“มีคนบอกว่าฉันนิสัยเหมือนกะเทย เพราะฉันตลก” นี่คือประโยคที่เพื่อนมาเล่าให้เราฟัง มันบอกว่าไม่ได้รู้สึกดีหรือไม่ดีกับคำพูดนั้น แต่พวกเรากลับรู้สึกว่าน่าสนใจมากกว่า จนต้องมานั่งคิดกันต่อว่า แล้วตุ๊ดหรือกะเทยต้องมีนิสัยยังไง ? ในเมื่อพวกเขาก็คือมนุษย์ที่มีความหลากหลาย มีนิสัยแตกต่างกันเหมือนกับคนอื่น แต่ทำไมจึงเป็นกลุ่มที่มักถูกมองในลักษณะเหมารวม (Stereotype) แทบจะตลอดเวลา 🙄
ความลำบากใจของเพื่อนที่เป็นตุ๊ด กะเทยหรือ LGBTQ+ ที่เคยได้ฟังมา บ่อยครั้งจะเกี่ยวกับภาพลักษณ์ที่คนยึดติด ยกตัวอย่างเพื่อนคนหนึ่งเป็นคนใจเย็นมาก เรียบร้อยและพูดจาสุภาพ บอกว่าอึดอัดเพราะที่ทำงานชอบบังคับให้ออกไปเต้นหรือโชว์เวลามีงานเลี้ยงหรือทำอะไรตลก ๆ เพียงเพราะว่าเป็น “ตุ๊ด” ทุกคนเลยคิดว่าน่าจะเก่งเรื่องกิจกรรมรื่นเริง แถมหลายคนยังชมในเชิงว่า “เป็นตุ๊ดที่เรียบร้อยจัง ปกติเจอแต่แนวโวยวายเสียงดัง” เพื่อนเราก็สงสัยเช่นกันว่า ทุกคนมีนิสัยแตกต่างกันก็ถูกต้องแล้วไม่ใช่เหรอ ?
ลักษณะนิสัย (traits) ที่แสดงออกก็มาจากบุคลิกภาพ (Personality) หรือตัวตนที่เราสร้างมาตั้งแต่วัยเด็ก Erik Erikson นักจิตวิทยาได้อธิบายทฤษฎีพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ตลอดช่วงชีวิตออกเป็น 8 ขั้น ซึ่งเริ่มพัฒนาตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อเราเจอกับปัญหาหรือความขัดแย้งบางอย่างแล้วสามารถเอาชนะมันได้ก็ถือว่าเราพัฒนาและเติบโตขึ้นไปอีกขั้น เพราะฉะนั้นตัวตนของเรามักเริ่มจากการสร้างความผูกพัน (attachment) ระหว่างเรากับผู้ที่เลี้ยงดู หลอมรวมกับการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกและประสบการณ์ที่ได้รับ
ขั้นที่เด่นชัดว่าเชื่อมโยงกับการสร้างตัวตนก็คือขั้นที่ 2 ตัวของตัวเอง vs ความรู้สึกสงสัยในตัวเอง (Autonomy vs Shame and Doubt) ในวัย 1 ขวบครึ่งถึง 3 ปี พวกเขาจะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง ชอบสำรวจสิ่งต่าง ๆ การเปิดโอกาสให้เด็กได้มีอิสระในการเรียนรู้จึงสำคัญมาก ๆ แต่ถ้าถูกควบคุมมากเกินไปหรือปล่อยปะละเลยก็จะเกิดความสงสัยและละอายในตนเอง 😓
หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นก็จะพัฒนาขั้นที่ 5 ในเรื่องของเอกลักษณ์ vs ความสับสนในบทบาท (Identity vs Role confusion) นั่นคือจุดที่หลายคนเริ่มสงสัยว่า “ฉันเป็นใคร” มีการวาดภาพชีวิตเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเป้าหมายคือค้นหาเอกลักษณ์ของตนเอง เรามีอะไรที่พิเศษแตกต่างจากคนอื่น จุดแข็งและความสามารถของเราจะเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจและทำให้เราเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) แต่ถ้าเราไม่ได้คำตอบก็อาจจะรู้สึกสับสน ว่างเปล่า ไปจนถึงซึมเศร้าได้
สิ่งใดที่ทำแล้วได้รับความรัก การเติมเต็มหรือถูกมองเป็นคนสำคัญ เราก็มีแนวโน้มจะทำสิ่งนั้นมากขึ้น ไม่ต่างอะไรจากการถูกเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) อารมณ์ขัน (Sense of humor) ก็เป็นหนึ่งในนิสัยที่เรามักแสดงออกเพราะเป็นนิสัยส่วนหนึ่ง แต่หากมีคนเสริมแรงเรา เช่น หัวเราะตาม ชอบใจ หรือยอมรับเราในแง่ของความตลก เราก็มีแนวโน้มจะแสดงความตลกออกมาอีกเรื่อย ๆ ฉะนั้นการสร้างตัวตนของตุ๊ด กระเทยหรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็ไม่ได้ต่างกับคนทั่วไปเลย
