 🌈

เพราะความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ (Human Diversity) นั้นไม่มีขอบเขต ไม่มีใครควรใช้ชีวิตอยู่ด้วยความอับอายหรือต้องกล่าวโทษตัวเองที่เป็นแบบนั้นแบบนี้ เพียงเพราะสังคมมีบรรทัดฐานอีกรูปแบบหนึ่ง อยากให้ทุกคนกลับมาดูแลใส่ใจตนเอง (Self-care) ความรักและการยอมรับจะทำให้เราผ่านประสบการณ์เหล่านี้ไปได้

เวลาที่เราสงสัยในตัวเองหรือไม่แน่ใจกับสิ่งที่เราเผชิญอยู่ ตลอดจนการตัดสินใจในเรื่องที่ยากลำบาก เป็นธรรมดาที่เราจะมองหาความช่วยเหลือ การพึ่งพาคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญ ครอบครัวหรือแพทย์ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและจำเป็นเพื่อให้เขาได้เลือกวางแผนอนาคต ไม่ว่าจะในแง่ของการใช้ชีวิต การรับรู้อัตลักษณ์ของตัวเอง การสร้างตัวตน บุคลิกภาพและพัฒนาการทางเพศ เมื่อเขามีส่วนร่วมก็จะเกิดการยอมรับในตัวตนของตัวเองมากขึ้นด้วย

ความกดดันให้เปลี่ยนแปลงในเรื่องเพศไม่ได้ช่วยอะไร นอกจากทำให้จิตใจของพวกเขาย่ำแย่ลงและยิ่งทรมาน จะกี่ครั้งที่ต้องพูดคุยเรื่องเพศก็เป็นเรื่องอ่อนไหวเสมอ หากเราไม่รู้ทางไหนถูกต้องและเหมาะสม หรือจะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไร สิ่งที่ง่ายที่สุดคือการไม่ตัดสินเขาจากค่านิยมส่วนตัวและอยู่เคียงข้างรับฟังอย่างเข้าใจ หลีกเลี่ยงคำพูดที่ตีตรา ล้อเลียนหรือลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ เพียงเท่านี้ก็สร้างกำลังใจเล็ก ๆ ให้พวกเขาได้แล้ว 🙂

ใครที่กำลังเป็นทุกข์หรือต้องการพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเปิดใจ สามารถเข้ามาปรึกษาอูก้าได้ เรามีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่พร้อมรับฟังทุกเรื่องราวของคุณ หากต้องการหาแนวทางเพื่อดูแลจิตใจคนในครอบครัวก็พูดคุยกับเราได้เช่นกันนะ 💙

#OOCAknowledge #PrideMonth


ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/intersexblog
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca

#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์

อ้างอิงจาก

https://story.motherhood.co.th/intersex/

https://adaymagazine.com/intersex/