เราอาจจะกำลังใช้สกีมา (Schemas) กับกลุ่ม LGBTQ+ เพียงเพราะความตลกโปกฮาเป็นนิสัยที่โดดเด่นและภาพจำของคนกลุ่มนี้ โดย ‘สกีมา’ เป็นรูปแบบความคิดที่เกิดจากความคาดหวังของเราเองทั้งนั้น โดยเชื่อว่าหากใครมีพฤติกรรมแบบหนึ่งก็จะมีพฤติกรรมหรือคุณสมบัติบางอย่างควบคู่กันไปด้วย และเมื่อสกีมาถูกนำไปใช้กับคนทั้งกลุ่มก็จะกลายเป็น stereotype นั่นเอง
เหมือนกับที่คนมองว่าเป็นนางงามต้องรักเด็ก เป็นกะเทยต้องตลก ส่วนหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยกว่าจะมาถึงจุดที่เปิดกว้างมากขนาดนี้ก็เพราะสื่อช่วยผลักดันให้เราเห็นหลากหลายแง่มุมของกลุ่มตุ๊ดหรือกะเทย แต่เพราะภาพความตลกที่ถูกนำเสนออยู่บ่อย ๆ ทำให้เราเคยชินกับ ‘สีสัน’ และเสียงหัวเราะที่พวกเขาสร้างเผลอมองข้ามตัวตนที่แท้จริงของพวกเขาไป 🙃
ไม่เพียงแค่นั้น…ความตลกยังถูกนำมาเชื่อมโยงกับความสำเร็จเพราะการนำเสนอภาพความตลกทำให้หลายคนเป็นที่ยอมรับและได้รับความรักมากขึ้น เรามักจะเห็นตุ๊ดหรือกระเทยเป็นจุดศูนย์กลางของงานเลี้ยง เป็นคนสำคัญในกลุ่มเพื่อน หรือเป็นคนมีเอกลักษณ์ในที่ทำงาน แต่เบื้องหลังจริง ๆ คือความสามารถ ความพยายามและตั้งใจไม่แพ้ใคร ปัจจัยด้านอื่น ๆ ก็สำคัญไม่แพ้กันและนิสัยตลกขบขันก็ไม่ใช่คำตอบเดียวของทุกอย่าง
ด้วยภาพในความคิดที่ถูกส่งต่อทำให้เด็กและเยาวชนจำนวนมากมองตุ๊ดหรือกะเทยเป็นต้นแบบ (Model) เพราะเห็นได้ชัดว่าหากอยากเป็นที่ยอมรับ เป็นกลุ่ม LGBTQ+ ที่ประสบความสำเร็จฉันสามารถทำเหมือนเขาได้ หรือถ้าอยากเป็นที่รักของเพื่อน ๆ อยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม (in-group) เราก็ต้องมีความตลกแบบนั้นบ้าง มายาคติเหล่านี้จะไม่มีทางหายไปหากเรายังไม่เข้าใจว่ามนุษย์มีความเป็นปัจเจกบุคคล (Individual) และเราควรจะมองให้ลึกลงไปถึงคุณค่าภายในที่เขามี มากกว่าความเชื่อแบบผิวเผินที่สังคมคิดกันไปเอง
กะเทยต้องสวย ตุ๊ดต้องตลก…หรือมายาคติใด ๆ ก็ตามที่สั่งสมมา หวังว่าวันนี้เราจะได้ฉุกคิดกันเล็กน้อยถึงเรื่องของตัวตนและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เริ่มต้นที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย ให้พื้นที่แก่กันและกัน เพื่อให้ทุกคนได้มีความสุขกับการเป็นตัวของตัวเอง อูก้าขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนมอบความอ่อนโยนให้โลกใบนี้ ถ้าอยากมีเพื่อนที่คอยรับฟังและช่วยดูแลสุขภาพใจ อย่าลืมนึกถึงอูก้าก่อนใครนะ ❤️🧡💛💚💙💜
#OOCAknowledge #ShareWithPride
—————————————————
ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/vtYL
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca
#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์
อ้างอิงจาก
หนังสือจิตวิทยาทั่วไป โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คัคนางค์ มณีศรี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Recent Comments